นายสรรชาย นุ่มบุญนำ ผู้จัดการทั่วไป อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการจัดงาน พลาสติกแอนด์รับเบอร์ ไทยแลนด์ 2023: Plastic & Rubber Thailand 2023 ภายใต้แนวคิดการพัฒนาสู่ความยั่งยืน อีกทั้งยังสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน และลดมลพิษในกระบวนการผลิต เพื่อเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในฐานการผลิตพลาสติกและอุตสาหกรรมยางที่สำคัญของโลก ในส่วนของผู้ประกอบการในไทยเองมีความพร้อมในการพัฒนาเทคโนโลยีให้ทันต่อความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป โดยงานดังกล่าวเป็นงานสำคัญของงานแสดงเทคโนโลยีและกระบวนการผลิตพลาสติกและยางที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และภูมิภาคอาเซียน ที่รวบรวมหลายด้านไว้ในงานเดียว
อย่างไรก็ดี ยังได้รวบรวมผู้แสดงสินค้า เทคโนโลยีชั้นนำ และแนวทางการเพิ่มศักยภาพในอุตสาหกรรมการผลิตพลาสติกและยาง อาทิเช่น เทคโนโลยี เครื่องจักร เม็ดพลาสติกและเคมีภัณฑ์ การออกแบบแม่พิมพ์ และชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่างๆ ฯลฯ พร้อมแนะแนวทางแก้ไขปัญหาในการผลิตในงานเดียว
ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้เข้าชมงานในการเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ที่ทันสมัยจากผู้ผลิตโดยตรง ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องมือหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ บรรจุภัณฑ์ การก่อสร้าง อุปกรณ์ทางการเกษตร และอีกมากมาย
นอกจากนี้ ยังมีการจับคู่ธุรกิจพร้อมกับการอัพเดทความรู้ เพื่อนำไปต่อยอดธุรกิจทั้งปัจจุบันและในอนาคต เช่น การผลิตด้วยเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนหรือก๊าซเรือนกระจก การเพิ่มศักยภาพทางการผลิตเพื่อตอบรับนโยบาย บีซีจี โมเดล โดยเป็นความท้าทายครั้งใหม่ที่นักอุตสาหกรรมจะต้องเผชิญและต้องปรับตัวเพื่อเข้าสู่การผลิตแห่งความยั่งยืน
"ภายในงานยังมีสัมมนาในหัวข้อต่างๆ เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจต่อบทบาทการปฏิบัติตนตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ครบจบภายในงานนี้ และยังสามารถนำองค์ความรู้ไปต่อยอดธุรกิจต่อๆไปในอนาคตได้ โดยจัดวันที่ 10-13 พฤษภาคมนี้ที่ไบเทค"
นายวีระ ขวัญเลิศจิตต์ ผู้อำนวยการ สถาบันพลาสติก กล่าวว่า อุตสาหกรรมพลาสติกยังคงเป็นส่วนสำคัญที่สนับสนุนการขยายตัวของอุตสาหกรรมปลายทาง เช่น บรรจุภัณฑ์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ การก่อสร้าง อุปกรณ์ทางการแพทย์ และอีกมากมาย
ด้วยแนวคิด บีซีจี โมเดล ส่งผลต่อผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมพลาสติก ต้องมีการปรับตัว ศึกษาแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนสู่ความยั่งยืน การลดการปล่อยคาร์บอนหรือภาวะเรือนกระจกจากกระบวนการผลิต รวมไปถึงการเลือกใช้วัสดุทางเลือก เช่น พลาสติกชีวภาพ หรือพลาสติกรีไซเคิล
อย่างไรก็ตาม กระบวนการจัดการขยะต้นทาง เพื่อให้ได้ขยะพลาสติกที่มีคุณภาพนั้น ยังคงเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมกันผลักดันอย่างจริงจัง ซึ่งผลลัพธ์จะช่วยเพิ่มโอกาสการแข่งขันในตลาดโลก และยกระดับขีดความสามารถของประเทศไทยสำหรับในอนาคตอันใกล้ที่จะต้องคำนึงถึงมาตรการเรื่อง Net Zero ที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้น
นายวิบูลย์ พึงประเสริฐ นายกสมาคมพลาสติกชีวภาพไทย กล่าวว่า แนวคิดการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio economy) นั้นเกี่ยวพันกับเป้าหมายที่จะนำพาประเทศไทยเป็นผู้นำในการผลิตและจำหน่ายพลาสติกชีวภาพในภูมิภาคอาเซียน โดยปัจจุบันไทยเป็นประเทศที่ผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพสลายตัวได้จากพืชใหญ่เป็นอันดับสองของโลก
อย่างไรก็ดี สมาคมฯ นั้นให้ความสำคัญตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายทางทั้งจากผู้ผลิตน้ำตาลไปยังผู้ผลิตเม็ดและผู้ขึ้นรูปผลิตภัณฑ์จากพลาสติกชีวภาพ เพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าการเกษตรของไทย ขณะเดียวกันยังสามารถช่วยในเรื่องสิ่งแวดล้อมและลด Carbon footprint ของสินค้าลง
อีกทั้งยังช่วยในการบริหารจัดการขยะให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ทางสมาคมฯ ได้เล็งเห็นถึงการนำพาประเทศไทยมุ่งสู่อุตสาหกรรมการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
นายวิเชียร งามสุขเกษมศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท มิตซูบิชิ อิเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ และกลุ่มพันธมิตร ให้ความสำคัญในการนำนวัตกรรม และเทคโนโลยีดิจิทัลมาสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพระบบการผลิต รวมถึงเพื่อร่วมเร่งผลักดันการลดคาร์บอนที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิต โดยเฉพาะอุตสาหกรรมพลาสติกและยางที่จะได้รับผลกระทบจากมาตรการทางภาษีที่เกี่ยวข้อง
"เพื่อมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน และเพิ่มศักยภาพสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันในระดับสากล ดังนั้น งานพลาสติกแอนด์รับเบอร์ ไทยแลนด์ 2023 จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยกระตุ้นให้ภาคธุรกิจหันมาให้ความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพการผลิต โดยใช้โมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียนมาขับเคลื่อน"