ความคิดเกี่ยวกับ การบริโภคแมลง ไม่ใช่เรื่องใหม่ หลายชาติรวมทั้งไทย ถือว่า “แมลง” เป็นส่วนหนึ่งใน วัฒนธรรมการกิน มาเนิ่นนานตั้งแต่โบราณกาล ในประเทศญี่ปุ่นก็เช่นกัน บรรพบุรุษของพวกเขาเติบโตมาจากสังคมเกษตรกร และเมนูท้องถิ่นก็มีแมลงเป็นส่วนประกอบ เป็นสำรับคู่ครัวมายาวนาน เรื่องราวของแมลงบนโต๊ะอาหารอาจจะรางเลือนไปบ้างเมื่อสังคมแปรเปลี่ยนและความเป็นอุตสาหกรรมสมัยใหม่เข้ามาแทนที่ นอกจากจำนวนแมลงที่กินได้จะน้อยลงแล้ว คนรุ่นใหม่ยังไม่ค่อยรู้จักและไม่คุ้นชินกับการกินแมลงอีกด้วย
แต่กระแสการบริโภคแมลงกำลังกลับมา อย่างน้อยก็มีความพยายามของคาเฟ่หลายแห่งในกรุงโตเกียว ที่มุ่งมั่นสร้างสรรค์เมนูอาหารและแม้กระทั่งเมนูเครื่องดื่มจากแมลง เพื่อให้คนญี่ปุ่นรุ่นใหม่ได้ทำความรู้จักและตระหนักว่า แมลงนั้นเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการกินมาเนิ่นนานหลายชั่วอายุคนแล้ว
“ข้าวปั้นหนอนไหม – แกงจิ้งหรีด” ลองป่ะล่ะ
ทาเค-โนโกะ คาเฟ่ (Take-Noko café) เป็นหนึ่งในร้านอาหารรังสรรค์เมนูแมลงที่ว่านี้ โลเกชันร้านตั้งอยู่ในกรุงโตเกียว แนวคิดการตกแต่งรวมทั้งการสร้างสรรค์เมนูสะท้อนความเป็นร้านอาหารแนวคาเฟ่ กินได้ง่ายๆ เก๋ๆ การปรุงไม่ยุ่งยาก ลูกค้าของที่นี่ ส่วนหนึ่งรู้จักรสชาติและเคยบริโภคแมลงมาก่อนแล้ว แต่หลายคนก็ไม่เคยรู้จัก และอยากเปิดประสบการณ์ใหม่ๆในการกิน
ทาคุมิ ยามาโมโตะ พนักงานบริษัทวัย 26 ปีจากจังหวัดเฮียวโงะ เป็นลูกค้าคนหนึ่งของร้านนี้ เขาให้สัมภาษณ์สำนักข่าวรอยเตอร์ว่า โดยส่วนตัวเขามีความสนใจเกี่ยวกับ Entomophagy หรือการบริโภคแมลง อยู่แล้ว เนื่องจากมองว่า แมลงจะกลายมาเป็นอาหารที่มีศักยภาพมากขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับประชากรโลก
ดังนั้น ในการเดินทางมาเยือนกรุงโตเกียวในวันหยุดพักผ่อน เขาจึงเลือกแวะมารับประทานอาหารกลางวันที่ร้านทาเค-โนโกะ คาเฟ่ สั่งเมนูแกงจิ้งหรีดและซาชิมิหนอนไหม มาเป็นจานหลัก แล้วล้างปากด้วยไซเดอร์ หรือน้ำผลไม้แมลงดานา
ยามาโมโตะเล่าว่า ตอนเป็นเด็ก เขาเคยกินตั๊กแตนอบซอสถั่วเหลืองเป็นอาหารว่างมาก่อน ส่วนที่โตเกียว เขาได้ดื่มด่ำกับเมนูอาหารแมลงที่ร้าน ทาเค-โนโกะ คาเฟ่ อยู่บ่อยครั้ง เพราะทางร้านมีเมนูอาหารที่ทำจากแมลงให้เลือกมากมาย
ยามาโมโตะนั่งอยู่บนชั้นสองของคาเฟ่แห่งนี้ ซึ่งตกแต่งให้มีบรรยากาศสบาย ๆ รายล้อมไปด้วยงานศิลปะจากแมลง และ Terrarium หรือการจำลองระบบนิเวศเล็กไว้ในขวดหรือแก้ว ที่มีแมลงปีกแข็ง มด และแมลงสาบอยู่ข้างใน "การได้เลือกรับประทานอาหารที่มีความหลากหลาย เป็นเรื่องสนุกสำหรับผมครับ" ยามาโมโตะย้ำกับนักข่าวรอยเตอร์
ความหวังของชาวโลก
ปัจจุบัน ผู้คนหันมาบริโภคแมลงกันอย่างจริงจังมากขึ้น หลังจากที่ องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ลงความเห็นว่าแมลงเป็นแหล่งโปรตีนที่ยั่งยืนในการเลี้ยงปากเลี้ยงท้องประชากรโลก ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 9,700 ล้านคนภายในปีค.ศ. 2050
นอกจากนี้ ผลกระทบจากอุตสาหกรรมปศุสัตว์ที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ผนวกกับปัญหาความมั่นคงทางด้านอาหารทั่วโลกเนื่องจากสภาพอากาศที่รุนแรงและความขัดแย้งระหว่างประเทศผู้ผลิตอาหาร (เช่นกรณีสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน) ยังทำให้ความสนใจในเรื่องของคุณค่าทางโภชนาการที่แสนประหยัดและมีคุณภาพสูงที่ได้จากแมลง มีเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย
ขณะที่ผู้บริโภคส่วนหนึ่งอาจจะคิดว่า การกินแมลงนั้นเป็นเรื่องน่าขยะแขยง แต่ในหลายประเทศดังที่กล่าวมาแล้ว รวมทั้งญี่ปุ่น เป็นประเทศที่มีประวัติการปรุงอาหารด้วยแมลงมาเป็นเวลายาวนานแล้ว
มิชิโกะ มิอุระ ผู้จัดการร้านทาเค-โนโกะ เล่าให้ฟังว่า เดิมทีตั๊กแตน หนอนไหม และตัวต่อ มักถูกผู้คนจับมากินในภูมิภาคที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล เพราะทั้งเนื้อและปลาเป็นสิ่งที่หาได้ยาก ดังนั้น การกินแมลงจึงเป็นแนวทางปฏิบัติที่เกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤติการขาดแคลนอาหารทั้งในระหว่างและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
เธอกล่าวต่อไปว่า ในช่วงที่ผ่านมา มีการพัฒนาการเลี้ยงจิ้งหรีดและหนอนนก (Mealworms) เพื่อใช้เป็นอาหารจนกิจการพัฒนาก้าวหน้ามากขึ้น ดังนั้น ความเป็นไปได้ในการใช้แมลงประกอบอาหารจึงมีมากขึ้นตามไปด้วยในประเทศญี่ปุ่นยุคปัจจุบัน
หลาย ๆ บริษัท รวมถึงเบเกอรี่แบรนด์ดังระดับประเทศอย่างปาสโก (Pasco) ได้ขายเค้กและขนมที่ทำจากแป้งจิ้งหรีด ส่วนผู้ผลิตอาหารแปรรูป นิชิเร (Nichirei) และบริษัทโทรคมนาคม Nippon Telegraph and Telephone ก็ได้ลงทุนในธุรกิจเกี่ยวกับแมลงในขวบปีที่ผ่านมา
"แมลง" เริ่มกลายเป็นกระแสที่ได้รับความสนใจในสื่อญี่ปุ่นเมื่อเร็ว ๆ นี้ หลังจากมีรายงานว่า มีการใช้ผงแมลงในเมนูอาหารกลางวันและของว่างในโรงเรียน
กระแสความนิยมในการกินแมลงทำให้ร้านทาเค-โนโกะ มักจะถูกจองจนเต็มในช่วงสุดสัปดาห์ โดยเมนูแกงของทางร้านจะใช้จิ้งหรีดมาทำเป็นลูกชิ้น และใช้โรยหน้าแบบแห้ง นอกจากนี้ ยังมี "ซาซิมิ" ที่ทำมาจากรังไหม และไซเดอร์ที่ผสมสารสกัดจากแมลงดานา และโปะหน้าด้วยแมลงทั้งตัว ซึ่งว่ากันว่ามีรสชาติเหมือนกับกุ้งเลยทีเดียว
ร้านอาหารแห่งนี้ เป็นความคิดของทาเคโอะ ไซโต ผู้ก่อตั้งบริษัททาเคโอะ อิงค์ (Takeo Inc) โดยใช้ชื่อของเขาเองตั้งเป็นชื่อร้านเมื่อ 9 ปีที่แล้ว และได้ขยายธุรกิจจนครอบคลุมไปถึงธุรกิจอาหารบรรจุหีบห่อที่มีเมนูแมลงมากกว่า 60 ชนิด ตั้งแต่แมงป่องไปจนถึงแมงมุมยักษ์
“เป้าหมายของเราไม่ใช่การแยกเมนูแมลงออกจากอาหารอื่น ๆ แต่ต้องการให้ผู้คนได้เพลิดเพลินกับการกินแมลงร่วมกับอาหารอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น ผัก ปลา หรือเนื้อบนโต๊ะอาหาร” ไซโตกล่าว และเขาก็คาดหวังว่า ผู้คนจะหันมาทำความคุ้นเคยกับการบริโภคแมลงกันมากขึ้น
ข้อมูลอ้างอิง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง