รายงานข่าวเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายชยาวุธ จันทร ประธานคณะกรรมการการไฟฟ้านครหลวง(ประธานบอร์ด กฟน.) และนายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง พร้อมคณะกรรมการได้เยี่ยมชมโครงการนำสายไฟลงดินทั้งระบบพร้อมหม้อแปลงใต้น้ำ Low carbon ในโครงการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย Submersible Transformer Low carbon พื้นที่สยามสแควร์
นายชยาวุธ จันทร ประธานบอร์ด กฟน.กล่าวหลังการเยี่ยมชมการนำสายไฟลงดินทั้งระบบ ในพื้นที่สยามสแควร์ และชมหม้อแปลง Submersible Transformer Low carbon ว่า พื้นที่มีทัศนียภาพที่สวยงามสายไฟฟ้าไม่บังหน้าร้าน ไม่บังหน้าบ้าน และทำให้มีความปลอดภัยจากอัคคีภัย และมีระบบการบริหารจัดการพลังงานสิ้นเปลือง ที่มีประสิทธิภาพ มีความเสถียรการใช้พลังงานที่มั่นคง
หม้อแปลงดังกล่าว ยังช่วยลดค่าไฟฟ้า ลดคาร์บอน ลดเรือนกระจก ลดโลกร้อน สามารถติดตั้งใต้น้ำในพื้นที่น้ำท่วมขังได้ และเป็นการตอบโจทย์นโยบายของรัฐบาลในการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ตามที่กำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Emission ของประเทศภายในปี ค.ศ. 2065
“ขอชื่นชมนวัตกรรมของคนไทย ที่มีการคิดค้น วิจัยนวัตกรรมลดพลังงาน ลดคาร์บอน ให้คนไทย นวัตกรรมหม้อแปลง Submersible Transformer Low carbon ชิ้นนี้เป็นการพัฒนาพลังงานอย่างมั่นคง และเป็นศูนย์กลางในการผลักดันพัฒนาการลดพลังงาน การอนุรักษ์พลังงานอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งยังช่วยในการพัฒนา ส่งเสริม สนับสนุนการผลิตและการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า สอดคล้องกับสภาพการณ์ของแต่ละพื้นที่อย่างคุ้มค่าและยั่งยืน มีความเหมาะสมเชิงพาณิชย์”
ทั้งนี้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม และภาคพาณิชย์ต่าง ๆ ควรให้ความสำคัญในเรื่องนี้ เพื่อส่งผลให้เกิดการบริโภคพลังงานอย่างคุ้มค่า ช่วยลดต้นทุนการผลิต นำพาประเทศไปสู่สังคมฐานความรู้ด้านพลังงาน เพื่อเศรษฐกิจมั่นคง ยั่งยืน และจากการเยี่ยมชมระบบสายไฟลงดินที่สยามสแควร์ในครั้งนี้ ตนพร้อมจะส่งเสริมให้กฟน.นำสายไฟลงดินทั้งระบบเหมือนที่สยามสแควร์ เพราะนอกจากคนกรุงเทพฯจะได้ภูมิทัศน์ใหม่แล้ว ยังตอบโจทย์ Net Zero Emission ด้วย
สำหรับนวัตกรรมหม้อแปลง Submersible Transformer Low Carbon นอกจากจะช่วยประหยัดพลังงานลดค่าไฟ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว ยังช่วยให้ภูมิทัศนดูสวยงามอีกด้วย นวัตกรรมของคนไทยชิ้นนี้ ได้รับรางวัลเป็นเครื่องการันตีในคุณภาพมากมาย ทั้งรางวัลของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน รางวัลกระทรวงพลังงาน Energy Award รางวัลนวัตกรรมสินค้าสนับสนุนส่งเสริมสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ NIA, สินค้า มอก. 384 และใบประกาศเกียรติคุณ โครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) TGO และอีกหลายรางวัลในระดับภูมิภาค
ข่าวที่เกี่ยวข้อง