เปิดสูตรลด ‘Food Waste’ บิ๊กเนมชูนวัตกรรม บริหารจัดการครบวงจร

12 ก.พ. 2566 | 08:05 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.พ. 2566 | 08:19 น.
555

จับกระแส “Food Waste” กระทบสภาพแวดล้อม-ภาวะอดอยาก บิ๊กธุรกิจอาหารเร่งตัดปัญหา “ขยะอาหาร” ไทยยูเนียนตั้งเป้าลดการสูญเสียของอาหารลง 50% “ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป” ลุยดูแลต้นน้ำซัพพลายเชนรับซื้อวัตถุดิบเหมาภูเขา-รีไซเคิลวัตถุดิบเป็นเมนูใหม่

ในแต่ละปีอาหารกว่า 1,300 ล้านตัน หรือ 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตได้ทั่วโลก ต้องกลายเป็น “ขยะอาหาร” (Food Waste) ที่ถูกทิ้งไปอย่างสูญเปล่า และสร้างก๊าซเรือนกระจกถึง 8% ในขณะที่คนกว่า 830 ล้านคนทั่วโลกกลับประสบภาวะอดอยาก สำหรับประเทศไทยกว่า 60% ของขยะมาจากขยะอาหาร และคนไทย 1 คนสร้างขยะอาหารสูงถึง 254 กิโลกรัมต่อปี

นายอดัม เบรนนัน ผู้อำนวยการกลุ่มด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า อุตสาหกรรมอาหารมีบทบาทสำคัญในเรื่องของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในกรอบสหประชาชาติ ในข้อที่ 12 ว่าด้วยการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน

ในการจัดการด้าน “ขยะอาหาร” ของโลก ในระดับผู้บริโภคและร้านค้าปลีก รวมไปถึงการสูญเสียอาหารในกระบวนการผลิต โดยตั้งเป้าลดขยะเศษอาหารของโลกลงครึ่งหนึ่งในระดับค้าปลีกและผู้บริโภค และลดการสูญเสียอาหารจากระบวนการผลิตและห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยว ภายในปี พ.ศ. 2573

เปิดสูตรลด ‘Food Waste’ บิ๊กเนมชูนวัตกรรม  บริหารจัดการครบวงจร

ทั้งนี้ ขยะอาหาร (Food Waste) และการสูญเสียอาหาร (Food Loss) เป็นปัญหาระดับโลกที่ทางสหประชาชาติคาดการณ์ว่า 14 % ของอาหารนั้นจะเสียไปตั้งแต่ขั้นตอนต่างๆ หลังการเก็บเกี่ยว (ก่อนจะถูกส่งไปร้านค้าปลีก) และอีก 17% จะเสียเปล่าไปที่ร้านค้าปลีก ร้านอาหารและครัวเรือน และประมาณ 8-10%ของก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมานั้นเกี่ยวข้องกับอาหารที่ไม่ได้ถูกบริโภค ขณะที่ประเทศไทยมีขยะอาหารสูงถึง 9.68 ล้านตันต่อปี ซึ่งคิดเป็น 38% ของขยะทั้งหมด ในจำนวนนี้มีอาหารส่วนเกินที่ยังทานได้ปะปนอยู่ถึง 39% ของอาหารที่ถูกทิ้งทั้งหมด

ไทยยูเนี่ยนมีเป้าหมายจัดการไม่ให้อาหารต้องสูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ การดูแลสุขภาพความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คน ควบคู่ไปกับการดูแลรักษาทรัพยากรทางทะเลภายใต้แนวทาง Healthy Living, Healthy Oceans รวมทั้งตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 2 ในการขจัดความหิวโหย และข้อที่ 13 ในเรื่องการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

อดัม เบรนนัน

“ไทยยูเนี่ยนมองไปถึงภาพใหญ่ของอุตสาหกรรมอาหารที่มีบทบาทในการช่วยในเรื่องของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในข้อที่ 12 เราตั้งเป้าลดการสูญเสียของอาหารลง 50% ในการผลิตอาหารกระป๋อง อาหารแช่แข็งและแช่เย็น ภายในปี พ.ศ. 2568 และลงทุนด้านนวัตกรรมเพื่อนำส่วนต่างๆ ของปลาทูน่ามาผลิตเป็นสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ส่วนประกอบอาหาร (ingredients) และอาหารเสริม

เช่น นำหัวปลาทูน่ามาสกัดเป็นน้ำมันปลาทูน่า ส่วนกระดูกปลาทูน่านำมาผลิตเป็นแคลเซียม ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายของการก้าวข้ามจากผู้ผลิตอาหารมาสู่การดูแลสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีให้กับผู้บริโภค นอกจากนี้ทำวิจัยเพื่อใช้ส่วนต่างๆ ของปลาทูน่าที่แต่ก่อนเป็นเพียงแค่ by-product ให้เกิดเป็นสินค้ามูลค่าเพิ่มแล้วเรายังนำคางกุ้งมาผลิตเป็นอาหารทานเล่น และใช้เปลือกกุ้งเป็นอาหารสัตว์ ซึ่งลดการสูญเสียอาหารลงได้”

ขณะเดียวกันบริษัทยังขยายธุรกิจไปยังส่วนของโปรตีนทางเลือก เพื่อให้มีแหล่งโปรตีนที่หลากหลาย ตอบโจทย์ความต้องการของประชากรโลกในอนาคตที่เพิ่มสูงขึ้น และต้องการความยั่งยืนไปพร้อมความมั่นคงทางอาหาร รวมทั้งจับมือกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และมหาวิทยาลัยมหิดล ทำโครงการ “สเปซ-เอฟ” (SPACE-F) บ่มเพาะและเร่งการเติบโตทางธุรกิจเทคโนโลยีอาหารระดับโลกแห่งแรกของประเทศไทย

โดยหนึ่งในบริษัทสตาร์ทอัพที่ร่วมโครงการนี้ที่ชื่อว่า Yindii (ยินดี) เป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลและแอพพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือที่ช่วยร้านอาหาร ร้านเบเกอรี่ และซูเปอร์มาร์เก็ต ขายสินค้าสินค้าที่เกินหรือใกล้หมดอายุในราคาพิเศษ ทำให้สามารถซื้อสินค้าที่ยังคุณภาพดี ราคาถูก และยังช่วยลดขยะอาหารได้ด้วย

ด้านนายกรีฑากร ศิริอัฐ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลยุทธ์และการเงิน บริษัท ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ความยั่งยืนเป็นเรื่องที่ซิซซ์เลอร์ทำมานาน นอกจากการซื้อวัตถุดิบจากซัพพลายเออร์รายใหญ่ แล้วยังรับซื้อวัตถุดิบเช่น ผักจากท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย โดยรับทั้งผลผลิตเหมาภูเขา ซึ่งแต่ละหมู่บ้านจะปลูกพืชต่างชนิดกัน และปลูกผักหมุนเวียนเปลี่ยนทุกฤดูกาลทำให้ซิซซ์เลอร์มีวัตถุดิบที่หลากหลายและเพียงพอ ขณะเดียวกันยังช่วยสร้างงานให้กับชาวเขา

เปิดสูตรลด ‘Food Waste’ บิ๊กเนมชูนวัตกรรม  บริหารจัดการครบวงจร

สำหรับประเด็น “ขยะอาหาร” เป็นประเด็นที่ใหญ่และปัจจุบันทุกฝ่ายให้ความสำคัญอย่างมากเพราะผลกระทบภาวะโลกร้อน เป็นประเด็นท้าทายธุรกิจเนื่องจากมีผลต่อซัพพลายของอาหารโดยเฉพาะการผลิตวัตถุดิบที่ลดลง

“Food Waste ในซิซซ์เลอร์มีน้อยมากเพราะเรามีการจัดการที่ดี นั่นเป็นอีกเหตุผลหนึ่งว่าทำไมซิซซ์เลอร์ ถึงทำสลัดบาร์ได้แต่ที่อื่นถึงไม่ค่อยมีคนทำสลัดบาร์แข่งกับเรา เพราะเมื่อทำไปสักระยะจะพบว่าการจัดการสลัดบาร์ไม่ง่าย ถ้าบริหารจัดการไม่ดี Food Waste มหาศาลและเจ๊งแน่นอน จากประสบการณ์ 10 ปีทำให้เราสามารถบริหารวัตถุดิบไม่ให้มีขยะและยังนำอาหารมารีไซเคิลเป็นซุปต่างๆ อีกด้วย”

เปิดสูตรลด ‘Food Waste’ บิ๊กเนมชูนวัตกรรม  บริหารจัดการครบวงจร

สำหรับกลยุทธ์การตลาดปีนี้ซิซซ์เลอร์จะเน้นใน 3 ส่วนคือความสด พรีเมี่ยมและควอลิตี้ ในเรื่องของความสดจะต้องดูไปถึงวัตถุดิบซึ่งสอดคล้องกับกลยุทธ์ความยั่งยืนโดยรับซื้อวัตถุดิบจาก Local Farmer ทั่วประเทศและส่งวัตถุดิบที่ดีไปยังสาขาที่อยู่ใกล้เคียงที่สุดในต่างจังหวัด ทำให้ลูกค้าได้ทานวัตถุดิบที่สดใหม่

นอกจากนี้หลังจากการระบาดของโควิด ลูกค้าเริ่มสงสัยและตระหนักในเรื่องของเซฟตี้มากขึ้น จนเกิดเป็นกระแสเรื่องความโปร่งใส ลูกค้าต้องการทราบว่าวัตถุดิบมาจากไหน ร้านดูแลวัตถุดิบจากซัพพลายเออร์ จนมาถึงลูกค้าอย่างไรบ้าง และลูกค้าเริ่มที่จะเลือกเข้าร้านที่มีอาหารปลอดภัย และดูแล Food Waste ให้มากขึ้น จากการสังเกตุพบว่าในประเด็นการลดโลกร้อน ส่วนที่ธุรกิจอาหารสามารถซัพพอร์ตได้จะพูดถึงเรื่องของความยั่งยืนและดูแลในเรื่องของ Food Waste เป็นหลัก

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,861 วันที่ 12 - 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566