zero-carbon

น้ำแข็งในแอนตาร์กติกเสี่ยงละลายถาวร จาก “เอลนีโญ” ที่รุนแรงขึ้น

    เอลนีโญ ที่รุนแรงขึ้นเพราะความร้อนของโลก อาจเร่งการละลายของแผ่นน้ำแข็งในแอนตาร์กติก และการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล จนส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศของโลกในอนาคต

อุณหภูมิโลกที่ส่อเเววเพิ่มสูงขึ้น เพราะ "ปัญหาโลกร้อน" ทำให้เราได้เห็นเหตุการณ์ภัยพิบัติเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด การวิจัยของหน่วยงานวิทยาศาสตร์ของรัฐบาลชั้นนำของออสเตรเลีย ระบุว่่า เหตุการณ์เอลนีโญที่รุนแรงขึ้นเนื่องจากความร้อนของโลกอาจเร่งการละลายของแผ่นน้ำแข็งในแอนตาร์กติกอย่างถาวร

การศึกษาก่อนหน้านี้พบว่าความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศที่เพิ่มขึ้นนั้น คาดว่าจะเพิ่มขนาดของ "ปรากฏการณ์เอลนีโญทางตอนใต้" (El Nino Southern Oscillation หรือ Enso) ซึ่งเป็นความผันผวนของสภาพอากาศแบบปีต่อปีที่สำคัญที่สุดของโลก และเป็นตัวขับเคลื่อนหลักที่ทำให้เกิดภัยแล้งและน้ำท่วมรุนแรง เหตุการณ์เอลนีโญที่อบอุ่นสุดขั้วและเหตุการณ์ลานีญาที่เย็นจัดคาดว่าจะเกิดบ่อยขึ้นเมื่อโลกร้อนขึ้น

การศึกษาใหม่ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Climate Change พบว่า เหตุการณ์เอลนีโญที่รุนแรงขึ้นมีแนวโน้มที่จะมีผลกระทบที่แตกต่างกันในมหาสมุทรรอบ ๆ ทวีปทางตอนใต้ โดยมีการการตรวจสอบแบบจำลองภูมิอากาศ 31 แบบ พบว่า เอลนีโญที่รุนแรงขึ้นอาจเร่งความร้อนของน้ำทะเลที่ลึกขึ้น ในขณะที่ชะลอการอุ่นบนพื้นผิวเพราะลมตะวันตกตามแนวไหล่ทวีปมีความรุนแรงน้อยลง

 

จากข้อมูลพบว่า แผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติกมีน้ำแข็งอยู่ประมาณ 30 ล้านลูกบาศก์กิโลเมตร ซึ่งเพียงพอที่จะทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้น 70 เมตรในช่วงหลายศตวรรษ ซึ่งการศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้ อีกชิ้นหนึ่งประเมินว่า อุณหภูมิโลก 1 องศาเซลเซียสเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม จะทำให้เกิดการยุบตัวของแผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติกตะวันตก ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 4 เมตร

นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า ผลที่ออกมาบ่งชี้ว่าเอลนีโญ ที่รุนแรงขึ้นอาจมีผลกระทบ “ทวีคูณ” เพราะจะนำไปสู่สภาพอากาศที่รุนแรงเลวร้ายลง ความเสี่ยงจากความร้อน ความแห้งแล้ง และไฟป่าในภาคตะวันออกของออสเตรเลีย และน้ำท่วมในแคลิฟอร์เนีย เปรู และชิลี และยังเร่งให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ทำให้น้ำท่วมชายฝั่งที่รุนแรงมากขึ้น

ศาสตราจารย์แมตต์ คิง ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์แอนตาร์กติกของออสเตรเลีย กล่าวว่า นี่เป็นผลงานวิจัยที่จริงจังและน่าเป็นห่วง เป็นข่าวร้ายเกี่ยวกับศักยภาพของแอนตาร์กติกาที่อาจมีส่วนทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น เพราะมีความไม่แน่นอนมากมายในแง่ของอนาคตของปรากฎการณ์นี้และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ต้องกังวล

การศึกษาการสร้างแบบจำลองเมื่อปีที่แล้วชี้ให้เห็นว่าเหตุการณ์เอลนีโญและลานีญาที่รุนแรงขึ้นเพราะความร้อนของโลก อาจตรวจพบได้ในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออกภายในปี 2573 ซึ่งเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้หลายทศวรรษ

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลพบว่า น้ำแข็งในทะเลรอบแอนตาร์กติกาลดต่ำเป็นประวัติการณ์ในปีนี้ โดยนักวิทยาศาสตร์รายงานว่า ไม่เคยพบเห็นสถานการณ์ที่รุนแรงแบบนี้มาก่อน การเปลี่ยนแปลงของการละลายของน้ำแข็งในทะเลไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อระดับน้ำทะเล แต่นักวิทยาศาสตร์กังวลว่าการสูญเสียนี้จะทำให้แผ่นน้ำแข็งและธารน้ำแข็งเกิดคลื่น ซึ่งเร่งการสลายตัว

 

ข้อมูล : theguardian