"พพ." มุ่งประหยัดพลังงานภาคขนส่งลดก๊าซเรือนกระจกรับ "Net Zero"

11 มิ.ย. 2566 | 09:06 น.
อัปเดตล่าสุด :11 มิ.ย. 2566 | 09:07 น.

"พพ." มุ่งประหยัดพลังงานภาคขนส่งลดก๊าซเรือนกระจกรับ "Net Zero" หลังเป็นภาคที่ใช้พลังงานสูงที่สุดกว่า 38% ของการใช้พลังงานทั้งประเทศ ผ่านการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในผู้ประกอบการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร

ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า พพ. ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในผู้ประกอบการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร

ทั้งนี้ เนื่องจากมองว่าภาคขนส่งป็นภาคที่มีการใช้พลังงานสูงที่สุด หรือกว่า 38% ของการใช้พลังงานทั้งประเทศ โดยมุ่งเน้นให้ภาคขนส่งมีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับโครงการดังกล่าวนั้น ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เป็นโครงการสนับสนุนทางด้านการเงินในการดำเนินมาตรการด้านอนุรักษ์พลังงานของผู้ประกอบการขนส่ง โดยมาตรการที่ผ่านการพิจารณาตามหลักเกณฑ์ของโครงการ ที่ต้องมีผลประหยัดพลังงานและมีระยะเวลาคืนทุนไม่เกิน 7 ปี 

ซึ่งผู้ประกอบการที่ผ่านหลักเกณฑ์และได้เข้าร่วมโครงการจะได้รับการสนับสนุนเงินลงทุนไม่เกิน 30% ของค่าอุปกรณ์และการติดตั้ง สูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อแห่ง

โดยผู้ประกอบการที่ได้เข้าร่วมโครงการในปีนี้ มีจำนวนรวมทั้งหมด 12 ราย แบ่งเป็นผู้ประกอบการขนส่งสินค้าจำนวน 10 ราย และเป็นผู้ประกอบการขนส่งผู้โดยสารจำนวน 2 ราย 
 

และผลจากการดำเนินมาตรการพบว่า สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 10,247 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี (tCO2e/ปี) ซึ่งคิดเป็นพลังงานที่ประหยัดได้ 2.084 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อปี (ktoe/ปี) คิดเป็นมูลค่าผลประหยัดพลังงานรวม 50.7 ล้านบาทต่อปี 

พพ. มุ่งประหยัดพลังงานภาคขนส่งลดก๊าซเรือนกระจก รับ Net Zero

จากเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 31.3 ล้านบาท โดยคิดเป็นผลประหยัดพลังงานเฉลี่ย 25% และมีระยะเวลาคืนทุนเฉลี่ย 0.62 ปี จากรถที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมดจำนวน  469 คัน   

ดร.ประเสริฐ กล่าวอีกว่า โครงการดังกล่าวเริ่มมาตั้งแต่ปี 2564 โดยมีผลของการการดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานในภาคขนส่งสินค้าและผู้โดยสารใน 5 กลุ่มมาตรการ ของผู้ประกอบการทั้ง 12 ราย ที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ 

  • มาตรการเปลี่ยนชนิดเชื้อเพลิงเป็น LNG จำนวน 7 ราย 
  • มาตรการปรับเปลี่ยนมาใช้หางรถพ่วงบรรทุกที่มีน้ำหนักเบา จำนวน 1 ราย 
  • มาตรการปรับเปลี่ยนระบบเครื่องยนต์สันดาปโดยการดัดแปลงเป็นรถอีวี (EV) จำนวน 1 ราย 
  • มาตรการพัฒนาระบบบริหารจัดการการขนส่ง จำนวน 2 ราย 
  • มาตรการปรับปรุงตัวถังรถตามหลัก Aerodynamic และการใช้วัสดุน้ำหนักเบาแทนวัสดุเดิม จำนวน 1 ราย  

นอกจากนี้ ยังได้เผยแพร่ผลการดำเนินโครงการ ภายใต้โครงการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในผู้ประกอบการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์องค์ความรู้ตลอดจนความเข้าใจในเทคโนโลยีการอนุรักษ์พลังงานที่มีความน่าสนใจทั้งในปัจจุบันและในอนาคต รวมทั้งเป็นอีกหนึ่งกลไกในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านพลังงานในการลดการปล่อยคาร์บอนหรือก๊าซเรือนกระจกของประเทศ และนำไปสู่ความยั่งยืนต่อไป

ดร.ประเสริฐ กล่าวต่อไปอีกว่า จากการกำหนดเป้าหมายของประเทศไทยตามการประกาศเจตจำนงในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมีเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ.2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)ภายในปี ค.ศ.2065 พพ.จึงได้เร่งดำเนินโครงการดังกล่าว