BOI รับเทรนด์การลงทุนโลกยุคใหม่ พุ่งเป้าใช้พลังงานหมุนเวียน

01 มี.ค. 2566 | 17:28 น.
อัปเดตล่าสุด :01 มี.ค. 2566 | 17:36 น.

BOI รับเทรนด์การลงทุนโลกยุคใหม่ พุ่งเป้า Green Investment การเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้พลังงานหมุนเวียน ประเทศไทยเตรียมพร้อมจุดแข็งใหม่รองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เปิดเผยในงาน Beyond Tomorrow นวัตกรรม นำอนาคต เรื่อง ยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ว่า ขณะนี้เทรนด์การลงทุนทั่วโลกกำลังเปลี่ยนไป และหันมาให้ความสนใจเรื่องของสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของการใช้พลังงานหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ

เทรนด์ลงทุนของโลกมุ่งสิ่งแวดล้อม

ที่ผ่านมา BOI ได้จัดทำยุทธศาสตร์ด้านการส่งเสริมการลงทุนใหม่ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) เพื่อก้าวไปสู่ยุคที่เรียกว่าเศรษฐกิจใหม่ หลังจากพบว่าเทรนด์ของการลงทุนที่เปลี่ยนไปจากเดิม โดยเฉพาะการการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ Green Investment เพื่อมุ่งไปสู่การส่งเสริมสังคมคาร์บอนต่ำมากขึ้น เช่นเดียวกับกลุ่ม Smart Manufacturing และ Diversified Investment หรือการลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยงของอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ในความต้องการของนักลงทุนนั้น ล่าสุด บีโอไอ เห็นกระแสของความต้องการทางด้านเทรนด์ใหม่ของโลกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกลายมาเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจต่อการเลือกแหล่งลงทุนในอนาคตมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของความสามารถในการจัดหาพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในการดำเนินงาน ซึ่งประเทศไทยถือว่ามีความได้เปรียบ และมีความสามารถในการจัดหาพลังงานสะอาดให้กับภาคอุตสาหกรรมได้

เน้นการสร้างจุดแข็งใหม่ให้ประเทศ

ปัจจุบันการตัดสินใจของนักลงทุน มักมองหาจุดแข็งของประเทศที่จะเข้าไปลงทุนว่าเป็นอย่างไร มีจุดแข็งอะไรใหม่ ๆ หรือไม่ โดยในส่วนของประเทศไทยเองนั้น ที่ผ่านมาได้มีจุดแข็งเดิมที่เป็นฐานการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติมานาน พร้อมสร้างจุดแข็งใหม่ที่สามารถดึงดูดใจนักลงทุนได้ หนึ่งในนั้นคือเรื่องของการจัดหาพลังงานสะอาด รวมไปถึงจุดแข็งอื่น ๆ เช่น 

  • โครงสร้างพื้นฐานคุณภาพสูงและพื้นที่รองรับอุตสาหกรรมในอนาคตบนพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC
  • มาตรการอำนวยความสะดวกด้านวีซ่า ทั้ง LTR Smart Visa และศูนย์ One Stop Service 
  • การมีความยืดหยุ่นเพื่อรองรับวิกฤต โดยแสดงให้เห็นแล้วในช่วงเกิดโควิดที่โรงงานสามารถผลิตได้ต่อเนื่อง

กำหนดอุตสาหกรรมพุ่งเป้ารับอนาคต

บีโอไอ ยังกำหนดยุทธศาสตร์ในการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม โดยยกระดับ “อุตสาหกรรมเดิมที่ไทยมีความโดดเด่น” ควบคู่กับการสร้าง “อุตสาหกรรมใหม่ที่ไทยมีศักยภาพ” และสร้างความเข้มแข็งให้กับ Supply Chain ด้วยการกำหนดให้มีอุตสาหกรรมมุ่งเป้าในช่วง 3 ปีข้างหน้า ซึ่งจะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศ 5 อุตสาหกรรม คือ

  1. อุตสาหกรรม BCG 
  2. อุตสาหกรรม EV 
  3. อุตสาหกรรม Smart  Electronics
  4. อุตสาหกรรม Digital
  5. อุตสาหกรรม Creative

อย่างไรก็ตาม บีโอไอ ยังได้ปรับปรุงสิทธิประโยชน์พิเศษในการรองรับนักลงทุนในอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยเน้นว่าบริษัทใดที่ลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย มีทั้งการพัฒนาคน พัฒนากลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และพัฒนาชมชุน จะได้รับสิทธิประโยชน์จาก บีโอไอ อย่างเต็มที่ หรือเรียกได้ว่า ทำมากก็ได้ผลตอบแทนที่มากขึ้นเช่นกัน