ข่าวดี!ค่าไฟจ่อถูกลง หลังแหล่ง “เอราวัณ” เพิ่มการผลิตก๊าซธรรมชาติ

30 มิ.ย. 2566 | 08:10 น.

ข่าวดี!ค่าไฟจ่อถูกลง หลังแหล่ง “เอราวัณ” เพิ่มการผลิตก๊าซธรรมชาติ เผยอัตราการผลิตเป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และจะเพิ่มเป็น 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันใน ธ.ค. ก่อนผลิต 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เม.ย. 67

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตของแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61 (แหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ) ได้ดำเนินการเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติจากอัตรา 210 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน 

ทั้งนี้ ภายหลังจากที่ได้เร่งดำเนินงาน ตั้งแต่วันที่สามารถเข้าพื้นที่เพื่อประกอบกิจการปิโตรเลียมภายใต้สัญญาแบ่งปันผลผลิต (วันที่ 24 เมษายน 2565) จนถึงปัจจุบัน

โดยในช่วงที่ผ่านมา บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ได้ดำเนินการติดตั้งแท่นหลุมผลิตใหม่ จำนวน 8 แท่น และการจัดหาแท่นขุดเจาะจำนวน 4 ตัว เพื่อใช้สนับสนุนการเจาะหลุมบนแท่นหลุมผลิตใหม่ และแท่นหลุมผลิตเดิม 
 

รวมทั้งมีแผนจัดหาแท่นขุดเจาะเพิ่มเติมอีกจำนวน 2 ตัว เพื่อนำมาใช้เร่งการเจาะหลุมผลิตเพิ่มเติม โดยความคืบหน้าสิ้นเดือนพฤษภาคม 2566 ได้มีการเจาะหลุมแล้วเสร็จจำนวน 96 หลุม จากแผนเจาะหลุมตามแผนงานในปี 2566 จำนวนทั้งสิ้น 273 หลุม 

ค่าไฟจ่อถูกลง หลังแหล่งเอราวัณเพิ่มการผลิตก๊าซธรรมชาติ

ซึ่งการดำเนินกิจกรรมดังกล่าวทำให้บริษัทฯ สามารถรักษาระดับอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติได้ที่อัตรา 210 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และสามารถเพิ่มอัตราการผลิตเป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันได้ตามแผน ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป

นายสราวุธ กล่าวอีกว่า บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ได้กำหนดเป้าหมายในการเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติของแปลงสำรวจฯ G1/61 ที่อัตรา 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566 และที่อัตรา 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ตั้งแต่เดือนเมษายน 2567 เป็นต้นไป โดยจะมีการดำเนินงานสำคัญเพิ่มเติมภายในปีนี้ เพื่อให้สามารถเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติตามเป้าหมาย อาทิ การติดตั้งแท่นหลุมผลิตใหม่ การจัดหาแท่นขุดเจาะเพิ่มเติม และการบริหารจัดการการใช้งานแท่นขุดเจาะเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นต้น

“การผลิตปิโตรเลียมจากแปลงสำรวจฯ G1/61 กลับมามีอัตราการผลิตสูงสุดในอ่าวไทยอีกครั้ง ถือเป็นสิ่งที่ดีต่อสถานการณ์ด้านพลังงานของประเทศ โดยจะส่งผลให้ช่วยลดการนำเข้า LNG จากต่างประเทศมาผลิตไฟฟ้า ช่วยลดความผันผวนของภาระค่าไฟฟ้า และสิ่งสำคัญที่สุดคือ ช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงาน เศรษฐกิจ และสังคม ให้แก่ประเทศต่อไป”