zero-carbon

พลังงานดันนวัตกรรมพลังานทดแทนหนุนวิสาหกิจชุมชนเพิ่มมูลค่าสินค้า

    พลังงานดันนวัตกรรมพลังานทดแทนหนุนวิสาหกิจชุมชนเพิ่มมูลค่าสินค้า มุ่งลดต้นทุน และหนุนการพัฒนานครปฐมให้เป็นเมืองอัจฉริยะที่มีความโดดเด่นด้านการแปรรูปด้วยเทคโนโลยี รับการท่องเที่ยวเชิงอาหาร วัฒนธรรม

นายสมภพ พัฒนอริยางกูล ผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานได้ดำเนินการพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานเพื่อนำไปใช้กับกิจการของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน โดยเฉพาะเทคโนโลยีด้านพลังงานทดแทนซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการประกอบอาชีพของกลุ่มวิสาหกิจ 

โดยจะมีส่วนช่วยในการลดต้นทุนคุณภาพด้านอนามัย พัฒนาต่อยอดให้ผลิตภัณฑ์และบริการของกลุ่มวิสาหกิจและเครือข่ายได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชุมชนไปได้ท่ามกลางความผันผวนด้านราคาพลังงานที่ยังคงเกิดขึ้น

ทั้งนี้ ที่วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรมหาสวัสดิ์ ซึ่งผลิตผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสินค้าเกษตร อาทิ ข้าวตัง ข้าวแต๋น กล้วยตาก มะม่วงกวน โดยกระทรวงพลังงานได้สนับสนุนระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบเคลื่อนที่เพื่อใช้ในโครงการต่างๆ ได้แก่ 

  • โครงการเพิ่มสมรรถนะด้านการบริหารและจัดการพลังงานครบวงจรในชุมชนระดับตำบลและเครือข่ายพลังงานชุมชน ประจำปี 2565 จำนวน 4 ระบบ เพื่อให้ความรู้และตระหนักถึงคุณค่าด้านพลังงาน เป็นแบบอย่างที่ดีอันจะนำไปสู่การพัฒนาชุมชน โดยการส่งเสริมสนับสนุนและส่งมอบเทคโนโลยีอุปกรณ์ในการลดใช้พลังงานและเพิ่มการใช้พลังงานทดแทนกับกลุ่มเป้าหมายได้ใช้งาน 
  • โครงการพัฒนานครปฐมให้เป็นเมืองอัจฉริยะ ที่มีอัตลักษณ์ด้านแปรรูปด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี รองรับการท่องเที่ยวเชิงอาหารและวัฒนธรรม จำนวน 2 ระบบ เพื่อส่งเสริมให้มีการนำเทคโนโลยีพลังงานทดแทนมาใช้ในการเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร ให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหรือกลุ่มเกษตรกร โดยใช้เทคโนโลยีอบแห้งด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ และเพื่อลดต้นทุนด้านพลังงาน ในการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร

พลังงานดันนวัตกรรมพลังานทดแทนหนุนวิสาหกิจชุมชนเพิ่มมูลค่าสินค้า

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนนาบัวมหาสวัสดิ์ ซึ่งเป็นกลุ่มผลิตชาเกสรดอกบัว กล้วยตาก และมีร้านอาหารสำหรับนั่งรับประทาน กระทรวงพลังงานสนับสนุนการใช้ระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบเคลื่อนที่จำนวน 2 ระบบ ให้กับโครงการพัฒนานครปฐมให้เป็นเมืองอัจฉริยะ 

ซึ่งเป็นงบพัฒนาจังหวัด ปี 2566 จังหวัดนครปฐมที่มีอัตลักษณ์ด้านแปรรูปด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี รองรับการท่องเที่ยวเชิงอาหารและวัฒนธรรม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการส่งเสริมให้มีการนำเทคโนโลยีพลังงานทดแทนมาใช้ในการเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร ให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหรือกลุ่มเกษตรกร 

โดยใช้เทคโนโลยีอบแห้งด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ลดต้นทุนด้านพลังงานในการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ช่วยลดระยะเวลาการตากเกสรบัวจากเดิม 8 ชั่วโมงเป็น 4 ชั่วโมง ช่วยในการถนอมอาหารและตากผลผลิตอื่นๆ อาทิ มะม่วงกวน กล้วยตาก ดอกบัวแห้ง และต่อยอดไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น ชาจากกลีบบัว ชาจากใบบัว เป็นต้น 

พลังงานดันนวัตกรรมพลังานทดแทนหนุนวิสาหกิจชุมชนเพิ่มมูลค่าสินค้า

นายทรรศชล พุทธรัตนา พลังงานจังหวัดนครปฐม กล่าวเพิ่มเติมว่า ในภาพรวมกระทรวงพลังงานได้ให้การสนับสนุนเทคโนโลยีด้านพลังงานในจังหวัดนครปฐมในหลาย ด้าน ได้แก่ ระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาด 2 x 2 เมตร 134 ตู้ 

,ระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาด 3 x 4 เมตร 4 ระบบ ,ระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาด 6 x 8.20 เมตร 4 ระบบ ,เตาเผาถ่านผลิตน้ำส้มควันไม้ ขนาด 200 ลิตร 10 ชุด 

,รถสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เคลื่อนที่ ขนาด 300 วัตต์ 3 ระบบ ,รถสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เคลื่อนที่ ขนาดไม่น้อยกว่า 1,000 วัตต์ 11 ระบบ ,รถสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เคลื่อนที่ ขนาดไม่น้อยกว่า 3,060 วัตต์ 1 ระบบ ,ชุดครอบเตาแก๊สประสิทธิภาพสูง 6 ชุด 

และระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาดไม่น้อยกว่า 10 กิโลวัตต์ 4 ระบบ รวมทั้งหลอดไฟ LED 5,498 หลอด