เรื่องของเต่าที่เราอาจไม่รู้ “วันเต่าโลก” (World Turtle Day)

23 พ.ค. 2566 | 14:41 น.
อัปเดตล่าสุด :23 พ.ค. 2566 | 15:20 น.

เรื่องของเต่าที่เราอาจไม่รู้มาก่อน “วันเต่าโลก” (World Turtle Day) ตรงกับวันที่ 23 พฤษภาคมของทุกปี มีความสำคัญอย่างไร

วันที่ 23 พฤษภาคม ของทุกปีเป็น "วันเต่าโลก" (World Turtle Day)  รู้หรือไม่ว่า "เต่า" สามารถมีอายุได้นานถึง 150 ปี หรือมากกว่านั้น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เต่าเป็นสัญลักษณ์แห่งอายุยืน แต่น่าเสียดายที่ส่วนใหญ่ "น้องเต่า" ต้องมาตายก่อนอายุขัยจากปัญหาขยะพลาสติกและอุปกรณ์ประมงบนชายหาดและในทะเล นักอนุรักษ์ทั่วโลกต่างกังวลว่าจะสูญพันธุ์

นอกจากนี้ เต่ายังเป็น "สัญลักษณ์แห่งความอดทน" เพราะ เต่าต้องแบกรับน้ำหนักกระดอก และกว่าเต่าจะเอาชีวิตรอดจนเติบโตก็ไม่ใช่เรื่องง่าย 

 

 

 

 

ย้อนกลับไปเมื่อ วันที่ 23 พฤษภาคม 2543 เริ่มมีการกำหนดให้เป็น "วันเต่าโลก" โดยองค์กร American Tortoise Rescue ในรัฐ California, USA. ซึ่งเป็นองค์กรอนุรักษ์และช่วยเหลือเต่าบกและเต่าทะเล เพื่อเน้นให้ความรู้ รวมทั้งปลูกจิตสำนึกให้อนุรักษ์เต่า

เรื่องของเต่าที่เราอาจไม่รู้ “วันเต่าโลก” (World Turtle Day)

ข้อมูลจากมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ระบุเนื้อหาเกี่ยวกับ เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับเต่าเอาไว้น่าสนใจ 

  • อุณหภูมิส่งผลต่อเพศ หากอุณหภูมิสูงจะส่งผลต่อการเพาะฟักไข่เต่า หรือ “pivotal temperature” (28 – 29 องศาเซลเซียส) เต่าที่เกิดมาจะเป็นเพศเมีย ถ้าต่ำกว่าก็จะเป็นเพศผู้ หมายความอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นจะส่งผลให้เต่าที่เกิดมาเป็นเพศเมียในอัตราส่วนที่มากกว่าเพศผู้ อัตราการเกิดของเต่ายิ่งน้อยลง
  • ไม่ใช่เต่าทุกชนิดที่ว่ายน้ำได้  เต่าบกว่ายน้ำไม่เป็น เพราะกระดองเต่ามีน้ำหนัก เต่าน้ำจืดว่ายน้ำได้ แต่ต้องการพื้นดินไว้พักในการว่ายน้ำด้วย เต่าทะเลอาศัยอยู่ในทะเล ยกเว้นตอนวางไข่ จะขึ้นมาวางไข่บนบก
  • ทั่วโลกมีเต่าทะเลเพียง  7 ชนิด และมีเพียง 5 ชนิดที่พบในไทย ได้แก่ เต่าตนุ เต่ากระ เต่าหญ้า เต่าหัวค้อน เต่ามะเฟือง เต่าหลังแบน และเต่าหญ้าแคมป์ ไม่พบในไทย
  • เต่าญี่ปุ่น หรือ เต่าแก้มแดง ไม่ใช่เต่าในประเทศไทย แต่เป็นเต่าต่างถิ่น
  • อายุเต่าที่มากที่สุด เต่าทะเลและเต่าบกขนาดใหญ่มีชีวิตอยู่ได้นานมาก มีอายุได้ถึง 150 ปีหรือมากกว่านั้น 
  • ไม่ใช่เต่าทุกชนิดกินพืช บางชนิดก็กินเนื้อ บางครั้งกินมูลของสัตว์อื่น
  • เต่าทุกตัววางไข่บนบก ไม่ว่าจะอยู่ห่างไกลหลายพันไมล์ เต่าก็จะกลับมาวางไข่ในที่ที่เกิด 
  • เต่าไม่สามารถคลานออกจากกระดองได้ เพราะกระดองคือกระดูกที่ต่อเข้ากับกระดูกสันหลัง และกระดูกซี่โครง กระดูกหน้าอก และกระดูกหัวไหล่บางส่วน 
  • เต่ามะเฟืองเต่าทะเลที่ใหญ่ที่สุด ดำน้ำได้ลึกที่สุด ยาวได้ถึง 2 เมตร หนักถึง 600 kg สามารถดำน้ำได้ลึกกว่า 1000 เมตร

ภัยคุกคามเต่า

แม่เต่าวางไข่ไว้ที่ชายหาดเฉลี่ยครั้งละ 150 ฟอง แต่เพียง 1% เท่านั้น ที่รอดชีวิตเดินทางถึงทะเลได้ ส่วนที่เหลือถูกล่าทั้งสัตว์และมนุษย์ เมื่อลงทะเลก็ต้องเผชิญกับภัยคุกคามต่าง ๆ ทั้งขยะพลาสติกและขยะอุปกรณ์ประมง ทำให้มีลูกเต่าเหลือรอดจนโตเต็มวัยเพียง 1 ใน 1,000 เท่านั้น