“กรมวิชาการเกษตร” จัดงานยิ่งใหญ่ สถาปนาครบรอบ 50 ปี เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2565 จึงได้จัดทำโครงการเผยแพร่ผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม ผ่านนิทรรศการ “5 ทศวรรษแห่งการพัฒนาวิชาการเกษตรไทย และ การก้าวไปในทศวรรษที่ 6” ขึ้นเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นมาของกรมวิชาการเกษตร และมีส่วนจัดแสดงผลงานวิจัยค้นคว้าที่ประสบความสำเร็จเพื่อถ่ายทอดแนวคิดและประโยชน์ที่ได้รับจากงานวิจัยดังกล่าว ต่อสายตาคนไทยทั่วประเทศและต่างชาติทั่วโลก ระหว่างวันที่ 19-20 สิงหาคม 2566 รวมระยะเวลา 2 วัน ตั้งแต่เวลา 10.30 – 19.30 น. ณ Helix Garden ชั้น 5 ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์ ถ.สุขุมวิท กรุงเทพฯ
ภายในงานนอกจากจะได้พบกับ ส่วนจัดแสดงนิทรรศการ Milestone ประวัติกรมวิชาการเกษตรนิทรรศการโชว์ผลงานวิจัยดีเด่น และการเสวนาบนเวทีจากกูรูด้านเกษตร แล้วนั้น ยังไม่อีกหนึ่งไฮไลต์ สำหรับเกษตรกร และคนทั่วไป ที่ต้องการขายคาร์บอนเครดิต ทำอย่างไร ที่จะมีรายได้เพิ่มขึ้น นอกเหนือจากการขายผลผลิตทางการเกษตรเพียงอย่างเดียว
นายระพีภัทร์ จันทร์ศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เอกสารคู่มือภาคประชาชน “โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (THAILAND VOLUNTARY EMISSION REDUCTION PROGRAM : T-VER) เพื่อขอรับรองคาร์บอนเครดิตภาคเกษตร ได้จัดทำขึ้น เพื่อให้เกษตรกรและประชาชนทั่วไป ใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐาน T-VER ขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เพื่อให้ประชาชนสามารถขอรับรองคาร์บอนเครดิตในพื้นที่การเกษตรของตนเองได้
ทั้งในพืชไร่ และไม้ผลยืนต้นเพื่อสร้างรายได้เพิ่มให้แก่เกษตรกร
นายระพีภัทร์ กล่าวว่า ในคู่มือนี้จะอธิบายอย่างละเอียดที่มาที่ไป ระเบียบเงื่อนไข การเข้าร่วมโครงการ มีวิธีการอย่างไร เพื่อวิเคราะห์ปริมาณคาร์บอนสะสมในดินแล้วมีการคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จนไปถึงการแนะนำให้เกษตรกร ยื่นขอรับรองคาร์บอนเครดิตกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ต่อจากนั้นก็จะกระบวนการซื้อขายคาร์บอน สร้างรายได้เพิ่มให้แก่เกษตรกร นอกเหนือจากการขายผลผลิตเพียงอย่างเดียว
"ในเล่ม ดังกล่าว เกษตรกร หรือ ผู้สนใจประชาชนทั่วไป สามารถสแกนคุณสมบัติความพร้อม เข้าร่วมโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย สามารถมารับคู่มือได้ที่ งานนิทรรศการ “5 ทศวรรษแห่งการพัฒนาวิชาการเกษตรไทย และการก้าวไปในทศวรรษที่ 6” ณ เฮลิกซ์ การ์เด้น ชั้น 5 ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์ กรุงเทพฯ "
สำหรับการจัดงานนิทรรศการครั้งนี้เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นมาของกรมวิชาการเกษตร โดยมีส่วนจัดแสดงผลงานวิจัยค้นคว้าที่ประสบความสำเร็จ เพื่อถ่ายทอดแนวคิดและประโยชน์ที่ได้รับจากงานวิจัยดังกล่าว ต่อสายตาคนไทยทั่วประเทศและต่างชาติทั่วโลก โดยภายในงาน มีการจัดส่วนแสดง แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้
1.ส่วนจัดแสดงนิทรรศการ Milestone ประวัติกรมวิชาการเกษตร เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นมากว่า 5 ทศวรรษ กว่าจะมาเป็นกรมวิชาการเกษตรในปัจจุบัน ในการเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจในการดำเนินงานด้านการค้นคว้าวิจัย และพัฒนาปรับปรุงพันธุ์พืช เครื่องจักรกล และเทคโนโลยีทางการเกษตรด้านต่างๆ เพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิต การพัฒนาผลผลิตทางการเกษตรให้มีคุณภาพและปลอดภัย สำหรับการบริโภคทั้งในและต่างประเทศ และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
2. นิทรรศการโชว์ผลงานวิจัยดีเด่น โดยตลอดระยะเวลากว่า 50 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน โดยกรมวิชาการเกษตรได้มีผลงานวิจัยและเทคโนโลยีมากมายที่จะช่วยให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมถึงเป็นส่วนช่วยให้ภาคการเกษตรไทยได้ต่อยอดในเชิงพาณิชย์ผ่านงานวิจัยต่างๆ ที่จะ ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจมากมาย รวมถึงการการวางมาตรการการแก้ไขปัญหาการส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญของประเทศ
นายระพีภัทร์ กล่าวอีกว่า ในวันพรุ่งนี้ (อาทิตย์ที่ 20 สิงหาคม 2566) เป็นวันสุดท้าย เวลา 14.30 น. มีการเสวนาในหัวข้อ “ทิศทางการนำเข้าปุ๋ย เคมีเกษตร และ ปัจจัยการผลิตทางการเกษตร” โดยมีผู้ร่วมเสวนา ดังนี้ นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร และนายกสมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทย, ดร.ภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร, นางสาววรัญญา บุญวิวัฒน์ นายกสมาคมการค้าผู้ผลิตปุ๋ยไทย, นายจารึก ศรีพุทธชาติ นายกสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร, นายสมศักดิ์ สมานวงศ์ นายกสมาคมอารักขาพืชไทย และนางนงนุช ยกย่องสกุล นายกสมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย (TAITA)
"ขอเชิญชวนทุกท่าน ร่วมเยี่ยมชมนิทรรศการ “5 ทศวรรษแห่งการพัฒนาวิชาการเกษตรไทย และการก้าวไปในทศวรรษที่ 6” และร่วมกิจกรรมสนุกภายในงาน ณ เฮลิกซ์ การ์เด้น ชั้น 5 ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์ ถนนสุขุมวิท กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 19 – 20 สิงหาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 10.30 – 19.30 น. เพื่อร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเกษตรไทยไปพร้อมกัน” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว