กรอ.รุกเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ มุ่งสู่ต้นแบบเมืองน่าอยู่ คู่อุตสาหกรรม

30 พ.ค. 2566 | 14:12 น.
อัปเดตล่าสุด :30 พ.ค. 2566 | 14:13 น.

กรอ.รุกเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ มุ่งสู่ต้นแบบเมืองน่าอยู่ คู่อุตสาหกรรม โชว์ผลงานผลงานที่ผ่านมาสร้างงาน สร้างอาชีพ กว่า 300 ล้านบาท เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบาย BCG ส่งเสริมเศรษฐกิจ พัฒนาคุณภาพชีวิตคู่สิ่งแวดล้อม

นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.)ได้ดำเนินการจัดทำโครงการพัฒนาและยกระดับเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) เพื่อสร้างต้นแบบเมืองน่าอยู่ คู่อุตสาหกรรม ที่มีเศรษฐกิจดี สิ่งแวดล้อมดี สังคมมีความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตที่ดี ประชาชนมีความสุขและอยู่ร่วมกับอุตสาหกรรมได้อย่างยั่งยืน 

ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย BCG Model (Bio Circular Green Economy) ของกระทรวงอุตสาหกรรมในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม การหมุนเวียนทรัพยากร และการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ได้ดำเนินการตามแผนงานยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาพื้นที่ที่มีการพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมให้เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ     

ทั้งนี้ ในปี 66 กรอ. ได้ประกาศพื้นที่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ระยะที่ 3 ใน 21 พื้นที่ใหม่ 20 จังหวัดใหม่ หลังประสบความสำเร็จในการดำเนินการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ระยะที่ 1 และ 2 รวมเป้าหมายการพัฒนาทั้ง 3 ระยะ 54 พื้นที่ 39 จังหวัด ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ 

กรอ.รุกเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศมุ่งสู่ต้นแบบเมืองน่าอยู่ คู่อุตสาหกรรม

มีพื้นที่ที่ผ่านเกณฑ์การพัฒนาระดับที่ 4 (การพึ่งพาอาศัย) 4 พื้นที่ ระดับที่ 3 (ประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร) 14 ที่เหลืออีก 36 พื้นที่อยู่ในขั้นตอนการเตรียมความพร้อมเพื่อพัฒนาเข้าสู่ระดับการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศต่อไป

สำหรับผลงานในปี 65 เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เป็นแหล่งสร้างความสำเร็จในการสร้างงาน สร้างอาชีพ คิดเป็นมูลค่ากว่า 300 ล้านบาท ช่วยดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็นจำนวนกว่า 1 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์

ยกระดับรายได้และพัฒนาความเป็นอยู่ของกลุ่มชาวบ้าน กลุ่มแม่บ้านหรือวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่กว่า 400 กลุ่ม มุ่งสู่ความสำเร็จ 4 มิติของกระทรวงอุตสาหกรรม ครอบคลุมความสำเร็จทางธุรกิจ การดูแลสังคม สิ่งแวดล้อม และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน

“กรอ.ยังมุ่งพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอย่างต่อเนื่อง ใน 54 พื้นที่ 39 จังหวัด โดยการจัดทำแผนปฏิบัติการการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เพื่อมุ่งเป้าสู่ระดับที่ 5 ภายในปี 2580 เพื่อเป็นกรอบและทิศทางสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดยให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ภาคประชาชนและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ"

อีกทั้งสนับสนุนให้โรงงานอุตสาหกรรมดำเนินงานเชื่อมโยงกับ BCG Model ผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมสีเขียว (GI : Green Industry) โรงงานอุตสาหกรรมที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชนอย่างยั่งยืน (CSR-DIW)