"IRPC" ผุดนวัตกรรมอาหารเสริมพืช สร้างธุรกิจใหม่ต่อยอดความยั่งยืน

11 พ.ค. 2566 | 08:38 น.

"IRPC" ผุดนวัตกรรมอาหารเสริมพืช สร้างธุรกิจใหม่ต่อยอดความยั่งยืน ภายใต้สูตรซิงค์ออกไซด์นาโน ตรา ปุ๋ยหมีขาว พร้อมเร่งพัฒนาอีก 4 สูตรใหม่ หวังได้ใบรับรองกลางเดือน คาดเริ่มจำหน่าย มิ.ย. 66

นายกฤษณ์ อิ่มแสง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC เปิดเผยว่า IRPC ได้ดำเนินการคิดค้นนวัตกรรมร่วมกับชุมชนในโครงการ คลินิกหมอดิน ด้วยการวิเคราะห์สภาพดินและพัฒนาอาหารเสริมสำหรับพืช   

ทั้งนี้ จนสามารถได้ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสำหรับพืช สูตรซิงค์ออกไซด์นาโน ตรา ปุ๋ยหมีขาว โดยจากการทดสอบอาหารเสริมพืชสูตรซิงค์นาโน กับต้นทุเรียน ด้วยการฝังเข็มบนต้นทุเรียนพบว่า ต้นทุเรียนที่ใกล้ตายฟื้นคืนชีพโดยเห็นผลได้ภายใน 3 วัน 

สำหรับอาหารเสริมพืชดังกล่าวนั้น สามารถใช้ได้กับพืชไร่ เช่น ข้าว, พืชสวน เช่น ทุเรียน เงาะ มังคุด มะนาว และพืชดอก เช่น กล้วยไม้ เป็นต้น
 

อย่างไรก็ตาม IRPC ได้ใช้ "สวนยายดา เจ๊บุญชื่น" จัดทำโครงการ IRPC Smart Farming จังหวัดระยอง ตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2565 เพื่อเป็นพื้นที่นำร่องทดสอบการใช้อาหารเสริมพืช เพื่อแก้โรคให้กับสวนทุเรียน และประสบผลสำเร็จด้วยดี 

นายกฤษณ์ กล่้าวอีกว่า IRPC ได้เริ่มจำหน่ายอาหารเสริมพืชมา 1 ปีกว่า โดยจำหน่ายในราคา 1 ลิตร 990 บาท ซึ่งสามารถใช้ในปริมาณ 2 ซีซี ต่อน้ำเปล่า 1 ลิตร หรือฝังได้ประมาณ 50 เข็ม ซึ่งแตกต่างจากปุ๋ยทั่วไป ที่ใช้ปุ๋ย 1 ลิตร ต่อน้ำเปล่า 1 ลิตร  ดังนั้นสารอาหารพืชจึงประหยัดและได้ผลดีกับพืชผลการเกษตรมากกว่า 

IRPC ผุดนวัตกรรมอาหารเสริมพืช สร้างธุรกิจใหม่ต่อยอดความยั่งยืน

อย่างไรก็ดี IRPC ยังได้พัฒนาและวิจัยนวัตกรรมอาหารเสริมพืชเพิ่มอีก 4 สูตร ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการยื่นขอใบอนุญาตเพื่อดำเนินการผลิตและจำหน่ายจากกรมวิชาการเกษตร คาดว่าจะได้รับใบอนุญาตในเดือน พ.ค. 2566 นี้  และคาดว่าจะเปิดจำหน่ายได้ต้นเดือน มิ.ย. 2566 

"IRPC คาดหวังว่านวัตกรรมอาหารเสริมพืชดังกล่าวจะขยายผลต่อยอดไปอย่างกว้างขวางทั่วประเทศโดยหน่วยงานภาครัฐทั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทั่วประเทศ" 

สำหรับธุรกิจอาหารเสริมพืชจัดว่าเป็นธุรกิจใหม่ของ IRPC แม้ปัจจุบันยังไม่สร้างผลตอบแทนคุ้มค่า เนื่องจากเป็นธุรกิจขนาดเล็ก แต่ในอนาคตจะขยายการเติบโตธุรกิจต่อไป ซึ่งธุรกิจนี้อยู่ภายใต้บริษัท รักษ์ป่าสัก จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม IRPC ที่ IRPC ถือหุ้น 100%

นอกจากนี้ IRPC ได้นำโซลาร์ลอยน้ำ ที่ IRPC พัฒนาทุ่นติดตั้งโซลาร์เซลล์มาติดตั้งที่สวนยายดาฯ เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ในสวนตอนกลางวันได้ปริมาณ 5 กิโลวัตต์ต่อวัน ซึ่งในอนาคตมีแผนต่อยอดนำนวัตกรรมแบตเตอรี่ ที่กลุ่ม ปตท. ได้วิจัยและพัฒนาเข้ามาติดตั้งร่วมกับโซล่าร์ลอยน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพต่อการผลิตไฟฟ้าในอนาคต