พลังงานยันสำรองไฟฟ้าส่วนเกินไม่ใช่ต้นเหตุค่าไฟแพง

25 เม.ย. 2566 | 18:44 น.
อัปเดตล่าสุด :25 เม.ย. 2566 | 18:44 น.

พลังงานยันสำรองไฟฟ้าส่วนเกินไม่ใช่ต้นเหตุค่าไฟแพง ระบุปัจจุบันสำรองไฟฟ้าของไทยอยู่ที่ 36% ไม่ได้สูงถึง 50–60% พร้อมแจงเป็นไปตามแผน PDP ที่กำหนดการจัดหาพลังงานไฟฟ้า 20 ปี เพื่อเป็นการทางคาร์บอน

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ประเด็นอัตราการสำรองไฟฟ้า (Reserve Margin : RM) ที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าเป็นอีกสาเหตุทำให้ค่าไฟแพงนั้น ปัจจุบันสำรองไฟฟ้าของไทยอยู่ที่ 36% ไม่ได้สูงถึง 50–60% 

โดยตัวเลขดังกล่าวเป็นการนำค่ากำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญามาคำนวณ จึงไม่สะท้อนอัตราการสำรองไฟฟ้าแท้จริง อาทิ ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานชีวมวล ซึ่งกลุ่มดังกล่าวนี้ไม่สามารถพึ่งพาได้ตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากปัจจัยช่วงเวลา ฤดูกาล ถูกคำนวณเป็นสำรองไฟฟ้าแต่ไม่ใช่สำรองไฟฟ้าที่แท้จริง 

"ความจริงแล้วการสำรองไฟฟ้าจริง ๆ มีประเด็นตลอด โดยแแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ที่กำหนดการจัดหาพลังงานไฟฟ้า 20 ปี ซึ่งกระทรวงพลังงานก็ต้องเตรียมการไว้ เพื่อก้าวเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ดังนั้น การจะต้องมีการเปิดทำไฟฟ้าพลังงานสะอาดเป็นเรื่องที่จำเป็น การสำรองไฟ ไฟสะอาด หากไม่มีไฟตลอดเวลาจำเป็นต้องสำรองไว้ ตรงนี้ก็ต้องสำรองเพื่อความมั่นคงในอนาคต"

นายกุลิศ กล่าวอีกว่า หากจะให้ค่าไฟฟ้ามีราคาต่ำกว่า 4 บาทต่อหน่วยนั้น ถ้าดูแผน PDP ก่อนหน้านี้ การนำเข้าก๊าซ LNG ในช่วงนั้นถูกมาก โดยปี 2562-2563 อยู่ที่ระดับ 6-7 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู กระโดดมาอยู่ที่ 40-50 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียูจากปัจจัยเศรษฐกิจฟื้นตัวหลังโควิด-19 ระบาด 

รวมถึงสงครามรัสเซียและยูเครน ดังนั้น ต้นทุนฐานไม่ได้มีการกระทบแต่ค่า Ft กระทบกับราคาค่าไฟที่แพงขึ้น เพราะมาจากต้นทุนเชื้อเพลิง LNG ในช่วงตอนปลายปี 2565 ที่มีราคาแพงมาก 

ซึ่งตอนนี้พยายามคำนวณในราคาที่ลดลงมาที่ 19-20 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้กำชับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จัดหาให้ได้ในราคา 13-15 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียูในรอบหน้า เพื่อทำให้ราคาลดลง