กลุ่มเอสซีจี กำลังปรับการดำเนินงานธุรกิจของกลุ่มใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับเป้า Net Zero Cement & Concrete 2050 ผ่านการพัฒนานวัตกรรมตามแนวคิดเศรษฐกิจคาร์บอนตํ่า ด้วยกระบวนการและการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยแนวคิดเศรษฐกิจคาร์บอนตํ่า หรือ Low Carbon Economy เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 (พ.ศ.2593) รวมถึงผลักดันการหมุนเวียนทรัพยากรและวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว ให้นำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยว่า เอสซีจีเผชิญวิกฤตซ้อนวิกฤต ทั้งปัญหาต้นทุนด้านพลังงาน รวมทั้งต้นทุนทางการเงิน และปริมาณความต้องการในตลาดโลกที่หดหายไปจากผลกระทบของโควิด-19 สงครามยูเครน-รัสเซีย และวัฏจักรปิโตรเคมีขาลงครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 20 ปี
ดังนั้น เอสซีจีจึงต้องเร่งขับเคลื่อนและโฟกัสไปที่ธุรกิจที่เป็นเมกะเทรนด์ของโลก ด้านพลังงานสะอาด และสินค้าในกลุ่ม Green Business รวมทั้งขยายลงทุนในตลาดต่างประเทศ ด้วยงบการลงทุนกว่า 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งงบราว 50% จะใช้ลงทุนในเวียดนาม เพื่อเร่งเดินเครื่องผลิตสินค้าภายในปี 2566 ขณะเดียวกัน เอสซีจีจะยังเดินหน้าบริหารและลดต้นทุนต่อเนื่อง พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนสู่การใช้พลังงานสะอาดในกระบวนการทำงาน
นายอรรถพงศ์ สถิตมโนธรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ จำกัด กลุ่มธุรกิจน้องใหม่ทด้านการผลิตพลังงานสะอาด กล่าวว่า เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ ผลิตพลังงานสะอาดผ่านพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซลาร์เซลล์ เป็นโซลูชั่นธุรกิจที่ให้บริการต่อกลุ่มลูกค้าที่สนใจ สามารถให้บริการได้ทั้งการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนพื้นดิน หลังคา และโซลาร์ลอยนํ้า
สิ่งที่เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ ให้ความสำคัญอย่างมากในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน คือ การนำนวัตกรรมเทคโนโลยีเข้ามาเสริม ด้วยงบอาร์แอนด์ดีและการพัฒนานวัตกรรมที่ผ่านมากว่า 3,000 ล้านบาท เช่น โดรนตรวจสอบประสิทธิภาพแผงโซล่า สำรวจแผงโซลาร์ที่ชำรุด (Drone Inspection) แจ้งเตือนให้ซ่อมบำรุง และ หุ่นยนต์ทำความสะอาดแผงโซลาร์ (Robot Cleaning)
ปัจจุบันบริษัทฯมีกำลังการผลิตพลังงานสะอาดอยู่ที่ 234 เมกกะวัตต์ แบ่งเป็นผลิตเพื่อใช้เองในโรงงานของเอสซีจี 194 เมกกะวัตต์ และผลิตให้ลูกค้า 40 เมกกะวัตต์ ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ 3 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ โดยปี 2566 ตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตบริการติดตั้งให้ลูกค้าเป็น 4 เท่าสำหรับตลาดตลาดในประเทศ อยู่ที่ 160 เมกกะวัตต์ ด้วยงบลงทุน 5,000 ล้านบาท
โดยกลุ่มเป้าหมายหลักคือ นิคมอุตสาหกรรม เครือข่ายโรงงานอุตสาหกรรม โรงแรม โรงพยาบาล ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะเริ่มขยายไปยังกลุ่มประเทศที่เอสซีจีมีธุรกิจอยู่แล้ว โดยเฉพาะ เวียดนาม และอินโดนีเซีย ที่จะเริ่มขยายบริการไปภายในปี 2566 นี้ ล่าสุดติดตั้งแล้วที่กลุ่มบริษัทสหยูเนี่ยน บางปะกง ช่วยลดต้นทุนพลังงานได้ 30% และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 3,700 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี ปัจจุบันเอสซีจีมีสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดอยูที่ 34 %
ในขั้นตอนต่อไปคือการพัฒนาเทคโนโลยีเทอร์มอลแบตเตอรี่ หรือ ฮีทแบตเตอรี่ ที่นำพลังงานแสงอาทิตย์มาเปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อน สำหรับโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงพัฒนาเทคโนโลยีดักจับและใช้ประโยชน์คาร์บอน (Carbon Capture and Utilization-CCU) จากการผลิตปูนซีเมนต์ในไทยและอาเซียน
นายวิสุทธ จงเจริญกิจ Green Circularity Business Director เอสซีจี กล่าวว่า ปัจจุบันเอสซีจีได้นำเศษวัสดุทางการเกษตร เช่น ฟางข้าว ใบอ้อย เปลือกข้าวโพด ที่ประเทศไทยมีประมาณ 21 ล้านตันต่อปี มาบีบอัดผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัย ออกมาเป็น เม็ดพลังงานชีวมวล (Energy Pellet) สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทน พร้อมกันนี้ ยังรับซื้อวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรกว่า 300,000 ตัน ทั้งใบอ้อย เปลือกข้าวโพด รากยางพารา ฟางข้าว แกลบ และอื่น ๆ จากพื้นที่จังหวัดรอบโรงงานปูนซีเมนต์ในจังหวัดสระบุรี ลพบุรี กาญจนบุรี อยุธยา ลำปาง เชียงใหม่ เชียงราย นครศรีธรรมราช นครราชสีมา และเร่งพัฒนาเม็ดพลังงานชีวมวลในหลายรูปแบบ ทั้งชีวมวลประสิทธิภาพสูง (High Efficiency Renewable Fuel) ทั้งด้านการใช้งาน และค่าพลังงานอื่น ๆ เพื่อขยายเป็นธุรกิจในอนาคต
ขณะที่บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC มีการพัฒนานวัตกรรมพลาสติกรักษ์โลก “SCGC GREEN POLYMERTM” ต่อเนื่อง สร้างยอดขายได้กว่า 140,000 ตัน เติบโตกว่า 5 เท่า ในปี 2565 และยังขยายสู่ธุรกิจรีไซเคิลพลาสติกครบวงจร โดยนำร่องก่อนในยุโรป โดยได้ลงนามซื้อกิจการของคราส (Kras) ผู้นำด้าน Waste Management ของเนเธอร์แลนด์ และธุรกิจ Green Polymer ของโปรตุเกส เพื่อสามารถนำนวัตกรรมเทคโนโลยีระดับโลกมาปรับใช้ในอนาคต โดยบริษัทตั้งเป้าหมายในการผลิต Green Polymer ให้ได้ถึง 1 ล้านตัน ภายในปี 2050 (พ.ศ.2593)
กลุ่ม Smart living กับธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ได้พัฒนา SCG Built-in Solar Tile นวัตกรรมแผงโซลาร์สำหรับหลังคาบ้านสไตล์โมเดิร์น ที่ออกแบบเนียนเรียบไปกับผืนหลังคา ช่วยลดค่าไฟฟ้าได้ 60%
ในกลุ่มบรรจุภัณฑ์บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP มีงบลงทุนและค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมในปี 2566 รวม 800 ล้านบาท โดยพัฒนานวัตกรรม “เส้นใยนาโนเซลลูโลส” จากวัตถุดิบเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์อาหาร พร้อมขยายไปยังอุตสาหกรรมเพื่อสุขภาพ และวัสดุคอมโพสิต รวมถึงต่อยอดความเชี่ยวชาญด้านการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ สู่การปลูกพืชและสมุนไพรมูลค่าสูง และยังพัฒนาวัสดุเหลือใช้จากกระบวนการผลิตมาเป็นพลังงานหมุนเวียน ด้วย “เทคโนโลยี Torrefaction” เพื่อใช้พลังงานชีวมวล (Biomass) ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง