zero-carbon

GC ขยายลงทุน โรงงานรีไซเคิล ปั้นรายได้พันล้าน

    GC เดินเครื่องโรงงานรีไซเคิล ENVICCO ตั้งเป้าหลังรับอนุมัติ อย. พร้อมลุยกำลังการผลิต 60-70% สร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้าน พร้อมเล็งขยายการลงทุนเพิ่มในสหรัฐอเมริกา หวังขับเคลื่อนกระบวนการลดคาร์บอน สู่เป้าหมาย NET ZERO ภายในปี 2593

โดย GC Group ได้เตรียมเงินลงทุนสูงถึง 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อการเดินหน้าสู่เป้าหมายการลดคาร์บอน (Decarbonization) ภายในปี 2573 ภายใต้กรอบการดำเนินงาน 3 เสาหลัก ได้แก่ กลยุทธ์การขับเคลื่อนด้วยประสิทธิภาพ (Efficiency-driven) การขับเคลื่อนด้วยการบริหารพอร์ตโฟลิโอธุรกิจ (Portfolio-driven) และการขับเคลื่อนการชดเชยคาร์บอน (Compensation-Driven) เพื่อบรรลุเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง 20% ภายในปี 2573 รวมถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593

 

หนึ่งในธุรกิจที่ GC เริ่มเดินหน้าแล้ว คือ ENVICCO โรงงานผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง ระดับ Food Grade มาตรฐานระดับโลก ที่ลงทุนไปเกือบ 1,000 ล้านบาท ได้เริ่มทดลองเดินกระบวนการผลิตแล้วราว 40% และกำลังรอขั้นตอนการอนุมัติการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลชนิด rPET และ rHDPE เพื่อขึ้นรูปบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม จากองค์การอาหารและยา (อย.)

 

นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวว่า หาก ENVICCO ได้รับอนุมัติจาก อย. ซึ่งคาดว่าจะได้รับการอนุมัติประมาณไตรมาส 1 ปี 2566 ENVICCO จะเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นเป็น 60-70% ซึ่งขณะนี้ผ่านการอนุมัติจาก FDA หรือองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกาแล้ว

 

เมื่อทุกอย่างเรียบร้อย จะเริ่มลุยเต็มที่ในปี 2566 GC จะทำเรื่องรีไซเคิลพลาสติกต่อเนื่อง โดยกำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนที่สหรัฐอเมริกา แต่จะเป็นการลงทุนที่ไม่สูงนัก เช่นเดียวกับโรงงานของ ENVICCO เพราะสหรัฐฯ ให้ความสนใจกับเรื่องคาร์บอนมาก และมีโอกาสดีกว่ายุโรป เพราะเน้นเรื่อง incentive (แรงจูงใจ) เป็นหลัก ต่างจากยุโรปที่ทำเรื่องของภาษี และการลงทุนด้านรีไซเคิล ก็ยังได้คาร์บอนเครดิตด้วย

 

GC ขยายลงทุน โรงงานรีไซเคิล ปั้นรายได้พันล้าน

 

นายณัฐนันท์ ศิริรักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นวิคโค จำกัด กล่าวว่า โรงงาน ENVICCO เป็นการร่วมทุนระหว่าง GC และ ALPLA ผู้นำระดับโลกในธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติกและพลาสติกรีไซเคิล เริ่มเปิดทำธุรกิจเมื่อ16 ตุลาคม 2565 ขณะนี้ทำรายได้ราว 100 ล้านบาท และเมื่อได้รับอนุมัติจาก อย. จะสามารถสร้างรายได้ทะลุ 1,000 ล้านบาท ภายใต้แบรนด์ InnoEco

 

โดยบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตขณะนี้ ยังเป็นบรรจุภัณฑ์คอนซูเมอร์โปรดักส์ เช่น White Spa Lotion ของมิสทีน ที่มีส่วนของเม็ดพลาสติกรีไซเคิล 25% แต่เมื่อได้รับอนุมัติจาก อย. จะได้เห็นขวด rPET ใน นํ้าดื่ม ชาเขียว และแบรนด์อื่นๆ เพิ่มเติม

 

สำหรับ ENVICCO มีกำลังการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลสูงถึง 45,000 ตันต่อปี เม็ดพลาสติก ชนิด rPET จำนวน 3 หมื่นตันต่อปี และเม็ดพลาสติก ชนิด rHDPE 1.5 หมื่นตันต่อปี วัตถุดิบทั้งหมด 100% เป็นพลาสติกใช้แล้วในประเทศ ทำให้ช่วยลดขยะพลาสติกในประเทศได้ถึง 6 หมื่นตันต่อปี ลดก๊าซเรือนกระจกได้ 7.5 หมื่นตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

 

ส่วนซัพพลายเออร์ที่เป็นแหล่งวัตถุดิบ ขณะนี้มีประมาณ 18 ราย เป็นการทำสัญญาระยะยาว 5, 7, 10 ปี แล้วแต่ตกลง และมีรีไซเคิลฮับอยู่ 7 แห่ง คือที่ระยอง 5 แห่ง นครปฐม 1 แห่ง และสมุทรปราการอีกหนึ่งแห่ง ซึ่งอนาคตจะขยายเพิ่มเติมอีกหลายแห่ง

 

ENVICCO ยังมีส่วนส่งเสริมชุมชน โดยการรับซื้อขวดพลาสติกตรงจากชุมชนตามราคาตลาด เพื่อเป็นการส่งเสริมการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี และเป็นการเพิ่มรายได้ ช่วยสร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศอีกทางหนึ่ง โดยขณะนี้รับซื้อมาแล้ว 190 ตัน มูลค่า 4.1 ล้านบาท

 

ดร.คงกระพัน กล่าวเพิ่มเติมว่า ทิศทางเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2593 GC จะลดจากการดำเนินธุรกิจด้วยตัวเองให้ได้ 50% และอีก 50% คือใช้วิธีอื่น เช่น การกักเก็บและดูซับคาร์บอนไดออกไซด์ อย่างเรื่องการปลูกป่า และอื่นๆ รวมทั้งการซื้อคาร์บอนเครดิต ที่สามารถซื้อได้ไม่เกิน 10% จากคาร์บอนทั้งหมดที่ปล่อย และต้องเป็นคาร์บอนคุณภาพสูง เช่น ถ้าป่าก็ต้องเป็นปลูกใหม่ ทั้งหมด ก็เพื่อเดินสู่เป้ามายการเป็นศูนย์ในปี 2593 นั่นเอง

 

อย่างไรก็ตาม GC มีธุรกิจอยู่ทั่วโลก การลดปริมาณคาร์บอน คือการทำธุรกิจในประเทศไหนก็ลดที่ประเทศนั้น เพราะมี Incentive ที่ต่างกัน ซึ่งอนาคตอาจมีการเทรดข้ามประเทศกันได้บ้าง อย่างเช่น ออลเน็กซ์ ที่ GC เข้าไปลงทุน ก็เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่สามารถทำเรื่องคาร์บอนได้ดี มีคาร์บอนเครดิตเหลือที่สามารถนำมาขายได้ เป็นต้น