zero-carbon
904

ทิศทางขับเคลื่อน "สังคมคาร์บอนต่ำ" ภายใต้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13

    ผ่าทิศทางการขับเคลื่อน "สังคมคาร์บอนต่ำ" และแนวทางสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศไทย ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13

การพัฒนาประเทศไทยให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างมีทิศทางที่เหมาะสม สอดคล้องกับบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการสนับสนุน “เศรษฐกิจหมุนเวียน” และ “สังคมคาร์บอนต่ำ” ได้ถูกกำหนดเอาไว้ให้อยู่ภายใต้ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 - 2570) ซึ่งประกาศใช้อย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

สังคมคาร์บอนต่ำ กับยุทธศาสตร์ชาติ

สำหรับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กำหนดรูปแบบเอาไว้ในหมุดหมายการพัฒนาที่ 10 ตามแผนพัฒนาชาติฉบับ 13 โดยให้มีความเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ 3 ด้าน ประกอบด้วย

ยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง : ในด้านการรักษาความมั่นคงและผลประโยชน์ทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั้งทางบกและทางทะเล เพื่อให้มีความอุดมสมบูรณ์ และให้ผลประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน 

ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน : ในการอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต ขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีแห่งอนาคต สร้างระบบนิเวศอุตสาหกรรมและบริการที่เหมาะสม และสนับสนุน การพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการอย่างยั่งยืน 

ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม : ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ สนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พัฒนา และใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อลดมลพิษและผลกระทบสิ่งแวดล้อม

 

ภาพประกอบข่าวการขับเคลื่อน "สังคมคาร์บอนต่ำ" และแนวทางสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนของไทย

เป้าหมาย สังคมคาร์บอนต่ำ มีอะไรบ้าง

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กำหนดเป้าหมาย ตัวชี้วัด และค่าเป้าหมายของการพัฒนาระดับหมุดหมายเอาไว้ด้วยกัน 3 เป้าหมายสำคัญภายในปี 2570 ประกอบไปด้วย 

เป้าหมายที่ 1 การเพิ่มมูลค่าจากเศรษฐกิจหมุนเวียน และการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ

  • มูลค่าจีดีพีจากเศรษฐกิจหมุนเวียนเพิ่มขึ้น สามารถสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ไม่น้อยกว่า 1% 
  • การบริโภควัสดุในประเทศมีปริมาณลดลงไม่น้อยกว่า 25%
  • ดัชนีการหมุนเวียนวัสดุสำหรับผลิตภัณฑ์เป้าหมาย (พลาสติก, วัสดุก่อสร้าง, เกษตร-อาหาร) เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 10%

เป้าหมายที่ 2 การอนุรักษ์ ฟื้นฟูและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

  • คะแนนดัชนีสมรรถนะด้านสิ่งแวดล้อมดีขึ้น ติดอันดับ 1 ใน 3 ของอาเซียน โดยมีคะแนนไม่น้อยกว่า 55 คะแนน
  • พื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้น โดยเป็นป่าไม้ธรรมชาติ 33% และพื้นที่ป่าเศรษฐกิจเพื่อการใช้ประโยชน์ 12% ของพื้นที่ประเทศ

เป้าหมายที่ 3 การสร้างสังคมคาร์บอนต่ำและยั่งยืน

  • สัดส่วนของการใช้พลังงานทดแทนต่อปริมาณการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายเพิ่มขึ้น มีสัดส่วนไม่น้อยกว่า 24%
  • การนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่เพิ่มขึ้น โดยมีอัตราการนำขยะกลับมาใช้ใหม่ของประเทศไม่ต่ำกว่า 40%
  • ปริมาณขยะต่อหัวในปี 2570 ลดลงจากปี 2560 อยู่ที่ 10%

 

ภาพประกอบข่าวการขับเคลื่อน "สังคมคาร์บอนต่ำ" และแนวทางสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนของไทย

ความท้าทายขับเคลื่อน “สังคมคาร์บอนต่ำ”

การลดลงของความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลพิษที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น และแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง เป็นปัญหาท้าทายที่สำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่สังคมไทยและประชาคมโลกตระหนักและให้ความสำคัญมากขึ้น 

รวมทั้งเป็นปัจจัยกำหนดความสำเร็จที่สำคัญต่อการบรรลุวิสัยทัศน์ มั่นคงมั่งคั่ง ยั่งยืน ของการพัฒนาภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ สอดคล้องกับการดำเนินงานของรัฐบาลที่ได้ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว เพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 

การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง การขับเคลื่อนแผนที่นำทางการจัดการขยะพลาสติก (พ.ศ. 2561 – 2573) และแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก รวมทั้งได้ระบุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการมีส่วนร่วมลดก๊าซเรือนกระจกที่ประเทศกำหนดตามความตกลงปารีส ขั้นต่ำที่ 20-25% จากปริมาณก๊าซเรือนกระจกปกติที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2573 (ค.ศ.2030) 

นอกจากนั้น ประเทศไทยกำลังอยู่ในระหว่างการจัดทำยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทยในการมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดยคาดการณ์ประเทศไทยจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด ในช่วงปี 2573 – 2583 (ค.ศ. 2030 - 2040) 

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว ยังต้องการการขับเคลื่อนโดยการบูรณาการจากทุกภาคส่วนและในทุกระดับของแผนที่เกี่ยวข้อง ในขณะที่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับที่สูงขึ้นและสอดคล้องกับกระแสโลก ยังเป็นเรื่องที่มีความท้าทาย รวมทั้งต้องการแนวทางและการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมและมีความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาในด้านอื่น ๆ ด้วย