“แบงก์รัฐ”รุกสินเชื่อ BCG ดอกเบี้ย ต่ำสุด 1.99%

23 มิ.ย. 2566 | 12:13 น.
อัปเดตล่าสุด :23 มิ.ย. 2566 | 12:13 น.
594

แบงก์รัฐ รุกสินเชื่อเคลื่อนโมเดล BCG สร้างเศรษฐกิจสีเขียว ครอบคลุมทั้งลงทุนพลังงานทดแทน ติดตั้งแผงโซลาร์ EV Charger เกษตรอินทรีย์ หลังรัฐบาลประกาศปี 2564-2569 เป็นวาระแห่งชาติ หวังเพิ่มจีดีพี 1 ล้านล้านบาทใน 6 ปี

หลังรัฐบาลกำหนดแผนยุทธศาสตร์โมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ.2564-2569 เป็น “วาระแห่งชาติ” หวังเพิ่มจีดีพี อีก 1 ล้านล้านบาทใน 6 ปีข้างหน้า สถาบันการเงินเฉพาะของรัฐ (SFIs)หรือ แบงก์รัฐ ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์สินเชื่อ เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการและประชาชน ปรับปรุงธุรกิจไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว สร้างความยั่งยืนในอนาคต

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสินเปิดเผยว่า ออมสินสนับสนุนโมเดลเศรษฐกิจ BCG ผ่านการออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมคือ สินเชื่อ “GSB Green Biz” โดยคิดดอกเบี้ย 3.995% ต่อปี (คงที่ 2 ปีแรก) ผ่อนนาน 10 ปี และไม่จำกัดวงเงินกู้ เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการ ลงทุนในทรัพย์สินถาวร เพื่อลงทุนด้านพลังงานทดแทนหรือรีไฟแนนซ์

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน

ขณะที่ผู้ประกอบการที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียน เพื่อทำธุรกิจตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG สามารถใช้สินเชื่อ GSB for BCG Economy ได้เช่นกัน โดยผู้กู้ที่เป็นนิติบุคคล ไม่จำกัดวงเงิน ส่วนบุคคลธรรมดาให้วงเงินกู้ตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น MOR/MLR -1.50% ต่อปี

นอกจากนั้น ยังมีสินเชื่อสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนสำหรับรายย่อย ผ่านสินเชื่อ GSB Go Green เพื่อติดตั้งแผงโซลาร์ หรือติดตั้ง EV Charger สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า กรณีไม่มีหลักประกันให้กู้ไม่เกิน 10 เท่าของรายได้รวม สูงสุดไม่เกินรายละ 500,000 บาท ชำระเงินกู้ไม่เกิน 7 ปี ดอกเบี้ยคงที่ต่ำสุด 7.99% และเงินงวดผ่อนต่ำแสนละ 799 บาทต่อเดือน นาน 3 เดือนแรก

“แบงก์รัฐ”รุกสินเชื่อ BCG ดอกเบี้ย ต่ำสุด 1.99%

หากใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน ได้แก่ บ้านพร้อมที่ดิน คอนโด ที่ดินเปล่า ให้กู้สูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาท ผ่อนชำระไม่เกิน 30 ปี ดอกเบี้ยคงที่ต่ำสุด 1.99% และเงินงวดผ่อนต่ำแสนละ 199 บาทต่อเดือน นาน 3 เดือนแรก

ด้านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ระบุว่า ธ.ก.ส.สนับสนุนเศรษฐกิจ BCG อย่างต่อเนื่อง ทั้งการให้ความรู้เกษตรกร การระดมทุนผ่านกรีนบอนด์และยังสนับสนุนสินเชื่อสีเขียว (Green Credit) เพื่อสนับสนุนการทำเกษตรอินทรีย์หรือการผลิตอาหารปลอดภัย (Food Safety) ส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกหรือพลังงานสะอาด รวมถึงอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

สำหรับเกษตรกรรายบุคคล คิดดอกเบี้ย MRR -1% ต่อปี ขณะที่นิติบุคคล กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกรหรือสหกรณ์การเกษตร คิดดอกเบี้ย MLR -0.5% ต่อปี กรณีกู้เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายหมุนเวียน ชำระคืนไม่เกิน 18 เดือน และกรณีกู้เพื่อลงทุนภายใน 15 ปี

นายพชร อนันตศิลป์ ประธานคณะกรรมการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)กล่าวว่า ปี 2566-2570 ธอส.เดินหน้าสู่การเป็นธนาคารเพื่อความยั่งยืน โดยจะให้น้ำหนักไปยังการปล่อยสินเชื่อเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งปีนี้ธอส.มีสินเชื่อเพื่อรองรับความยั่งยืนหรือเพื่อสิ่งแวดล้อม 2 โครงการคือ โครงการสินเชื่อบ้านอยู่เย็นเป็นสุข สำหรับซื้อหรือปลูกสร้างบ้านที่มีระบบพลังงานทดแทน ดอกเบี้ยปีแรกเพียง 2.65% กรอบวงเงินรวม 1 หมื่นล้านบาท

นายพชร อนันตศิลป์ ประธานคณะกรรมการธนาคารอาคารสงเคราะห์

อีกโครงการคือ สินเชื่อเพื่ออาคารคาร์บอนต่ำ สำหรับผู้ประกอบการในการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยประหยัดพลังงานที่ใช้วัสดุก่อสร้างที่ใช้เครื่องหมายรับรองฉลากลดโลกร้อนหรือ เลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดอกเบี้ยปีที่ 1-2 เท่ากับ MLR-3.76% หรือ เท่ากับ 2.74%ต่อปี กรอบวงเงินรวม 1,000 ล้านบาท

ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) รายงานว่า EXIM BANK มีบริการ “สินเชื่อ EXIM Green Start” สำหรับธุรกิจที่ใส่ใจลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม วงเงินหมุนเวียนสูงสุด 200 ล้านบาทต่อราย ระยะเวลากู้สูงสุด 3 ปี ดอกเบี้ยเริ่มต้น Prime Rate -2.25% ต่อปีหรือประมาณ 4.25% ต่อปี ต่ำกว่าดอกเบี้ยธุรกิจทั่วไป เพื่อเสริมสภาพคล่องธุรกิจไทยและให้เอสเอ็มอีมีความพร้อมที่จะพัฒนากระบวนการผลิตสินค้าและบริการที่ขับเคลื่อนประเทศไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนตามนโยบาย BCG ของรัฐบาล

นายโมกุล โปษยะพิสิษฐ์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank) กล่าวว่า SME D Bank สนับสนุนผู้ประกอบการเพื่อพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน ผ่านโครงการสินเชื่อธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” หรือ “BCG Loan” วงเงินกู้สูงสุด 50 ล้านบาท ดอกเบี้ยต่ำ 4.25% เพื่อช่วยให้เอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อในต้นทุนการเงินที่ต่ำ ช่วยลดภาระ สามารถปรับตัว นำ BCG Model ไปพัฒนายกระดับธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน

นายโมกุล โปษยะพิสิษฐ์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย

“สินเชื่อ BCG Loan มีกรอบวงเงิน 10,000 ล้านบาท หลังดำเนินการมา 4-5 เดือน สามารถปล่อยสินเชื่อได้แล้ว 4,000 ล้านบาท ช่วยเหลือผู้ประกอบการกว่า 500 ราย ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจด้านอาหาร เกษตรกรและด้านพลังงานชีวภาพ แสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการเริ่มให้ความสำคัญกับ BCG และคาดว่าภายในปี 2566 แบงก์จะอนุมัติสินเชื่อเต็มวงเงิน” นายโมกุล กล่าว

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,899 วันที่ 25 - 28 มิถุนายน พ.ศ. 2566