zero-carbon

นักกิจกรรมรวมตัวรณรงค์ลดโลกร้อน เนื่องในวันคุ้มครองโลก 22 เม.ย.

    นักสิ่งแวดล้อมรวมตัวกันที่อังกฤษ เรียกร้องการเร่งดำเนินมาตรการลดภาวะโลกร้อน ขณะอาสาสมัครทั่วโลกร่วมกันปลูกต้นไม้-เก็บขยะ เพื่อฉลอง 54 ปีวันคุ้มครองโลก 22 เม.ย.

 

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า กิจกรรมวันคุ้มครองโลก ซึ่งตรงกับวันเสาร์นี้ (22 เม.ย.) มีขึ้นหลังจากทั่วโลกเผชิญสภาพอากาศที่รุนแรง โดย อุณหภูมิพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ในประเทศไทย และเกิด คลื่นความร้อน ที่รุนแรงในอินเดีย ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 13 คนจากโรคลมแดดในสัปดาห์ที่ผ่านมา

นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศเตือนว่า อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกอาจแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปีนี้หรือปีหน้า (พ.ศ.2566 หรือ 2567)

 อารีบา ฮามิด ผู้อำนวยการบริหารร่วมขององค์กรกรีนพีซสหราชอาณาจักรกล่าวเมื่อวันศุกร์ (21 เม.ย.) ว่า ผลกระทบของสภาพอากาศที่แปรปรวนและรุนแรงได้เกิดขึ้นที่นี่แล้ว ขณะที่บรรดานักเคลื่อนไหวด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจำนวนหนึ่งได้เดินขบวนไปตามถนนนอกอาคารรัฐสภาของอังกฤษ บางคนแต่งกายด้วยเครื่องแต่งกายสีเขียวและทาร่างกายด้วยสีเขียว ซึ่งเป็นสีที่สื่อแทนถึงสิ่งแวดล้อมโลก

อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกอาจแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปีนี้หรือปีหน้า (พ.ศ.2566 หรือ 2567)

ฮามิดกล่าวว่า เมื่อเธอเดินทางไปเยือนเมืองเดลีบ้านเกิดของเธอ เธอรู้สึกเหมือนเอาศีรษะใส่เข้าไปในเตาอบ และภาวะคลื่นความร้อนในลอนดอนเมื่อปีที่ผ่านมา (2565) นั้นก็เหมือนกับ "ภาพยนตร์ดิสโทเปีย" ซึ่งเป็นหนังประเภทที่พูดถึงความกลัวในอนาคต

"เราไม่สามารถทนได้อีกต่อไปแล้ว" ฮามิด จากกลุ่มกรีนพีซอังกฤษกล่าว

นักเคลื่อนไหวที่นำโดยกลุ่ม Extinction Rebellion รวมตัวกันในกรุงลอนดอนเพื่อเริ่มปฏิบัติการรณรงค์เป็นเวลา 4 วัน ซึ่งเรียกว่าแคมเปญ "The Big One" เนื่องในวันคุ้มครองโลก

โดยประชาชนประมาณ 30,000 คนได้ลงชื่อเข้าร่วมการชุมนุมและการเดินขบวนที่เป็นมิตรกับครอบครัว และนับเป็นการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ของกลุ่มที่ขึ้นชื่อเรื่อง “ยุทธวิธีก่อกวน” ซึ่งรวมถึงการปิดกั้นถนน ขว้างปาสี และทุบหน้าต่าง

ทั้งนี้ ทั่วโลกมีกิจกรรมมากมายเนื่องในวันคุ้มครองโลก 22 เมษายนนี้ โดยมีการวางแผนจัดงานตั้งแต่ในกรุงโรม ประเทศอิตาลี และเมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา รวมไปถึงแคมเปญการทำความสะอาดครั้งใหญ่ที่ทะเลสาบดาล (Lake Dal) ในเมืองศรีนาการ์ของอินเดีย และที่เมืองเคปคอรัล (Cape Coral) ที่เคยโดนพายุเฮอริเคนพัดถล่มในรัฐฟลอริดา เป็นต้น

ทั่วโลกต้องเตรียมรับมือกับอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกที่จะสูงขึ้นทำสถิติใหม่ในปีนี้

โลกร้อน...แนวโน้มมีแต่จะร้อนขึ้น

นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศ ออกโรงเตือนว่าทั่วโลกต้องเตรียมรับมือกับอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกที่สูงขึ้นทำสถิติใหม่ในปีนี้หรือในปีหน้า เนื่องจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศผิดธรรมชาติ บวกกับการกลับมาของปรากฏการณ์เอลนีโญ

สำนักงานตรวจสอบสภาพภูมิอากาศของยุโรป Copernicus Climate Change Service (C3S) เผยแพร่รายงานเมื่อวันพฤหัสบดี (20 เม.ย.) ว่า หลังจากรูปแบบสภาพอากาศจากปรากฏการณ์ลานีญาที่เกิดขึ้นร่วม 3 ปีในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งทำให้อุณหภูมิโลกลดต่ำลงเล็กน้อย ตอนนี้โลกต้องเตรียมเผชิญกับการกลับมาของปรากฎกรณ์เอลนีโญขั้วตรงข้ามในช่วงปลายปีนี้เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ปรากฏการณ์เอลนีโญเป็นวัฏจักรตามธรรมชาติที่กระแสลมเลียบฝั่งตะวันตกจากเส้นศูนย์สูตรเคลื่อนตัวช้าลง และทำให้กระแสน้ำอุ่นไหลไปทางตะวันออก นำไปสู่ภาวะที่อุณหภูมิผิวน้ำในมหาสมุทรอุ่นขึ้น

คาร์โล บูออนเทมโป ผู้อำนวยการสำนักงานตรวจสอบสภาพภูมิอากาศของยุโรป กล่าวว่า “เอลนีโญมักเกี่ยวข้องกับอุณหภูมิที่สูงทำสถิติไปทั่วโลก ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในปีนี้หรือปีหน้า”

ด้านฟรีเดอริก ออตโต อาจารย์จากสถาบัน Grantham Institute แห่ง Imperial College London ให้ความเห็นกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า สภาพอากาศในปรากฏการณ์เอลนีโญจะทำให้เกิดคลื่นความร้อน ภัยแล้ง และไฟป่าที่รุนแรง

อาจารย์จาก Imperial College London บอกว่า “หากเอลนีโญเกิดขึ้น มีโอกาสสูงที่ปีนี้ (2023) จะร้อนกว่าปี 2016 – หากพิจารณาว่าโลกจะร้อนขึ้นต่อเนื่องเมื่อมนุษย์ยังคงใช้พลังงานฟอสซิลต่อไป”

ทั้งนี้ ปี 2016 ยังถือว่าเป็นปีที่อากาศร้อนที่สุดในโลก ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับช่วงเวลาที่เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญรุนแรง แม้ว่าปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงผิดธรรมชาติจะเป็นปัจจัยเร่งให้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงแบบสุดขั้วในปีที่ไม่มีปรากฏการณ์เหล่านี้ก็ตาม

อย่างเมื่อปีที่ผ่านมา (2565) ยุโรปเผชิญกับอากาศร้อนจัดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่พื้นที่อื่น ๆ อย่างปากีสถาน กลับเผชิญกับน้ำท่วมใหญ่ในเดือนกุมภาพันธ์