ส่อง 8 ประเทศที่ถึงเส้นชัยบนเส้นทาง Net zero

04 ก.พ. 2566 | 14:00 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ก.พ. 2566 | 09:50 น.

การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและโลกร้อนเป็นเรื่องเร่งด่วนที่นานาประเทศใน จะพาไปส่องเส้นทาง Net zero ของ 8 ประเทศที่ถึงเส้นชัย

การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและภาวะที่โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นเป็นเรื่องเร่งด่วนที่นานาประเทศในประชาคมโลกต่างตื่นตัวกับประเด็นนี้ เกือบทุกประเทศพยายามอย่างมากที่จะต่อสู้เรื่องนี้ร่วมกัน ซึ่งเป็นไปตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่มีขึ้นเมื่อปี 2015 ที่ต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจนเป็นศูนย์ Net Zero  ซึ่งปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมาจะต้องได้รับการปรับสมดุลให้เท่ากับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกดูดซับหรือถูกนำออกจากระบบ และหันมาใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น  

 

ปัจจุบันการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เพิ่มสูงขึ้นกว่าช่วงเวลาที่ 190 ประเทศได้ยอมรับข้อตกลงปารีสในปี ค.ศ. 2015

ในครั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ตรวจสอบกลุ่มประเทศที่มีค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์แล้วทั้งหมด 8 ประเทศ โดย World Economic Forum ได้รวบรวมข้อมูลและสรุปไว้ 

 

ภูฏาน 

มีปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เท่ากับศูนย์ แถมยังติดลบ (carbon-negative) อีกด้วย มีปริมาณป่าไม้ที่ปล่อยออกซิเจนมากกว่าปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาปีละ 1.1 ล้านตัน ทั้งยังส่งออกกระแสไฟฟ้าจากพลังงานที่หมุนเวียนขายให้กับอินเดียอีกด้วย 

มีนโยบายส่งเสริมการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนมากกว่าการตัดไม้ทำลายป่า อุทยานแห่งชาติที่ได้รับการคุ้มครองครอบคลุมพื้นที่ 2 ใน 5 ของประเทศ เชื่อมต่อด้วยทางเดินที่อยู่อาศัย ทำให้สัตว์ป่าสามารถเคลื่อนย้ายไปมาระหว่างกันได้ โดยปราศจากการขัดขวางจากมนุษย์

คอโมโรส 

หมู่เกาะภูเขาไฟขนาดเล็กแห่งนี้ตั้งอยู่ในมหาสมุทรอินเดียนอกชายฝั่งตะวันออกของแอฟริกา ทางตอนเหนือของมาดากัสการ์ เป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก โดยมีประชากร 800,000 คนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นในเมืองชายฝั่งหลักของเกาะทั้งสี่ ด้วยอัตราส่วน 400 คนต่อ 1 ตารางกิโลเมตร

ปล่อยมลพิษต่ำจากการเกษตร การประมง และการเลี้ยงปศุสัตว์ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจทั้งประเทศ ประกอบกับการปกป้องสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดเกือบหนึ่งในสี่ของผืนดิน ช่วยสนับสนุนสถานะการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

กาบอง

ป่าฝนคองโกครองพื้นที่กว่า 88% ของผืนดินของกาบองในแอฟริกากลาง ได้รับการบันทึกว่ามีระดับการตัดไม้ทำลายป่าที่ต่ำที่สุดในศตวรรษที่ 21 และน่าจะเป็นป่าฝนแห่งเดียวของโลกที่ยังคงปล่อยคาร์บอนเป็นลบ

ความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าในการไม่ตัดไม้ทำลายป่าและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน กาบองตั้งอยู่ในลุ่มน้ำคองโกซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่ใหญ่ที่สุดในโลก กาบองปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพียงเล็กน้อยในขณะที่ดูดซับในปริมาณมาก UN ยกให้กาบองเป็นต้นแบบของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

กายอานา 

กายอานาเป็นอีกประเทศที่อุดมไปด้วยต้นไม้ใหญ่ ซึ่งตั้งอยู่บนชายฝั่งทางตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้  มีป่าฝนปกคลุมมากที่สุดในโลกถึง 85% ของพื้นที่ ป่าขนาด 14.48 ล้านเฮกตาร์

หลังบรรลุการปล่อยมลพิษสุทธิเป็นศูนย์แล้ว มีเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซลงอีก 70% ภายในปี ค.ศ. 2030 กายอานากลายเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหม่ของโลกในปี ค.ศ. 2019 ซึ่งอาจมีความท้าทายมากขึ้นในฐานะผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระเป็นสุทธิเป็นศูนย์ในอนาคต

มาดากัสการ์ 

เกาะมาดากัสการ์ล้อมรอบด้วยมหาสมุทรอินเดีย ตั้งอยู่นอกชายฝั่งตะวันออกของแอฟริกา พึ่งพาการเกษตรและการประมง มีประชากรเพียง 20% เข้าถึงไฟฟ้า

ปัจจุบันจะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ แต่การตัดไม้ทำลายป่าขนาดใหญ่ทำให้หนึ่งในสี่ของพื้นที่ป่าของทั้งประเทศหายไปตั้งแต่ปี 2000 ตามรายงานของ Global Forest Watch หากอัตราการตัดไม้ทำลายป่าในปัจจุบันยังคงดำเนินต่อไป มาดากัสการ์จะกลายเป็นประเทศผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิภายในปี ค.ศ. 2030

นีวเว 

เป็นเกาะที่ตั้งอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ มักเรียกว่า "Rock of Polynesia" ประชากรในท้องถิ่นราว 2,000 คน และยังมีอีกจำนวนมากที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ การประมง เกษตรกรรม และการท่องเที่ยวเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลัก ปล่อยมลพิษน้อยกว่า 0.0001% เมื่อเทียบกับการปล่อยมลพิษทั้งโลก

ตำแหน่งที่ตั้งของเกาะนีวเวมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ความเป็นกรดของมหาสมุทร และพายุไซโคลน

ปานามา 

ประเทศรอยต่อระหว่างอเมริกาเหนือและใต้ มีป่าฝนชุ่มฉ่ำที่ครอบคลุมพื้นที่ 65% รัฐบาลปานามามุ่งมั่นที่จะปลูกป่าเพิ่มอีก 50,000 เฮกตาร์ภายในปี 2050

การประชุม COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ ปานามาได้ร่วมมือกับประเทศซูรินาม (Suriname) และภูฏานจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรที่มีการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นลบ เรียกร้องให้มีการสนับสนุนการค้า การกำหนดราคาคาร์บอน และกระตุ้นให้มีความพยายามมากขึ้นในการที่จะบรรลุเป้าหมาย Net Zero ด้วยจำนวนประชากร 4.5 ล้านคน 

ซูรินาม 

ประเทศเล็กๆ ในป่าอเมซอน เป็นหนึ่งในประเทศที่อุดมสมบูรณ์ด้วยป่าไม้มากที่สุดในโลก มีประชากรเพียง 600,000 คน มีป่าไม้ปกคลุมถึง 93% ของพื้นที่ทั้งหมด ป่าไม้ของซูรินามดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์หลายพันล้านตันและสนับสนุนความหลากหลายทางชีวภาพอันอุดมสมบูรณ์ 

ปล่อยมลพิษที่เกิดจากมนุษย์มีเพียงภาคการผลิตไฟฟ้า เกษตรกรรม และการขนส่งของประเทศ

 

ข้อมูล : weforum.org