zero-carbon

กระทรวงอุตสาหกรรม-สตช.ลุยปราบการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม

    กระทรวงอุตสาหกรรม-สตช.ลุยปราบการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม พร้อมเดินหน้สาแก้กฏหมายโรงงานเพิ่มโทษคุก ขยายอายุความนาน 10 ปี เร่งตั้งกองทุนดูแลชุมชนรับมือโรงงานไม่ดี

นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการดำเนินการร่วมมือว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ว่า เพื่อเป็นยกระดับขีดความสามารถในการบังคับใช้กฎหมายแก้ปัญหาการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม ร่วมกันตรวจสอบโรงงานต้องสงสัยที่มีแนวโน้มเสี่ยงลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม การกระทำอื่น 

รวมถึงเพื่อนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษและชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นต่อส่วนรวม โดยปัจจุบันประเทศไทยมีโรงงานรวม 73,382 โรงงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงงานที่ดี แต่ยังมีโรงงานส่วนน้อยที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม จนส่งผลกระทบต่อประชาชน สิ่งแวดล้อม และภาพลักษณ์ของภาคอุตสาหกรรมทั้งระบบ 

พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า สตช. โดยสถานีตำรวจทั่วประเทศ 1,483 แห่ง พร้อมให้ความร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรม จะดำเนินการตรวจสอบพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ทั่วไปที่มีเบาะแสหรือเป็นพื้นที่สุ่มเสี่ยงต่อการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม สืบสวน สอบสวน รวบรวมพยานหลักฐานที่จำเป็นต่อการดำเนินคดี เพื่อให้ผู้กระทำความผิดได้รับการลงโทษตามกฎหมาย 

นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) กล่าวว่า ปัจจุบันกรมโรงงานฯ ใช้ระบบไอทีกำกับดูแลการกำจัดกากอุตสาหกรรมทั้งระบบ มีจำนวน 23 ล้านตัน จำนวนนี้เป็นกากอันตราย 1.5 ล้านตัน พบมีผู้ฝ่าฝืนกฎหมาย ลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมอยู่เป็นระยะ ทั้งในพื้นที่เอกชน บ่อดินเก่า และที่รกร้างว่างเปล่า

กระทรวงอุตสาหกรรม-สตช.ลุยปราบปรามการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมไม่ต่ำกว่า 78 ครั้ง กระทบชุมชน สิ่งแวดล้อม เฉพาะปี 2565 มากถึง 12 ครั้ง ซึ่งเจ้าหน้าที่กรมโรงงานฯพยายามเข้าดำเนินการตามกฎหมายแต่กลับเจอกลุ่มอิทธิพล ข่มขู่เจ้าหน้าที่ จึงจำเป็นต้องขอความร่วมมือจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการจัดการ

ขณะเดียวกัน กรอ. จะเร่งปรับปรุงกฎหมายให้เข้มข้น โดยจะออกประกาศกระทรวงขยายการเอาผิดการลักลอบทิ้งกากไปยังโรงงานต้นกำเนิด ไม่เฉพาะโรงงานที่รับกำจัด และจะเดินหน้าปรับปรุงพ.ร.บ.โรงงาน ใน 2 ส่วนหลัก คือ 

การเสนอจัดตั้งกองทุนอุตสาหกรรมดูแลชุมชนและสิ่งแวดล้อมรอบพื้นที่โรงงาน เพื่อใช้เยียวยายามโรงงานกระทำผิด โดยแหล่งเงินจะมาจากงบประมาณรัฐ ซึ่งอยู่ระหว่างเสนอของบประมาณ 2567 วงเงิน 60 ล้านบาท เป็นขอครั้งเดียว จากนั้นจะใช้เงินจากค่าธรรมเนียมโรงงาน และเงินเปรียบเทียบค่าปรับจากโรงงานที่ทำผิด 

นอกจากนี้จะเพิ่มโทษโรงงานต้นกำเนิดกาก ให้เข้มข้นเท่ากับพ.ร.บ.วัตถุอันตราย จากโทษปรับ 2 แสน คดีอายุความ 1 ปี เป็นเพิ่มโทษจำคุก 1 ปี คดีอายุความ 10 ปี เท่ากับโทษตามพร.บ.วัตถุอันตราย เพื่อให้การจัดการปัญหากากอุตสาหกรรมเข้มข้นครอบคลุมทั้งระบบ