ttb เข้มหนุนลด CO2 งดปล่อยสินเชื่อ โครงการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

02 ส.ค. 2566 | 17:46 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ส.ค. 2566 | 18:01 น.

ทีเอ็มบีธนชาต หนุนเป้าหมาย Net Zero ประกาศชัดไม่ปล่อยสินเชื่อให้โครงการที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และจำกัดสัดส่วนการปล่อยสินเชื่อแก่กลุ่มธุรกิจน้ำมัน และก๊าซประเภทต้นน้ำและปลายน้ำไว้ไม่เกิน 10% ของพอร์ต ดันสินเชื่อสีเขียวรองรับปีนี้กว่า 9 พันล้านบาท

ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ttb ถือเป็นหนึ่งในธนาคารที่นำการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มาขับเคลื่อนธุรกิจ ภายใต้การพัฒนาความยั่งยืน (Sustainable Banking) โดยกำหนดกลยุทธ์ที่จะสนับสนุนความมุ่งมั่นของประเทศไทย ให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี พ.ศ.2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ.2608 โดยการขยายพอร์ตสินทรัพย์สีเขียว ที่จะช่วยเร่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-zero Economy) ผ่านโซลูชั่นทางการเงินที่ยั่งยืน ควบคู่ไปกับการคิดค้นผลิตภัณฑ์และบริการที่ยั่งยืนใหม่ ๆ เพื่อช่วยบุคคลและบริษัทต่าง ๆ ในการลดรอยเท้าคาร์บอน

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด  (มหาชน) หรือ ttb กล่าวว่า ธนาคารตระหนักถึงความเสี่ยงและผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้นำแนวทางการธนาคารเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Banking) มาเป็นรากฐานการวางกลยุทธ์ทั่วทั้งองค์กร และให้ความสำคัญในการลงมือทำมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความยั่งยืนไปในทุกกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) ของธนาคาร

ในเส้นทางการดำเนินงาน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายปล่อยคาร์บอนจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเหลือศูนย์ (decarbonization) ได้มุ่งเน้นไปที่อุตสาหกรรมในพอร์ตของธนาคารที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด และตามกิจกรรมที่ส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Taxonomy ) ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)กำหนด โดยได้เสนอสินเชื่อ ESG ให้กับลูกค้าในรูปแบบของพันธบัตรสีเขียว เพื่อสนับสนุนโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ โครงการพลังงานชีวภาพ และโครงการการจัดการของเสีย รวมทั้งสินเชื่อที่ส่งเสริมความยั่งยืน

ขณะเดียวกันจะลดสินเชื่อธุรกิจทรายนํ้ามัน ลดสินเชื่อกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำเหมืองและการสำรวจถ่านหิน ที่ได้รับการอนุมัติไปแล้วก่อนหน้าให้เป็นศูนย์ภายในปี 2571 ซึ่งในปี 2565 ที่ผ่านมาการให้สินเชื่อโครงการสํารวจและการทําเหมืองถ่านหินลดลง 31% เมื่อเปรียบเทียบกับเส้นฐานปี 2564

รวมทั้งจะลดการให้สินเชื่อโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ได้รับการอนุมัติไปแล้ว ให้เป็นศูนย์ภายในปี 2571 ซึ่งในปี 2565 การให้สินเชื่อโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินลดลง 38% เมื่อเปรียบเทียบกับเส้นฐานปี 2563 และในปีนี้จะงดการให้สินเชื่ออุตสาหกรรมยาสูบ โดยเริ่มจากผู้ผลิตยาสูบแต่ยังไม่รวมถึงห่วงโซ่คุณค่าทั้งหมดของอุตสาหกรรมยาสูบ

ttb เข้มหนุนลด CO2 งดปล่อยสินเชื่อ โครงการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

“ธนาคารจะไม่ให้การสนับสนุนทางการเงินหรือลงทุนในกิจกรรมที่เกี่ยวกับการทำเหมืองถ่านหิน การสำรวจถ่านหิน โครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวกับถ่านหินและโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยสินเชื่อสำหรับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับถ่านหินที่ได้รับการอนุมัติไปแล้วจะสิ้นสุดลงภายในปี 2571”

อีกทั้งจะจำกัดสัดส่วนการปล่อยสินเชื่อแก่กลุ่มธุรกิจนํ้ามัน และก๊าซประเภทต้นนํ้าและปลายนํ้าไว้ไม่เกิน 10% ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมดขององค์กร พร้อมกับการดำเนินธุรกิจของธนาคารผ่านโครงการที่หลากหลายเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อม และเพื่อส่งเสริมให้พนักงานทุกคนลดการบริโภคพลังงานและทรัพยากรภายในองค์กร โดยมีเป้าหมายระยะยาวในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ขอบเขตที่1 และ 2) ลง 15% ภายในปี พ.ศ. 2569 จากปีฐานในปี พ.ศ. 2562 และมีเป้าหมายในการลดรายปีที่ 10% จากปีฐานเดียวกัน

“ในปี 2565 ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดจากโครงการที่ได้รับการสนับสนุนเงินทุน (Total Financed Absolute Emissions) และความเข้มข้นในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Financed Emission Intensity) ของภาคพลังงาน ซึ่งรวมถึงธุรกิจนํ้ามันและก๊าซ ถ่านหิน และการผลิตไฟฟ้าในประเทศไทย เท่ากับ 2.36 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และ 0.0003 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อบาท ตามลำดับ คิดเป็น 0.02% ของสินเชื่อธุรกิจคงเหลือ”

นายปิติ กล่าวเสริมอีกว่า หลักคิดของ ttb คือการสร้างความตระหนักรู้ และกระตุ้นให้คู่ค้าและพันธมิตรของ ธนาคารลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ หากปล่อยปริมาณมากจะทำลายสิ่งแวดล้อม และหากไม่ปรับปรุง จะทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง เนื่องจากกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น ทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา

“กติกาโลกที่เกิดขึ้น ทำให้องค์กรขนาดใหญ่เริ่มปรับตัว แต่บริษัทขนาดกลาง และขนาดเล็ก ถ้ายังทำแบบเดิม ไม่ปรับตัว จะส่งออกไม่ได้ และตรงนี้เป็นหน้าที่ของ ttb ถ้าทำให้ผู้ประกอบการประสบความสำเร็จ ก็จะช่วยให้ ttb เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้โลกอยู่ได้”

ดังนั้น ttb จึงมีเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืน (Climate Finance) ชัดเจน และจะอนุมัติสินเชื่อสีเขียวและสีฟ้าเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี 2566 นี้ มีเป้าหมายปล่อยสินเชื่อสีเขียว มากกว่า 9,000 ล้านบาท จากปี 2565 ปล่อยสินเชื่อไปแล้วกว่า 13,110 ล้านบาท จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 4,500 ล้านบาท โดยในปี 2565 ที่ผ่านมาธนาคารได้ออกหุ้นกู้เพื่อสิ่งแวดล้อม (green bond) มูลค่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อรองรับการขยายสินเชื่อให้กับลูกค้าที่ต้องการเลือกใช้รถยนต์ไฟฟ้า( EV) จากปีที่ผ่านมาได้ปล่อยสินเชื่อรถยนต์ไฟฟ้า( EV) ราว 6,500 ล้านบาท และออกหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืนทางทะเล (blue bond) มูลค่า 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อนำเงินทุนไปสนับสนุนลูกค้าธุรกิจผ่านสินเชื่อสีเขียวและสีฟ้าเพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์ทะเลชายฝั่ง และทรัพยากรนํ้า