zero-carbon
1.8 k

เช็ควิธีการดูแลรักษา "โซลาร์เซลล์" ต้องทำอย่างไร หลังติดตั้ง

    เช็ควิธีการดูแลรักษา "โซลาร์เซลล์" ต้องทำอย่างไร หลังติดตั้ง ทั้งแผง การบำรุงรักษาอุปกรณ์ตัวแปลงกระแสไฟฟ้าและระบบควบคุม และแบตเตอรี่

โซลาร์เซลล์ เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยประหยัด "ค่าไฟ" ซึ่งกำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก 

หลังจากที่ประชาชน และภาคอุตสาหกรรมมีภาระที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือค่าเอฟที (FT) ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น

อย่างไรก็ดี เมื่อทำการตัดสินใจติดตั้ง "โซลาร์เซลล์" เรียบร้อยแล้ว ประเด็นที่สำคัญก็คือการดูแลรักษาจะต้องทำอย่างไร

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบของ "ฐานเศรษฐกิจ" พบว่า วิธีการดูแลโซลาร์เซลล์ ประกอบด้วย

การดูแลรักษาโซลาร์เซลล์ :

แผง "โซลาร์เซลล์" เป็นหัวใจสำคัญในการผลิตพลังงานไฟฟ้า ฉะนั้นผู้ใช้งานควรมีการตรวจสอบดูแลและบำรุงรักษาแผงพลังงานแสงอาทิตย์ ดังนี้

  • ทำความสะอาดคราบสกปรกและฝุ่นที่เกาะบนแผงพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยการล้างด้วยน้ำสะอาดและเช็ดคราบสกปรกออก บางครั้งคราบสกปรกจะเป็นยางหรือมูลนกให้ใช้น้ำเย็นทำล้างและขัดด้วยฟองน้ำ 
     
  • ห้ามใช้แปรงที่มีขนเป็นโลหะทำความสะอาดผิวของแผงพลังงานแสงอาทิตย์ 
  • ไม่ควรใช้ผงซักฟองในการทำความสะอาดเพราะอุปกรณ์และน้ำยาทำความสะอาดดังกล่าวจะทำให้เกิดรอยที่ผิวแผงพลังงานแสงอาทิตย์ได้

"ปกติควรล้างแผงโซลาร์เซลล์อย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้ง ตามสภาพของพื้นที่ติดตั้ง โดยกรณีมีฝุ่นมาก มีเขม่า หรือมีไอน้ำมันมาก อาจพิจารณาล้างแผงบ่อยขึ้น เพื่อคงสภาพกำลังการผลิตไฟให้ดีที่สุด ซึ่งในปีแรกๆจะมีบริการตรวจสอบระบบและล้างแผงรวมอยู่ในแพ็กเกจแล้ว หลังจากนั้นสามารถซื้อแพ็กเกจเพิ่ม หรือล้างแผงเองแล้วเรียกช่างมาดูเป็นครั้งคราวก็ได้"

  • ตรวจสอบดูสภาพแผงพลังงานแสงอาทิตย์ว่ายังมีสภาพที่สมบูรณ์หรือไม่ เช่น รอยร้าว, รอยแตก, รอยฝ้าบริเวณผิว, มีรอยรั่วของน้ำภายในผิวแผงพลังงานแสงอาทิตย์ และ สีของแผงเปลี่ยน เป็นต้น
  • จดบันทึกและสังเกตการณ์สิ่งผิดปกติต่าง ๆ ถ้าประสิทธิภาพลดลง อาจจะมีการซ่อมบำรุงหรือเปลี่ยนแผงพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีปัญหาดังกล่าว
  • ตรวจสอบอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับแผงพลังงานแสงอาทิตย์ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานเสมอ หากมีข้อผิดพลาดให้ทำการแก้ไขให้เร็วที่สุด

การบำรุงรักษาตัวแปลงกระแสไฟฟ้าและระบบควบคุมต่างๆ (Inverter and Controller) :

  • ระบบแปลงกระแสไฟฟ้าและระบบควบคุมต่าง ๆ ควรมีสภาพที่สะอาดปราศจากฝุ่นเกาะสะสม 
  • ควรใช้ผ้าแห้งเช็คทำความสะอาดฝุ่นที่เกาะอุปกรณ์เหล่านี้ 
  • ใช้ไฟฉาย LED ส่องดูในช่องที่ตรวจสอบได้ยากเช่น รอยต่อต่างๆ ภายในอุปกรณ์ว่าอยู่ในสภาพสมบูรณ์หรือไม่ หากมีสภาพที่ไม่พร้อมใช้งานหรือชำรุด เช่น สายไฟมีการหลุดออกมา ถ้าตรวจพบให้ทำการแก้ไขให้เร็วที่สุด 
  • ตรวจสอบกล่องที่ครอบอุปกรณ์ควบคุมต่าง ๆ นี้ต้องไม่มีแมลงหรือหนูมาทำรัง หากมีให้กำจัดทิ้งเพื่อป้องกันแมลงและหนูมาทำให้ระบบมีปัญหา
     

การบำรุงรักษาแบตเตอรี่ (Battery, The system with Battery Back-up) :

  • หากปริมาณสารละลายอิเล็กโทรไลท์น้อยเกินไปให้ทำการเติมสารละลายเข้าไปเพิ่มให้อยู่ในระดับที่ใช้งานปรกติ
  • การเกิดรอยกัดกร่อนบริเวณขั้วให้ทำความสะอาดซึ่งลักษณะการกัดกร่อนบริเวณขั้วจะเป็นคราบสีขาว โดยปกติให้ทำความสะอาดเดือนละครั้ง
  • ระดับแรงดันของแบตเตอรี่ควรมีการตรวจสอบระดับแรงดันไฟฟ้าอย่างสม่ำเสมอ เมื่อมีความผิดปรกติให้ทำการตรวจสอบ ซ่อมบำรุง หรือเปลี่ยนก้อนแบตเตอรี่นั้น