นายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เผยในการเสวนา เรื่อง “ทิศทางการนำเข้า ปุ๋ย เคมีเกษตร และปัจจัยผลิตทางการเกษตรไทย” ในงานนิทรรศการ “ทศวรรษ แห่งการพัฒนาวิชาการเกษตรไทยและการก้าวไปในทศวรรษที่ 6” โดยกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่าปัจจัยการปลูกพืช เป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับประเทศไทย ปุ๋ยเคมี เป็นสิ่งที่นำเข้าจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ คล้ายคลึงกับประเทศเกษตรกรรมในประเทศที่กำลังพัฒนาทั่วโลก ก็คือ โชคดีที่มีเกษตรกร แต่โชคร้ายก็คือไม่มีปัจจัยการผลิต นับว่าเป็นปัญหาที่สำคัญในการผลิตอาหารเลี้ยงชาวโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการผลิตธัญพืชหรือผักผลไม้ก็ตาม ล้วนแล้วแต่พึ่งพิงปัจจัยการผลิตส่วนใหญ่นำเข้า
สาเหตุที่จำเป็นที่จะต้องใช้สารกำจัดศัตรูพืช และปัจจัยการผลิตอื่นๆ ส่งผลทำให้ความอุดมสมบูรณ์ของดินลดลง นับตั้งแต่ปฎิวัติเขียวมาจนถึงทุกวันนี้ 60 ปี ที่เกษตรกรใช้ที่ดินผืนเดิมสภาพแวดล้อมเดิมในการผลิตอยู่ นับวันความเสื่อมโทรม ธาตุอาหารของดินลดลง มีไม่เพียงพอตามที่พืชต้องการ จึงเป็นเหตุให้เกษตรกรต้องใช้สารเคมีและสารกำจัดศัตรูพืชมากยิ่งขึ้น ส่งผลทำให้ความสมดุลแปรเปลี่ยนไปอีกแบบหนึ่งเพราะฉะนั้นการบริหารจัดการจึงเปลี่ยนไป มาจนถึงยุคปัจจุบันตัวแปรสำคัญที่จะคุมเกมทั้งหมดก็คือ “เอลนีโญ”
“เมืองไทย มีการส่งออกสินค้าเกษตรระดับแสนล้าน ก็คือ "ทุเรียน" รองลงมาเป็น "ข้าว" ซึ่งวันนี้จะเห็นว่าราคาข้าวกำลังราคาดี แต่ภัยแล้งกำลังมาเป็นตัวคุมเกม ขณะที่คนขายปุ๋ยบอกว่าปลายปีที่แล้วสาหัส หนัก ต้นปีดีขึ้น พอนำมาถัวเฉลี่ยกันพออยู่ได้ แต่พอมาวันนี้ทำท่าจะซื้อปุ๋ย แต่คาดการณ์ไม่ถูกแล้วว่าคาดการณ์เดือนตุลาคมไปนี้จะเป็นอย่างไร จะขายข้าวนาปรังได้ไหม ทุเรียนจะอยู่แบบไหน ดังนั้น "เอลนีโญ" จะเป็นตัวคุมเกม”
นายภัสชญภณ กล่าวว่า ทำไมเราผลิตปุ๋ยเองไม่ได้ สาเหตุมี 3 อย่าง 1.ทรัพยากรเราไม่มี 2.นวัตกรรมเราไม่มี 3.ความพร้อมในการลงทุนอาจจะไม่พร้อมเท่าที่ควร เพราะฉะนั้นมองระยะยาวไปเลยว่าต้องนำเข้า ดังนั้นเราจำเป็นที่จะต้องรับสภาพ ปัจจุบันเมื่อไทยเข้าสู่ภาวะเอลนีโญ ซึ่งเป็นตัวคุมเกมส์ของภาคการเกษตรทั้งหมดตั้งแต่ปริมาณน้ำ ผลผลิตต่อไร่ รวมไปถึงการใช้ปัจจัยการผลิต ซึ่งกรมวิชาการเกษตรพร้อมที่จะให้คำปรึกษาในทุกด้านเพื่อให้ภาคการเกษตรของไทยก้าวผ่านปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ไปได้
เมื่อจำเป็นต้องมีนำเข้ากฎหมายจะยึดหลักอยู่ 3 อย่างที่กรมวิชาการเกษตร ได้มาบริหารมาตลอด ในการนำเข้าปุ๋ย วัตถุอันตรายและพันธุ์พืช 1.คือ ยึดหลักวิชาการ 2.ยึดหลักกฎหมาย และ 3 คือหลักบริการ โดยเฉพาะในช่วงหลังสามารถยื่นผ่านอิเล็กทรอนิกส์มีได้แล้ว สะดวกรวดเร็ว แม้แต่การจ่ายเงินใช้สแกนคิวอาร์โค้ดชำระเงินค่าใบรับรองอนุญาตและการขึ้นทะเบียนได้เลย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง