food-security

ความอร่อยนอกโลก! นาซาปลูกผักในวงโคจร-พัฒนาเมนูใหม่เสิร์ฟนักบินอวกาศ

    องค์การนาซาพยายามคิดค้นเมนูหลากหลายเพื่อเอาใจเหล่านักบินอวกาศ ที่จะเป็นตัวแทนของมวลมนุษยชาติในการทำภารกิจสำคัญในสภาวะไร้น้ำหนักได้ โดยไม่ไร้รสชาติ พวกเขาทดลองแม้กระทั่งการปลูกพืชผักในอวกาศ

 

ย้อนอดีตไปราวปี 2015 ในภาพยนตร์ Sci-Fi เรื่อง "The Martian" ที่มีพระเอกหนุ่มแมตต์ เดมอน รับบทเป็น นักบินอวกาศ ที่รอดชีวิตมาได้ ด้วยการอาศัยกิน มันฝรั่งที่ปลูกในอวกาศ ระหว่างที่เขาถูกทิ้งไว้บนดาวอังคาร

ตัดฉากมาในปัจจุบัน องค์การนาซา (NASA) หรือในชื่อเต็มว่า องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ มีแผนการ ปลูกพืชผักในวงโคจร โดยมุ่งหวังผลิตพืชผักเหล่านี้ให้เป็นอาหารแบบใหม่ที่น่ารับประทานมากขึ้น และจะมีคุณค่าทางโภชนาการมากกว่ามันฝรั่งที่ใส่ปุ๋ยอินทรีย์จากมูลและของเสียจากมนุษย์เหมือนอย่างในภาพยนตร์ "The Martian"

ทีมนักวิจัยของสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station) หรือ ISS ที่เปรียบประดุจห้องปฏิบัติการลอยฟ้าที่โคจรรอบโลก ณ ระยะสูง 410 กิโลเมตร และเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 27,744 กิโลเมตร/ชั่วโมง ยังได้ทดลองปลูกผักหลากหลายชนิดในวงโคจร เช่น ผักกาดหอม กะหล่ำปลี คะน้า และพริก

การทดลองปลูกผักในสถานีอวกาศนานาชาติ ISS (ภาพจากนาซา)

และเพื่อให้อาหารในอวกาศซึ่งส่วนใหญ่เป็นของทำสำเร็จรูปนำขึ้นไปจากพื้นโลก ไม่จืดชืดไร้รสชาติจนเกินไป นาซากำลังมีแผนร่วมมือกับบริษัทแห่งหนึ่งในมหานครนิวยอร์กที่ผลิตเชื้อเพลิงการบินที่ปล่อยคาร์บอนเป็นลบ พวกเขากำลังจะเปลี่ยนแปลงเมนูอาหารสำหรับการเดินทางไปในห้วงอวกาศ ให้เป็นรูปแบบที่แตกต่างไปจากเดิมเป็นอย่างมาก

นวัตกรรมของบริษัทที่มีชื่อว่า แอร์ คอมปานี (Air Company) จากเมืองบรุคลิน ได้ผ่านเข้ารอบสุดท้ายของ การประกวด Deep Space Food Challenge ซึ่งเป็นการประกวดนวัตกรรมอาหารสำหรับนักบินอวกาศ ที่จัดโดยองค์การนาซา พวกเขาจึงได้รับการสนับสนุน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีแห่งอนาคตเพื่อตอบสนองความต้องการด้านอาหารของนักบินอวกาศ

  • บริษัทดังกล่าวได้บุกเบิกวิธีการรีไซเคิลก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่นักบินอวกาศหายใจออกมาขณะที่บินอยู่ เพื่อเพาะเลี้ยงสารอาหารจากยีสต์สำหรับ “โปรตีนเชค” ที่ออกแบบมาเพื่อบำรุงลูกเรือในขณะปฏิบัติภารกิจในห้วงอวกาศที่มีระยะเวลายาวนาน
  • สแตฟฟอร์ด ชีฮาน ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทและหน้าฝ่ายเทคโนโลยีของแอร์ คอมปานี ยืนยันว่า เมนูนี้มีคุณค่าทางโภชนาการมากกว่า Tang เครื่องดื่มชนิดผงซึ่งเป็นที่นิยมในปี 1962 หลังจากจอห์น เกล็น ชาวคนอเมริกันคนแรกที่โคจรรอบโลกได้ดื่มในภารกิจดังกล่าว อย่างแน่นอน

การรับประทานอาหารในห้วงอวกาศจะมีทั้งคุณค่าทางโภชนาการ และไม่จืดชืดไร้รสชาติอีกต่อไป

  • ชีฮาน ซึ่งจบปริญญาเอกด้านเคมีเชิงฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยเยล เปิดเผยว่า เดิมทีเขาเคยพัฒนาเทคโนโลยีการแปลงคาร์บอนเพื่อผลิตแอลกอฮอล์ที่มีความบริสุทธิ์สูงสำหรับเชื้อเพลิงอากาศยาน น้ำหอม และวอดก้า แต่โครงการ Deep Space Food Challenge ที่ได้รับการสนับสนุนโดยนาซา กระตุ้นให้เขาดัดแปลงสิ่งประดิษฐ์ของเขาเพื่อการผลิตโปรตีน คาร์โบไฮเดรต และไขมันที่กินได้จากระบบเดียวกัน
  • ชีฮานกล่าวว่าเครื่องดื่มโปรตีนเซลล์เดียวที่เข้าร่วมการประกวดของนาซา มีลักษณะเดียวกันกับเวย์โปรตีนเชค ซึ่งเขาเปรียบเทียบรสชาติของมันกับเซตัน (Seitan) อาหารคล้ายเต้าหู้ที่ทำจากกลูเตนข้าวสาลี เป็นเมนูที่มีต้นกำเนิดมาจากเอเชียตะวันออก ซึ่งผู้รับประทานมังสวิรัตินำเซตันมาใช้แทนเนื้อสัตว์
  • นอกเหนือจากเครื่องดื่มโปรตีนแล้ว กระบวนการเดียวกันนี้ ยังสามารถนำมาใช้เพื่อสร้างอาหารทดแทนขนมปัง พาสตา และแป้งตอร์ตียาที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง ได้อีกด้วย

ผู้ชนะการประกวดของนาซาอีกราย คือ บริษัทเทคโนโลยี “แอร์เมด” (AIRMADE) เป็นหนึ่งในแปดผู้ชนะที่ผ่านการแข่งขันรอบที่สองของการออกแบบเทคโนโลยีอาหารที่นาซาประกาศในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา พร้อมกับเงินรางวัล 750,000 ดอลลาร์ ส่วนการแข่งขันรอบสุดท้ายกำลังจะมีขึ้นเร็ว ๆ นี้ โดยเงินรางวัลสูงถึง 1.5 ล้านดอลลาร์จะถูกแบ่งให้กับผู้ชนะรอบสุดท้ายของการแข่งขัน

สำหรับผลงานการประกวดอื่นๆ ที่ได้รับรางวัลนั้น ล้วนเป็นนวัตกรรมที่น่าตื่นตื่นใจ อาทิ

  • ระบบไบโอรีเจนเนอเรทีฟจากห้องทดลองในฟลอริดาเพื่อการเลี้ยงผักสด เห็ด และแม้แต่ตัวอ่อนแมลงเพื่อใช้เป็นสารอาหารรอง
  • กระบวนการสังเคราะห์แสงประดิษฐ์ที่พัฒนาขึ้นในแคลิฟอร์เนียเพื่อสร้างส่วนผสมจากพืชและเชื้อรา
  • และเทคโนโลยีการหมักด้วยแก๊สจากประเทศฟินแลนด์เพื่อผลิตโปรตีนเซลล์เดียว

เทคโนโลยีอาหารเหล่านี้ ถือเป็นก้าวกระโดดครั้งใหญ่จากเครื่องดื่ม Tang และขนมขบเคี้ยวแห้งที่นักบินอวกาศบริโภคตอนเดินทางในอวกาศในระยะแรก ๆ

การที่นักบินอวกาศได้รับสารอาหารอย่างดีเป็นระยะเวลานาน ๆ ภายในขอบเขตจำกัดของยานอวกาศที่มีแรงโน้มถ่วงเป็นศูนย์ในวงโคจรต่ำของโลกเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับนาซา ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ลูกเรือบนสถานีอวกาศนานาชาติ ISS ใช้ชีวิตอยู่กับการรับประทานอาหารสำเร็จรูปเป็นส่วนใหญ่ โดยมีวัตถุดิบสดใหม่บางส่วนที่ถูกจัดส่งในภารกิจเติมเสบียงตามปกติ

ความจำเป็นสำหรับการผลิตอาหารแบบ self-contained ที่สามารถผลิตเองอย่างพอเพียง และสร้างขยะปริมาณน้อยที่สุด รวมทั้งใช้ทรัพยากรน้อยที่สุดนั้น มีความชัดเจนมากขึ้นในระยะไม่กี่ปีมานี้ หลังจากที่นาซา เริ่มตั้งเป้าหมายที่จะส่งนักบินอวกาศกลับไปสู่ดวงจันทร์อีกครั้ง รวมทั้งการสำรวจดาวอังคารและห้วงอวกาศอื่น ๆด้วย