นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีผู้ยื่นขอรับการส่งเสริมจำนวนมากในรอบ 6 เดือน คือ กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้า โดยมีจำนวน 195 โครงการ เงินลงทุน 26,207 ล้านบาท
ในจำนวนนี้ เป็นโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เช่น แสงอาทิตย์ ลม ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ จำนวน 186 โครงการ เงินลงทุน 8,332 ล้านบาท โดยในแง่พื้นที่ การลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี (EEC) จำนวน 306 โครงการ เงินลงทุนรวม 171,470 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 47% ของการลงทุนทั้งหมด
โดยจังหวัดที่มีการขอรับการส่งเสริมสูงสุด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ตามลำดับ ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ยานยนต์และชิ้นส่วน รองลงมาเป็นการลงทุนในพื้นที่ภาคกลาง จำนวน 362 โครงการ เงินลงทุนรวม 75,190 ล้านบาท
สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน มีการลงทุนอย่างต่อเนื่องในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา มีจำนวน 80 โครงการ เงินลงทุนรวม 19,600 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เช่น ยางล้อ เพลาล้อ ชิ้นส่วนระบบส่งกำลังแบบ Hybrid และสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ EV
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมามาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรม EV แบบครบวงจรของภาครัฐ สามารถกระตุ้นตลาดรถยนต์ EV และดึงดูดการลงทุนจากผู้ผลิตชั้นนำของโลก จนทำให้ไทยก้าวขึ้นเป็นฐานการผลิตหลักของยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน
ปัจจุบันมีผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV ได้รับการส่งเสริมแล้ว 14 โครงการ เงินลงทุนรวม 33,970 ล้านบาท คิดเป็นกำลังการผลิต 276,640 คันต่อปี ประกอบด้วยผู้ผลิตชั้นนำ เช่น BYD, Great Wall Motor, SAIC (MG), Mercedes Benz และ Horizon Plus ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ Foxconn Technology Group จากไต้หวัน
นอกจากนี้ ยังมีผู้ผลิตรายใหญ่อีกหลายรายที่ได้ประกาศแผนการลงทุนในไทยแล้ว เช่น Changan Automobile และ GAC AION ซึ่งคาดว่าจะทยอยยื่นคำขอรับการส่งเสริมในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
นายนฤตม์ กล่าวอีกว่า สถิติคำขอรับการส่งเสริมการลงทุน 6 เดือน (มกราคม – มิถุนายน) ปี 2566 มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมรวมทั้งสิ้น 891 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 และมีมูลค่าเงินลงทุน 364,420 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 70% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับคำขอรับการส่งเสริมในอุตสาหกรรมเป้าหมาย มีจำนวน 464 โครงการ มูลค่ารวม 286,930 ล้านบาท คิดเป็น 79% ของมูลค่าขอรับการส่งเสริมทั้งสิ้น ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูป อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน
ในส่วนอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มีคำขอรับการส่งเสริมจำนวน 106 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนสูงที่สุด กว่า 1.6 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 7 เท่าตัว เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และยังมีแนวโน้มขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากกระแสย้ายฐานการผลิตของกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อลดความเสี่ยงจากสงครามการค้าและความขัดแย้งของขั้วมหาอำนาจ รวมทั้งต้นทุนการผลิตในโลกตะวันตกที่สูงขึ้นมาก
อีกทั้งนักลงทุนเชื่อมั่นในศักยภาพของไทย จึงเลือกขยายฐานการผลิตมาที่ประเทศไทย โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ในกลุ่มแผ่นวงจรพิมพ์ (PCB) เซมิคอนดัคเตอร์ การทดสอบแผงวงจรรวมและ เวเฟอร์ ตัวเก็บประจุไฟฟ้า เซลล์แสงอาทิตย์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูป ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ มีจำนวน 139 โครงการ เงินลงทุนรวม 51,270 ล้านบาท นอกจากการขยายการลงทุนของผู้ประกอบการรายเดิมทั้งไทยและต่างชาติแล้ว ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ได้มีบริษัทระดับโลกหลายรายตัดสินใจขยายฐานผลิตมาที่ประเทศไทย เช่น บริษัท พริงเกิลส์ ผู้ผลิต มันฝรั่งแผ่นจากสหรัฐอเมริกา และบริษัท โลตัส บิสคอฟ ผู้ผลิตบิสกิตชื่อดังในแบรนด์ Lotus Biscoff สัญชาติเบลเยี่ยม
นายนฤตม์ กล่าวอีกว่า คำขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ในช่วง 6 เดือนแรก มีจำนวน 507 โครงการ เพิ่มขึ้น 33% เงินลงทุน 304,041 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 141% โดยจีนเป็นประเทศที่มีมูลค่าเงินลงทุนมากที่สุด 61,500 ล้านบาท จาก 132 โครงการ
ส่วนใหญ่ลงทุนในอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อันดับ 2 ได้แก่ สิงคโปร์ 73 โครงการ เงินลงทุน 59,112 ล้านบาท ขณะที่ประเทศญี่ปุ่น แม้ว่าจะเป็นอันดับ 3 จำนวน 98 โครงการ เงินลงทุน 35,330 ล้านบาท แต่มูลค่าคำขอรับการส่งเสริมจากญี่ปุ่นเติบโตขึ้นกว่าเท่าตัวจากครึ่งแรกของปี 2565 ที่มีมูลค่า 16,793 ล้านบาท โดยมีโครงการขนาดใหญ่ในกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนยานยนต์
ขณะที่การออกบัตรส่งเสริม ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ใกล้เคียงการลงทุนจริงมากที่สุดเพิ่มขึ้นมากเช่นเดียวกัน โดยในช่วง 6 เดือนแรก มีการออกบัตรส่งเสริมจำนวน 851 โครงการ เพิ่มขึ้น 24% เงินลงทุนรวม 234,690 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% ถือเป็นสัญญาณที่ดีว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนจริงมากขึ้นในระยะ 1 ปีข้างหน้า
“การลงทุนในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 มีทิศทางที่ดี ทั้งตัวเลขคำขอรับการส่งเสริมการลงทุน และการออกบัตรส่งเสริม ส่วนการลงทุนจากต่างประเทศยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายสำคัญ สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อประเทศไทย ทั้งในด้านปัจจัยพื้นฐานและซัพพลายเชนที่แข็งแกร่ง รวมทั้งศักยภาพการเติบโตในระยะยาวของไทย"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง