นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ. ได้ดำเนินการร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ส่งเสริมการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน (Sustainable supply chain) ด้วยการเลือกใช้ผู้ประกอบการจัดการของเสียที่ได้รับการรับรองมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศสำหรับผู้ประกอบการจัดการของเสีย (Eco Factory for Waste Processor)
ทั้งนี้ กนอ. และ ส.อ.ท. ร่วมพัฒนามาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory) ตั้งแต่ปี 2560 และในปี 2565 ได้พัฒนามาตรฐาน Eco Factory For Waste Processor
โดย กนอ. ร่วมส่งเสริมให้ผู้ประกอบการจัดการของเสีย (Waste Processor) ในนิคมอุตสาหกรรมได้รับการรับรองมาตรฐาน Eco Factory For Waste Processor เพื่อขยายผลความร่วมมือดังกล่าว กนอ. จึงส่งเสริมให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมเลือกใช้ผู้ประกอบการจัดการของเสียที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน Eco Factory for Waste Processor อย่างน้อยระดับพื้นฐาน (Beginner)
และส่งเสริมให้ผู้ก่อกำเนิดของเสีย (Waste Generator) เลือกใช้ผู้ประกอบการจัดการของเสียที่ได้รับรอง Eco Factory for Waste Processor เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานในภาคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน สร้างความเชื่อมั่นในการส่งของเสียไปกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักการจนจบสิ้นกระบวนการ โดยไม่ก่อให้เกิดปัญหากับชุมชนและสิ่งแวดล้อมตามมาภายหลัง
อย่างไรก็ดี เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการดำเนินงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และขอรับรองมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเพิ่มมากขึ้น กนอ. ได้ประกาศสิทธิประโยชน์มาตรการจูงใจต่อการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศสำหรับผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม และผู้ประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรม
โดยผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรองมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory ) หรือ อุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) ระดับ 3 ขึ้นไป หรือธงขาวดาวทอง จะได้รับการลดหย่อนหรือยกเว้นค่าบริการคำขอด้านการใช้ที่ดินและประกอบกิจการ และด้านสิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ภาษี มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 – 30 กันยายน 2567 โดยสามารถยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ผ่านระบบอนุมัติอนุญาตอิเล็กทรอนิกส์ (e-Permission Privilege : e-PP) ของ กนอ.
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ส.อ.ท. มีนโยบายสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศไทยให้เป็นไปอย่างยั่งยืน เกิดสมดุลในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สอดรับกับนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ BCG Model ของรัฐบาล ด้าน Green Economy และ Circular Economy
ส.อ.ท. ให้ความสำคัญในการส่งเสริมและผลักดันให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม โดยเฉพาะสมาชิกของสภาอุตสาหกรรมฯ จัดการกากอุตสาหกรรมอย่างถูกวิธีและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า ปลอดภัย
รวมถึงส่งเสริมให้ยกระดับมาตรฐานการจัดการกากอุตสาหกรรมด้วยตราสัญลักษณ์ Eco Factory For Waste Processor พัฒนาแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนของเสีย (Circular Material Hub) เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการวัสดุที่ไม่ใช้แล้วและผลิตภัณฑ์พลอยได้ โดยอาศัยแนวคิดการเปลี่ยน Waste จากอุตสาหกรรมหนึ่ง ไปเป็นวัตถุดิบ หรือ Materials ให้อีกอุตสาหกรรมหนึ่ง ตามหลัก Circular Economy
ข่าวที่เกี่ยวข้อง