CPAC กระตุ้นอุตสาหกรรมก่อสร้างเพิ่มประสิทธิภาพ มุ่งสู่ NET ZERO

21 มี.ค. 2566 | 16:42 น.
อัปเดตล่าสุด :21 มี.ค. 2566 | 16:56 น.

CPAC Green Solution ระดมสมอง ภาครัฐ-เอกชน หาแนวทาง พร้อมกระตุ้นอุตสาหกรรมก่อสร้าง สร้างสรรค์งานประสิทธิภาพ ผ่านการออกแบบ การเลือกใช้วัสดุ และเทคโนโลยี ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างอุตสหากรรมยั่งยืนมุ่งสู่ NET ZERO

จากการจัดงาน CPAC Green Solution จัดงาน Thailand: The New Chapter of Green Construction Forum 2023 รวมพลังสร้างการเปลี่ยนแปลง สู่อุตสาหกรรมก่อสร้างสีเขียวอย่างยั่งยืน นายชนะ ภูมี Vice President Sustainability SCG กล่าวว่า เป็นการสร้างความตระหนักและกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลักดันภาคการก่อสร้างของประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุด ให้สอดคล้องกับนโยบายของประเทศและระดับโลก

CPAC กระตุ้นอุตสาหกรรมก่อสร้างเพิ่มประสิทธิภาพ มุ่งสู่ NET ZERO

สำหรับ SCG ตั้งเป้าหมายระยะยาวในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)ในปี 2050 สำหรับธุรกิจซีเมนต์ได้ใช้แนวทางในการลดก๊าซเรือนกระจกตาม 7 Levers ในThailand Net Zero Cement & Concrete Roadmap 2050 ที่ได้รับการสนับสนุนจาก Global Cement & Concrete Association (GCCA) ซึ่งหนึ่งใน Lever สำคัญที่จะลดก๊าซเรือนกระจก คือ Efficiency in Design and Construction โดยการเพิ่มประสิทธิภาพของการก่อสร้างผ่านการออกแบบ การใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการใช้เทคโนโลยีการก่อสร้างสมัยใหม่ เป็นต้น

“SCG มองเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) เป็นเรื่องระยะยาว และไม่ใช่แค่ SCG ที่ทำ แต่เราพยายามพา Stakeholders และร่วมมือกับทุกภาคส่วนมุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกันตามแนวทาง ESG 4 Plus ได้แก่  1.มุ่งNet Zero 2.Go Green 3.Lean เหลื่อมล้ำ และ 4.ย้ำร่วมมือ” นายชนะ กล่าว

 

ด้าน ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า อุตสาหกรรมก่อสร้างเปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เนื่องจากอุตสาหกรรมก่อสร้างเป็นภาคส่วนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 105 ล้านตัน หรือ 28% ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของประเทศไทยในปี 2562 (ค.ศ.2019) ในขณะที่อุตสาหกรรมก่อสร้างทั่วโลกปล่อยก๊าซเรือนกระจกเฉลี่ยอยู่ที่ 39% หากอุตสาหกรรมก่อสร้างไม่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ การที่จะเปลี่ยนประเทศไทยให้เป็นสังคมคาร์บอนต่ำก็แทบจะเป็นไปไม่ได้ 

นอกจากนี้ การเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศ (Climate change) เป็นประเด็นสำคัญที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ ภายใต้ความตกลงปารีส (Paris Agreement) ทุกประเทศ รวมถึงประเทศไทยตั้งเป้าไม่ให้อากาศสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส จากเป้าหมายเดิมอยู่ที่ 2 องศาเซลเซียส 

 

“งานวันนี้จึงถือเป็นก้าวสำคัญที่เน้นย้ำความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการลดการปล่อยคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันให้ประเทศไทยมุ่งสู่ Net Zero ในปี 2593 (2050) ได้สำเร็จ และคงขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยให้เท่าเทียมหรือนำหน้าประเทศอื่น เพื่อสร้างความแข็งแกร่งและความมั่นคงให้ประเทศเรา” ดร.พิรุณกล่าว

 

ดร.แอนดรูว์ มินสัน Concrete and Sustainable Construction Director จากGlobal Cement and Concrete Association (GCCA) กล่าวว่า ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับการผลักดันเรื่องนี้เป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมซีเมนต์และคอนกรีตที่ได้จัดทำ Net Zero Roadmap สำเร็จเป็นประเทศแรกของโลก พร้อมทั้งได้นำเสนอรายละเอียดแนวทางการลดคาร์บอนเพื่อมุ่งสู่ Net Zero ตาม 7 Levers ของ GCCA พร้อมทั้งชี้ให้เห็นถึงบทบาทของผู้เกี่ยวข้องในงานก่อสร้างที่จะช่วยผลักดันไปสู่การก่อสร้างสีเขียว

 

นอกจากนี้ ในงานมีการจัดเสวนาในหัวข้อ “How to execute green construction in Thailand” โดยมี รศ.ดร.สมิตร  ส่งพิริยะกิจ ประธานสาขาวิศวกรรมโยธาวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์, นายสุเมธ มีนาภา รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง, นางสาวลิซ่า งามตระกูลพานิช นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และ นายชูโชค ศิวะคุณากร Head of Environment Social Governance & Business Stakeholder Engagement บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้ร่วมเสวนา 

 

ดร.สมิตร กล่าวว่า อุตสาหกรรมก่อสร้างของไทยเริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องของสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังหลังการประชุม COP26 โดยมีการออกข้อกำหนดการก่อสร้าง(Building Code) เช่น ข้อกำหนดด้านโครงสร้างคอนกรีต และข้อกำหนดด้านโครงสร้างเหล็ก ข้อกำหนดด้านวัสดุ เป็นต้น นอกจากนี้ ทางวิศวกรรมสถานฯกำลังเร่งทำเรื่อง High Performance Concrete ให้เสร็จปีนี้ เพื่อส่งเสริมการใช้วัสดุที่มีคุณสมบัติที่ดีและปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยลง

 

นายสุเมธ กล่าวว่า ทางกระทรวงมหาดไทยให้การสนับสนุนกิจกรรมต่างๆที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนอย่างเต็มที่ โดยพยายามเข้าไปมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนร่วมกับภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม ความท้าทายในฐานะผู้ออกกฎกระทรวงเพื่อกำกับดูแล คือ จะทำอย่างไรให้การออกกฎหมายสอดคล้องและก้าวทันกับเทคโนโลยีใหม่ๆ เพราะปกติการออกกฎหมายแต่ละฉบับจะใช้เวลาค่อนข้างนาน เพราะทางกระทรวงฯ ต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน เนื่องจากกฎหมายจะมีผลบังคับใช้ทั่วประเทศและมีผลกระทบในวงกว้างครอบคลุมตั้งแต่รายย่อยถึงรายใหญ่ 

 

นางสาวลิซ่า กล่าวถึง ความท้าทายหลัก 3 ประการที่ทำให้การผลักดันเรื่องสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมก่อสร้างให้เป็นรูปธรรมช้ากว่าที่ควร ได้แก่ 1.ความท้าทายด้านการเงิน ต้นทุนในการก่อสร้างแบบกรีนมักจะสูงกว่าต้นทุนการก่อสร้างแบบทั่วไป 2. ความท้าทายด้านการศึกษา บุคลากรในวงการก่อสร้างมักขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องของวัสดุก่อสร้าง ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสถาบันการศึกษาพัฒนาบุคลากรไม่ทันกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ และ 3.ความท้าทายด้านความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน ที่ผ่านมาทางภาครัฐมักออกกฎระเบียบเพื่อควบคุม แต่ไม่มีมาตรการเชิงบวกในการจูงใจคนให้ลงทุนกับเรื่องนี้ เช่น การลดภาษีสำหรับโครงการก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น 

 

นายชูโชค กล่าวว่า อุตสาหกรรมก่อสร้างของไทยมีมูลค่าประมาณ 1 ล้านล้านบาทต่อปี โดยมูลค่าของของเสีย (Waste) จะอยู่ที่ 10-30% หรือเฉลี่ยสองแสนล้านบาทต่อปี หาก Turn Waste To Value ได้ ก็จะเป็นการสร้างมูลค่ามหาศาล  ทั้งในแง่ของรายได้และสิ่งแวดล้อม ซึ่งการยกระดับอุตสาหกรรมก่อสร้างของไทย เพื่อมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ สามารถทำได้โดยการก่อสร้างที่เน้นทำงานนอกไซต์งาน เพื่อลดระยะเวลาและสามารถควบคุมคุณภาพให้ได้มาตรฐาน การทำงานแบบ Modularity คือ การทำงานแบบแยกส่วนงานแล้วเข้ามาต่อเชื่อมที่หน้างาน การนำ Digital และ Technology เข้ามาช่วยลดความผิดพลาด และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานก่อสร้าง สร้างความเชื่อมโยงในการทำงานร่วมกัน และสุดท้ายคือการยกระดับทักษะ ทั้งผู้ที่ทำงานอยู่ในปัจจุบันและนักศึกษาที่จะเติบโตขึ้นมาในอนาคต นอกจากนี้ควรสร้างความสมดุลระหว่างภาคธุรกิจและสิ่งแวดล้อมให้ไปด้วยกันได้ และต้องเน้นที่การลงมือทำให้เกิดขึ้นจริง

 

จากนั้นในช่วง Showcase Implementation : Innovation in Green Construction โดย นางสาววลัย เจริญพันธ์ BIM & Digital Advisory Lead บริษัท โอฟ อาหรุบ(ประเทศไทย) จำกัด บริษัทที่ปรึกษาและออกแบบชั้นนำระดับโลกได้ยกตัวอย่างการนำนวัตกรรมไปใช้ผ่านกรณีศึกษาในต่างประเทศ เช่น โครงการ Shougang Industry Services Park ในประเทศจีน ซึ่งเป็น Climate Positive โครงการแรกในประเทศจีน มีการออกแบบให้เป็น Net Zero ทั้งภายในและบริเวณรอบนอกโครงการ และมีการวางระบบให้เป็น Sponge City ไม่ปล่อยน้ำที่มีการปนเปื้อนลงในแม่น้ำ หรือโครงการ AIRSIDE ในฮ่องกง ที่ทาง โอฟ อาหรุบ เป็นผู้ออกแบบโดยคำนึงถึงเรื่อง well-being และมีการใช้เทคโนโลยี Digital Twin เข้ามาใช้ในการบริหารโครงการ เป็นต้น

 

ด้าน ดร.กฤษฎา ศรีสมพร Green Construction Group Leader บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ จำกัด ขึ้นเวทีพูดถึงนวัตกรรมเพื่อรองรับการเป็น Green Construction โดยยกกรณีศึกษาสะพานเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งออกแบบและก่อสร้างด้วยเทคโนโลยีUHPC (Ultra-high Performance Concrete) 3D Printing และ BIM (Building Information Modeling) จนกลายเป็นสะพานคอนเกรีตที่บางที่สุดแห่งแรกในประเทศไทยและอาเซียน 

 

แม้ว่าประเทศไทยจะยังต้องเจอความท้าทายอีกมากมาย เพื่อบรรลุเป้าหมายในการเป็นสังคมคาร์บอนต่ำและ Net Zero ตามที่ประกาศไว้ แต่ก็เป็นจังหวะเวลาที่เหมาะสมที่ทุกภาคส่วนจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลก และมีส่วนร่วมกับจุดยืนของประเทศไทยต่อประชาคมโลกในการยกระดับเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 (2050) เพื่อให้บรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี2608 (2065) ในทุกสาขา ควบคู่ไปกับการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนและรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันระดับนานาชาติ

 

 

มาตรฐานข้อกำหนดและข้อแนะนำระดับองค์กร การวัดปริมาณและการรายงานผลการปลดปล่อย และลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก มาตรฐานแนวทางการหาปริมาณคาร์บอนฟุตพริ๊นท์  มาตรฐานแนวทางการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมาตรฐานสำหรับหน่วยตรวจสอบความใช้ได้และทวนสอบก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น เพื่อขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดยผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการของไทยนำมาตรฐานดังกล่าวไปใช้ เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม