ปตท.จ่อนำเข้า LNG ตลาดจรพุ่ง 6 ล.ตัน หลังความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่ม

20 พ.ค. 2566 | 11:32 น.
อัปเดตล่าสุด :20 พ.ค. 2566 | 11:33 น.

ปตท.จ่อนำเข้า LNG ตลาดจรพุ่ง 6 ล.ตัน หลังความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่ม จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่นำเข้า 3.3ล้านตัน ขณะที่สถานการณ์ราคาพลังงานตลาดโลกเริ่มคลี่คลายลง

นายนพดล ปิ่นสุภา  ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในปี 2566 คาดว่าจะมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG)ตลาดจร(SPOT)ประมาณ 100 ลำเรือ เรือละ 6 หมื่นตัน หรือประมาณ 6 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ ปตท.มีการนำเข้าLNG 53 ลำเรือ หรือคิดเป็น 3.3ล้านตัน 

ขณะนี้มีการสั่งซื้อและนำเข้า LNG แล้ว 60 ลำเรือหรือประมาณ 4 ล้านตัน ที่ระดับราคาต่ำกว่า 20 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ซึ่งเป็นราคาที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เห็นชอบในการจัดหาและต่ำกว่าปีก่อนที่ราคา SPOT LNG เคยพีคสูงถึง 40เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู

ทั้งนี้ สาเหตุที่ปีนี้ไทยมีการนำเข้าLNGเพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้มีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ปริมาณการผลิตก๊าซฯในอ่าวไทยที่ทยอยปรับเพิ่มขึ้น และราคา SPOT LNG ได้ปรับลดลงมาจนปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 9เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู เป็นระดับราคาที่ใช้ผลิตไฟฟ้าทำให้มีต้นทุนที่ต่ำกว่าการใช้น้ำมันดีเซลในการผลิตไฟฟ้าด้วย 

ส่งผลให้ค่าต้นทุนไฟฟ้าผันแปร หรือค่าเอฟที (Ft) ปรับลดลง ส่วนราคาSPOT LNG ปลายปีนี้คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 15-16เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียูตามความต้องการใช้ที่เพิ่มสูงขึ้น แต่โอกาสที่ราคาLNGจะปรับขึ้นสูงมากเหมือนปีก่อนคงไม่เกิดขึ้น เนื่องจากสหรัฐอเมริกามีการผลิตก๊าซฯเพิ่มมากขึ้นและสหภาพยุโรปก็ปริมาณการสำรองก๊าซฯที่สูงด้วย

ปตท.จ่อนำเข้า LNG ตลาดจรพุ่ง 6 ล้านตัน หลังความต้องการใช้ไฟเพิ่ม

นายประสงค์ อินทรหนองไผ่ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย กล่าวว่า ปตท. ได้ดำเนินกลยุทธ์การดำเนินงานผ่านความร่วมมือภายในกลุ่ม ปตท. เพื่อคงความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจเดิม (Hydrocarbon based) และเป็นฐานต่อยอดธุรกิจใหม่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง (Advance Materials & Specialty Chemicals) ที่สอดคล้องกับการเติบโตตามกระแสโลก โดยสามารถเชื่อมโยงและเติมเต็มห่วงโซ่อุปทาน (Value Chain) ธุรกิจใหม่ ของกลุ่ม ปตท. รวมถึงเพิ่มสัดส่วนธุรกิจคาร์บอนต่ำและธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน 

นอกจากนี้ ยังมีการนำเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือช่วยเสริมการบริหารจัดการเพื่อช่วยประกอบการตัดสินใจให้แก่ภาครัฐ อาทิ การใช้ระบบดิจิทัลมาวางแผนการผลิตน้ำมันในประเทศด้วยระบบดิจิทัล ผ่าน Hydrocarbon Value Chain Collaboration Center รวมถึงเครื่องมือในการบริหารจัดการทางเลือกใช้เชื้อเพลิงของประเทศในภาวะราคาพลังงานผันผวน เป็นต้น

นายพงษ์พันธุ์ อมรวิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ปตท. กล่าวว่าหน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ปตท. มี 6 สำนักงานการค้าอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ของทุกภูมิภาคทั่วโลก โดยในปี 2565 ที่ผ่านมา มีปริมาณการค้ารวมมากกว่า 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน แบ่งเป็น้ำมันดิบ 1ล้านบาร์เรลต่อวัน ครอบคลุมมากกว่า 70 ประเทศทั่วโลก และมีการจัดหาพลังงานทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG)จากหลากหลายภูมิภาคทั่วโลก เพื่อรองรับความต้องการพลังงานของประเทศ

รวมถึงแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ เช่น การเข้าสู่ตลาด Carbon Credit Trading ให้ได้ภายในปีนี้และการค้าเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF) เป็นต้น