เฮ!ค่าไฟงวดเดือน พ.ค.-ส.ค. จ่อราคาลดลง

07 มี.ค. 2566 | 08:04 น.
อัปเดตล่าสุด :07 มี.ค. 2566 | 08:04 น.
1.1 k

เฮ!ค่าไฟงวดเดือน พ.ค.-ส.ค. จ่อราคาลดลง จับตาที่ประชุมบอร์ด กกพ. เคาะค่า Ft ส่งสัญญาณข่าวดีต้นทุนต่างปรับตัวลดลง ทำให้ค่าไฟเฉลี่ยภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมต่ำกว่า 5 บาท

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า วันที่ 8 มี.ค. 66 บอร์ด กกพ. จะมีการประชุมพิจารณาสรุปตัวเลขค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือค่าเอฟที (Ft) งวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 66

ก่อนเปิดรับฟังความเห็นเพื่อที่จะประกาศใช้อย่างเป็นทางการต่อไป โดยเบื้องต้นนับเป็นข่าวดีที่ค่า Ft ในงวดนี้มีทิศทางที่ปรับตัวลดลงจากปัจจัยต่างๆ ในการคำนวณต้นทุนที่มีทิศทางที่ดีขึ้นจากงวดก่อน (ม.ค.-เม.ย. 66) 

ทั้งนี้ ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยงวด ม.ค.-เม.ย. 66 สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยอยู่ที่อัตรา 4.72 บาทต่อหน่วย ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่น (ธุรกิจ อุตสาหกรรม บริการฯลฯ) ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 5.33 บาทต่อหน่วย 

อย่างไรก็ดี จากการคำนวณเบื้องต้นค่าไฟฟ้าเฉลี่ยงวด พ.ค.-ส.ค. 66 จะลดลงโดยเฉลี่ยจะต่ำกว่า 5 บาทต่อหน่วยในส่วนของค่าไฟประเภทอื่นๆ และค่าไฟอาจจะกลับมาเป็นอัตราเดียวกันเช่นที่ผ่านมา 

ส่วนจะเท่ากับบ้านหรือลดต่ำลงอีกหรือไม่ อย่างไรจะต้องรอผลการประชุมวันที่ 8 มี.ค.นี้

สำหรับปัจจัยในการคำนวณค่า Ft ได้แก่ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นโดยงวดที่ผ่านมาเฉลี่ยอยู่ที่ 37 บาทต่อเหรียญสหรัฐ แต่ขณะนี้อัตราค่าเงินบาทแตะระดับราว 34-35 บาทต่อเหรียญสหรัฐซึ่งเป็นผลดีต่อค่า Ft ค่อนข้างมาก 

รวมไปถึงราคาน้ำมันที่อ่อนตัวลง แต่สิ่งสำคัญคือราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่เป็นตัวแปรสำคัญที่กระทบต่อค่า Ft ในงวด ม.ค.-เม.ย. 66 ค่อนข้างมากทั้งในแง่ปริมาณการนำเข้าที่สูงเพื่อทดแทนปริมาณก๊าซอ่าวไทยที่ลดลง 

และด้านราคาซึ่งงวดที่แล้ว ราคา LNG อยู่ที่กว่า 30 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียูแต่ปัจจุบันเหลือเพียง 10 กว่าเหรียญต่อล้านบีทียู และปริมาณนำเข้าลดต่ำลงเพราะมีการบริหารก๊าซในอ่าวไทยป้อนให้การผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น

บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้บริหารก๊าซในอ่าวไทยและเมียนมาโดยมีการรักษาระดับที่ให้คงกลับมาเท่าเดิม ซึ่งก๊าซฯ เหล่านี้มีราคาต่ำกว่าราคา LNG ที่เป็นราคาตลาดจรจึงเป็นปัจจัยบวกต่อค่า Ft ที่จะดีขึ้นกว่าเดิม 

อย่างไรก็ตามสถานการณ์ต่างๆ ที่เริ่มคลี่คลายก็จำเป็นต้องมองในแง่ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เองได้แบกรับภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงไว้นับแสนล้านบาท กกพ.จึงต้องมองการแบ่งเบาภาระเหล่านี้ให้กับ กฟผ.กลับไปบ้างด้วยเพื่อความเป็นธรรมระหว่างผู้ผลิตกับผู้ใช้อย่างเหมาะสม