‘Solar Cell’ for Life ภารกิจคืนแสงสว่าง CP LAND

01 ส.ค. 2566 | 19:21 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ส.ค. 2566 | 19:32 น.

“CP LAND” คิกออฟโปรเจ็กต์นำร่อง “การคืนแสงสว่างให้กับชุมชน” ด้วยพลังงานสะอาด 100% ภายใต้โครงการ “Solar Cell for Life ความสุขเดินทางได้” ในพื้นที่ คีรีวง จ. นครศรีธรรมราช

“จักรพันธ์ ปิยะพฤกษพรรณ” ผู้อำนวยการบริหาร บริษัท ซี.พี. แลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ CP LAND และ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซี.พี. ฟาซิลิตี้ แมเนจเม้นท์ จำกัด หรือ CPFM ย้อนที่มาของจุดเริ่มต้นของโปรเจ็กต์นี้ว่า CP LAND ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ หนึ่งในความตั้งใจคืนสิ่งดีๆและคืนความยั่งยืนให้สังคมรวมถึงสร้างคุณค่าให้กับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียไม่ว่าจะเป็น ลูกค้า ลูกบ้าน พันธมิตรคู่ค้า รวมถึงชุมชนใกล้เคียง และสังคมภายใต้ปรัชญา Accessible Communities For Life หรือ คุณภาพเพื่อทุกชีวิต

‘Solar Cell’ for Life ภารกิจคืนแสงสว่าง CP LAND

สำหรับ Solar Cell for Life เป็นโครงการนำร่องเพื่อพัฒนาชุมชนห่างไกลที่ยังไม่มีไฟฟ้าแสงสว่างและมีความลำบากในหลายๆ พื้นที่ของประเทศไทย ซึ่งชุมชนบ้านคีรีวง ส่วนหนึ่งของต.กำโลน อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช พื้นที่เกษตรกรรมที่แม้ว่าไฟฟ้าจะเข้าถึงแต่หลายเส้นทาง หลายพื้นที่ยังมืดมิดไม่มีความสว่าง CP LAND จึงพัฒนานวัตกรรมเสาไฟแสงสว่างจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งมาจากพลังงานสะอาดเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 100% เข้ามาทำให้ชาวบ้านในพื้นที่มีความสะดวกสบายมากขึ้น

 

โคมแสงสว่างที่ CP LAND ออกแบบมาเป็นนวัตกรรมที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ เพื่อให้สอดรับกับลักษณะพื้นที่ที่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งในบางครั้งมีอุทกภัยเกิดขึ้น และ “จะทำอย่างไรให้เสาไฟไม่โดนน้ำ” ทีมวิศวกรจึงนำยางรถยนต์ที่ไม่ใช้แล้วมาประดิษฐ์เป็นฐานสำหรับติดตั้ง พร้อมกับสำรวจทางวิศวกรรมเพื่อคำนวณระยะทางที่เหมาะสมในการติดตั้งเพื่อให้แสงสว่างครอบคลุมเส้นทางทั้งหมด

‘Solar Cell’ for Life ภารกิจคืนแสงสว่าง CP LAND

โดยโครงการนี้ใช้เสาไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ทั้ง 80 ต้นระยะทางราวๆ 5 กิโลเมตร และใช้เม็ดเงินลงทุนทั้งโครงการประมาณ1.5 ล้านบาท

“ข้อจำกัดของคีรีวงคือ เป็นเส้นทางที่ลาดชันขึ้นไปบนภูเขา เพราะฉะนั้นตำแหน่งในการติดตั้งเพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะต้องเลือกพื้นที่โล่งแจ้ง เพราะฉะนั้นจุดที่วางเสาจะต้องมีระยะทางมาตรฐานไม่เกิน 100 เมตรโดยค่าเฉลี่ยเพื่อให้แสงสว่างส่องได้และทุกจุดที่วางจะเป็นเส้นทางหลักของการขนส่งผลไม้ลงมาจากสวนครอบคลุมพื้นที่ 6 หมู่บ้านเพื่อกระจายแสงสว่างให้ทั่วถึงกัน ตอนนี้เราดำเนินการติดตั้งครบ 100% ครอบคลุมทุกพื้นที่เป้าหมายภายใน 45 วันจากความร่วมมือของชุมชน เร็วกว่าเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ว่าจะแล้วเสร็จใน 2 เดือนครึ่ง”

 

ชุมชนคีรีวง ถือเป็นต้นแบบ “Solar Cell for Life ความสุขเดินทางได้” และ CP LAND ยังคาดหวังว่าจะสามารถขยายผลไปในจังหวัดหรือชุมชนที่ขาดแคลนไฟฟ้าในที่อื่นๆ ด้วย

 

หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,910 วันที่ 3 - 5 สิงหาคม พ.ศ. 2566