สถานการณ์ความมั่นคงทางด้านอาหาร หรือ Food Security ของประเทศไทย ยังมีความท้าทายหลายอย่างที่จะต้องเตรียมพร้อมรองรับ นั่นเพราะในปัจจุบัน มีรายงานขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่า ปัจจุบันมีประชากรเกือบ 193 ล้านคน ใน 53 ประเทศทั่วโลก กำลังเผชิญปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหาร
ขณะที่ประเทศไทยเองนั้น แม้สถานการณ์ความมั่นคงด้านอาหารของไทยอยู่ในระดับค่อนข้างดี โดยข้อมูลจาก Global Food Security Index GFSI ที่จัดทำและรายงานสถานการณ์ความมั่นคงทางด้านอาหารของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก 113 ประเทศ ระบุว่า ในปี 2564 ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านอาหารอยู่ในอันดับที่ 51 จาก 113 ประเทศทั่วโลก
โดยมีคะแนนอยู่ที่ 64.5 จาก 100 คะแนน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่มีคะแนนอยู่ที่ 63.6 คะแนน ซึ่งไทยอยู่ในอันดับสูงเป็นอันดับที่ 9 ในกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิก และอันดับที่ 15 ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง แต่สถานการณ์ดังกล่าว ก็ยังมีประเด็นที่ไทยต้องให้ความสำคัญโดยเฉพาะเรื่องของการใช้ประโยชน์จากอาหาร และการลดจำนวนของ “ขยะอาหาร”
การใช้ประโยชน์จากอาหารของไทย
ข้อมูลภาวะสังคมไทยของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เมื่อไม่นานมานี้ ระบุถึงการใช้ประโยชน์จากอาหาร (Food Utilization) หรือ การมีความเข้าใจและสามารถใช้ประโยชน์ จากอาหารได้อย่างเหมาะสมและสามารถจัดเตรียมอาหารให้ถูกสุขอนามัย และตามหลักโภชนาการ ซึ่งสถานการณ์ในภาพรวม พบว่า คนไทยยังมีความรู้ความเข้าใจและพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่สอดรับกับการมีโภชนาการที่ดี ทำให้ไม่ได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ
ทั้งนี้จากข้อมูลพฤติกรรมสุขภาพของประชากร ปี 2564 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า คนไทย 22.5% คำนึงถึงความชอบเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ ความอยากทาน รสชาติ ความสะอาด คุณค่า ความสะดวก และราคา ตามลำดับ อีกทั้งยังนิยมบริโภคอาหารจำพวกไขมันสูง แปรรูป และมีรสหวาน
คนไทยนิยมอาหารไขมันสูง-แปรรูป
เมื่อพิจารณาพฤติกรรมของคนไทยที่นิยมรับประทานเป็นประจำ หรือความถี่ 3-7 วันต่อสัปดาห์ จะพบว่า ในปี 2564 มีการบริโภคอาหารประเภทไขมันสูง 42% เพิ่มขึ้นจาก 25.8% ในปี 2560 และนิยมบริโภคอาหารแปรรูป 39.3% และ เครื่องดื่มเติมน้ำตาลบรรจุขวดที่ไม่มีแอลกอฮอล์ 34%
ขณะที่เด็กวัยเรียน (อายุ 6-14 ปี) มีพฤติกรรมการบริโภคอาหารกลุ่มเสี่ยงเป็นประจำ โดยกินขนมกรุบกรอบมากที่สุด และยังไม่ชอบรับประทานผักและผลไม้มากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงวัยอื่น
ส่วนคนไทยมีสัดส่วนการกินผักที่เหมาะสม (มากกว่า 5 วัน/สัปดาห์) อยู่ที่ 63.1% ส่วนการกินผลไม้มีสัดส่วน 33.9% เท่านั้น ซึ่งถือว่าค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนด
คนไทยไม่สนใจฉลาก สร้างขยะอาหารสูง
นอกจากนี้ แม้ว่า 62.3% ของประชากรที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปจะมีการรับรู้ฉลากโภชนาการแบบ จีดีเอ (Guideline Daily Amounts หรือฉลากแสดงค่าพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม แต่กลับไม่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์ ซึ่งการไม่ให้ความสำคัญแก่ฉลากโภชนาการ จะทำให้ขาดการตระหนักรู้เรื่องสารอาหารตามความต้องการ นำไปสู่การเลือกอาหารที่ไม่มีผลดีต่อสุขภาพเท่าที่ควร
ขณะที่ การใช้ประโยชน์จากอาหาร พบว่า คนไทยยังสร้างขยะอาหารปริมาณสูงและขยะดังกล่าวไม่ได้ ถูกนำมาใช้ประโยชน์เท่าที่ควร โดยประเทศไทยสร้างขยะเฉลี่ยปีละ 27 – 28 ล้านตัน แต่กว่าครึ่งของขยะทั้งหมด หรือกว่า 64% เป็นขยะอาหาร
คนไทย 1 คนสร้างขยะอาหารปีละ 254 กก.
จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ ยังพบว่า คนไทย 1 คนสร้างขยะอาหารสูงถึง 254 กิโลกรัมต่อปี และขยะส่วนใหญ่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ได้น้อย จากสาเหตุการคัดแยกขยะที่ไม่ถูกต้อง การจัดการขยะที่ใช้การฝังกลบรวม รวมถึงการไม่มีระบบจัดการที่ถูกสุขาภิบาล
รวมถึง ขยะอาหาร บางส่วนที่เป็นอาหารส่วนเกินที่เกิดจากภาคธุรกิจ ภาคเกษตร รวมถึงครัวเรือน ยังขาดการจัดการอย่างจริงจัง และคนยังขาดความรู้ ความเข้าใจในขั้นตอนที่ทำให้เกิดขยะอาหาร โดยเฉพาะในครัวเรือน ทำให้ขยะอาหาร มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
ขณะเดียวกันก็ยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถเข้าถึงอาหารได้ อีกทั้ง การที่ ปริมาณขยะอาหารที่มากขนาดนี้จะส่งผลกระทบต่อทั้งสภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ สัตว์ รวมไปถึงมนุษย์ ที่นำไปสู่การเกิดภาวะโลกร้อนอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
เสถียรภาพด้านอาหารของไทย
ขณะที่ การมีเสถียรภาพด้านอาหาร (Food Stability) คือ การเข้าถึงอาหารได้อย่างเพียงพอ แม้ในภาวะวิกฤต ก็ไม่มีความเสี่ยงที่จะขาดแคลนอาหารอย่างกะทันหัน โดยสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่มีผลต่อเสถียรภาพด้านอาหารที่สำคัญ ทั้ง ภาวะเศรษฐกิจโลก และปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
การรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว ประเทศไทยได้พัฒนาระบบบริหารจัดการอาหารและน้ำ กรณีฉุกเฉินการป้องกัน แจ้งเตือน แก้ไข ภัยคุกคาม และส่งเสริมให้เกิดเกษตรยั่งยืน รวมทั้งการพึ่งพาตนเองด้านอาหารตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชน
ที่ผ่านได้มีการบริหารจัดการเพื่อให้คนเข้าถึงอาหารและน้ำในช่วงวิกฤตต่าง ๆ รวมทั้งชุมชน มีบทบาทสำคัญในการผลิตอาหารเพื่อบริโภคในครัวเรือนและชุมชนโดยในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผลกระทบด้านความมั่นคงทางอาหารจึงไม่รุนแรงนัก
กลุ่มคนรายได้น้อยยังน่ากังวล
อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้มีรายได้น้อยหรือเปราะบางมีแนวโน้มได้รับผลกระทบรุนแรงกว่ากลุ่มอื่น ผลการสำรวจผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อครัวเรือนในประเทศไทย ปี 2565 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า ปัญหาด้านอาหารที่ครัวเรือนประสบ คือ การกินอาหารเพียงไม่กี่ชนิดและการไม่ได้กินอาหารที่มีประโยชน์หรือมีคุณค่าทางโภชนาการโดยครัวเรือนที่มีรายได้น้อยที่สุดจะประสบปัญหาด้านอาหารในทุกมิติมากกว่าและรุนแรงกว่ากลุ่มครัวเรือนรายได้สูงสุด
แม้ว่าไทยจะมีความอุดมสมบูรณ์สามารถผลิตอาหารได้เพียงพอต่อคนในประเทศ อย่างไรก็ตามยังพบความท้าทายของการผลิตอาหารในอนาคตที่ภาคเกษตรมีข้อจำกัดมากขึ้น ขณะเดียวกันประเด็นความสามารถในการเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ยังมีข้อจำกัด โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ปัญหาการผลิตอาหารที่ไม่ปลอดภัย รวมถึงประเด็นการใช้ประโยชน์จากอาหารที่ยังขาดความรู้ทางโภชนาการและมีพฤติกรรมบริโภคอาหารไม่มีคุณภาพ และการสร้างขยะอาหารที่ยังเป็นความท้าทายสำคัญ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง