energy

เปิด 3 แนวทางการคำนวณค่าไฟงวด พ.ค.-ส.ค. ก่อนปรับราคา

    เปิด 3 แนวทางการคำนวณค่าไฟงวด พ.ค.-ส.ค. ก่อนปรับราคา ระบุเป็นทางเลือกในการจ่ายคืนภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริง กฟผ. ในอัตรา 293.60 ,105.25 และ 98.27 สตางค์ต่อหน่วย

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด กกพ. มีมติรับทราบภาระต้นทุนค่าเอฟทีประจำรอบ ก.ย. - ธ.ค. 2565 และเห็นชอบผลการคำนวณประมาณค่าเอฟทีสำหรับงวดเดือน พ.ค. - ส.ค. 2566 

พร้อมให้สำนักงาน กกพ. นำค่าเอฟทีประมาณการและแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไปรับฟังความคิดเห็นในกรณีต่างๆ ดังนี้  
    

  • กรณีที่ 1 (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 1 งวด) ค่าเอฟทีเรียกเก็บประจำงวดเดือน พ.ค. - ส.ค. 2566 จำนวน 293.60 สตางค์ต่อหน่วย แบ่งเป็นเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน พ.ค.- ส.ค. 2566 จำนวน 63.37 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชดเชยต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. ทั้งหมด หรือเงินภาระต้นทุนคงค้างสะสมเดือน ก.ย. 2564 – ธ.ค. 2565 จำนวน 150,268 ล้านบาท คิดเป็น 230.23 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 6.72 บาทต่อหน่วย ตามรายงานการคำนวณตามสูตรเอฟที
  • กรณีที่ 2 (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 5 งวด) ค่าเอฟทีเรียกเก็บประจำงวดเดือน พ.ค. - ส.ค. 2566 จำนวน 105.25 สตางค์ต่อหน่วย แบ่งเป็นเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน พ.ค.- ส.ค. 2566 จำนวน 63.37 สตางค์ต่อหน่วย และเงินทยอยเรียกเก็บเพื่อชดเชยต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงที่คาดว่าจะคงเหลือจากเดือน ม.ค. – เม.ย. 2566 จำนวน 136,686 ล้านบาท บางส่วน (เงินภาระต้นทุนคงค้างสะสมเดือน ก.ย. – ธ.ค. 2565 หักภาระต้นทุนคงค้างที่ กกพ. เห็นชอบให้ทยอยเรียกเก็บบางส่วนเดือน ม.ค. – เม.ย. 2566 จำนวน 22.22 สตางค์ต่อหน่วย เป็นเงินประมาณ 13,584 ล้านบาท) โดยแบ่งเป็น 5 งวดๆละ 27,337 ล้านบาทหรืองวดละ 41.88 สตางค์ต่อหน่วยเพื่อให้ กฟผ. ได้รับเงินคืนครบภายในเดือน ธ.ค. 2567 โดย กฟผ. จะต้องบริหารภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงแทนประชาชนจำนวน 109,349 ล้านบาท ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.84 บาทต่อหน่วย ตามข้อเสนอของ กฟผ.

3 แนวทางปรับค่าไฟตามสูตรการปรับค่า FT

  • กรณีที่ 3 (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 6 งวด) ค่าเอฟทีเรียกเก็บประจำงวดเดือน พ.ค. - ส.ค. 2566 จำนวน 98.27 สตางค์ต่อหน่วย  แบ่งเป็นเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน พ.ค.- ส.ค. 2566 จำนวน 63.37 สตางค์ต่อหน่วย และเงินทยอยเรียกเก็บเพื่อชดเชยต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงคาดว่าจะคงเหลือจากเดือน ม.ค. – เม.ย. 2566 จำนวน 136,686 ล้านบาท บางส่วน โดยแบ่งเป็น 6 งวดๆ ละ 22,781 ล้านบาทหรืองวดละ 34.90 สตางค์ต่อหน่วยเพื่อให้ กฟผ. ได้รับเงินคืนครบภายใน 2 ปี (เม.ย. 2568) โดย กฟผ. จะต้องบริหารภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงแทนประชาชนจำนวน 113,905 ล้านบาท ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.77 บาทต่อหน่วย

นายคมกฤช กล่าวอีกว่า การประมาณการค่าไฟฟ้าดังกล่าวเป็นไปตามประกาศ กกพ. เรื่อง กระบวนการ และขั้นตอนการใช้สูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ โดยมีสมมุติฐานและปัจจัยในการพิจารณาค่าเอฟทีในรอบเดือน พ.ค. - ส.ค. 2566 ตามการประมาณราคาก๊าซจาก ปตท. และผลการคำนวณค่าเอฟทีของ กฟผ. โดยมีปัจจัยที่สำคัญๆ ดังต่อไปนี้

  • การจัดหาพลังงานไฟฟ้าในช่วงเดือน พ.ค. – ส.ค. 2566 เท่ากับประมาณ 72,220 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้น 4,387 ล้านหน่วยจากประมาณการงวดก่อนหน้า (เดือน ม.ค. – เม.ย. 2566) ที่คาดว่าจะมีการจัดหาพลังงานไฟฟ้าเท่ากับ 67,833 ล้านหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 6.47%
  • สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าในช่วงเดือน พ.ค. – ส.ค. 2566 ยังคงใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก 57.80% ของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด นอกจากนี้เป็นการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ (ลาวและมาเลเซีย) รวม 17.34% ลิกไนต์ของ กฟผ. 7.89% เชื้อเพลิงถ่านหินนำเข้าโรงไฟฟ้าเอกชน 7.13% พลังน้ำของ กฟผ. 2.74% น้ำมันเตา (กฟผ. และ IPP) 0.84% น้ำมันดีเซล (กฟผ. และ IPP) 0.03% และอื่นๆ อีก 6.23% โดยประมาณการการใช้ก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นถึง 6.75% จากรอบเดือน ม.ค. – เม.ย. 2566 เพื่อรองรับการใช้ LNG เพิ่มมากขึ้นจากแนวโน้มราคา LNG ในตลาดโลกที่มีราคาลดเพื่อทดแทนการใช้น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาในการผลิตไฟฟ้าในช่วงวิกฤตราคา LNG
  • ราคาเชื้อเพลิงเฉลี่ยที่ใช้ในการคำนวณค่าเอฟทีเดือน พ.ค. – ส.ค. 2566 เปลี่ยนแปลงจากการประมาณการในเดือน ม.ค.– เม.ย. 2566 โดยราคาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้ามีการปรับตัวลดลงอย่างมากโดยเฉพาะราคา LNG ในตลาดจร ที่ลดลงจาก 29.6 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียูเป็น 19-20 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ราคาถ่านหินนำเข้าเฉลี่ยของเอกชนปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยและราคาถ่านหินลิกไนต์ของ กฟผ. ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากค่าใช้จ่ายต้นทุนทำเหมืองลิกไนต์ของ กฟผ. ที่ปรับเพิ่มขึ้น ในขณะที่ราคาน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาปรับตัวลดลงเล็กน้อยในรอบเดือน พ.ค. – ส.ค. 2566
  • อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยที่ใช้ในการประมาณการ ซึ่งใช้อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ย 1 เดือนย้อนหลังก่อนทำประมาณการ (1 – 31 ม.ค. 2566) เท่ากับ 33.23 บาทต่อเหรียญสหรัฐ อ้างอิงข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นฐานซึ่งแข็งค่าขึ้นจากประมาณการในงวดเดือน ม.ค. - เม.ย. 2566 ที่ประมาณการไว้ที่ 35.68 บาทต่อเหรียญสหรัฐซึ่งลดลง 2.45 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

สรุปสมมุติฐานที่ใช้การประมาณการค่าเอฟทีในรอบคำนวณเดือน พ.ค. – ส.ค. 2566  เทียบกับการคำนวณในปีฐาน พ.ค. – ส.ค. 2558 และรอบประมาณการค่าเอฟทีเดือน ม.ค. – เม.ย. 2566 แสดงในตารางดังนี้  

สรุปสมมุติฐานที่ใช้การประมาณการค่าเอฟที

              
นายคมกฤช กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการพิจารณาค่าเอฟทีในงวดเดือน พ.ค. - ส.ค. 2566 เป็นการประมาณการค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นโดยอ้างอิงจากข้อมูลจริงเฉลี่ยในเดือน มกราคม 2566 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สถานการณ์ราคาพลังงานในตลาดโลกอยู่ในช่วงขาลง ปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยทยอยเข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้น และค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น 

กกพ. จะรับฟังความเห็นการทยอยคืนภาระค่าต้นทุนคงค้างให้กับ กฟผ. โดยยังคงสามารถรักษาระดับค่าไฟฟ้าในอัตราที่เหมาะสมเพื่อให้ กฟผ. มีสภาพคล่องทางการเงินที่ดีขึ้นพร้อมรองรับสถานการณ์พลังงานโลกและอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังคงมีความผันผวนอย่างรุนแรง จากสถานการณ์รัสเซียยูเครน จากสถานการณ์การกดดันจากประเทศมหาอำนาจในด้านต่างๆ บนเวทีโลก และจากความต้องการพลังงานที่จะเพิ่มมากขึ้นในช่วงปลายปี 

"สำนักงาน กกพ. จะดำเนินการรับฟังความคิดเห็นค่าเอฟทีสำหรับการเรียกเก็บในรอบเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2566 ทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 10 – 20 มีนาคม 2566 ก่อนที่จะมีการสรุปและประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป"