“เข้าใจ” ปัญหา Climate Change ตรงกันหรือยัง?

09 ธ.ค. 2565 | 14:02 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ธ.ค. 2565 | 21:13 น.

โลกกำลังวิตกกับสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(Climate Change)อย่างมาก หลายประเทศมีนโยบายและแผนการรับมือที่ชัดเจน แต่ดูเหมือนจะไม่ใช่ประเทศไทย ที่ยังคงจัดความสำคัญของสิ่งแวดล้อมไว้ลำดับสุดท้ายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน “เศรษฐกิจ-สังคม-สิ่งแวดล้อม”

 

  • บทความ : โดย พรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย

 

ในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 (COP 26) เมื่อปลายปี 2021 รัฐบาลไทยได้ประกาศเป้าหมายการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจัดว่าดูดีและเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยมาก โดยเฉพาะนโยบายที่มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission)  เช่น การมุ่งสู่การทำเกษตรแบบยั่งยืน และการปลูกพืชแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ

 

ภาวะก๊าซเรือนกระจก โลกร้อน หรือการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศนั้นเป็นปัญหาที่กระทบสังคมที่ต้องแก้ด้วยมาตรการทางเศรษฐกิจ ลำพังจะเรียกร้องให้รัฐหรือภาคเศรษฐกิจ ออกกฎระเบียบและการใช้แรงกดดันทางสังคมนั้นจะไม่เกิดมรรคผลและไม่ทันกาล  แต่การสร้างความเข้าใจให้ตรงกันทุกภาคส่วนว่า โครงสร้างการผลิตและการตลาดต้องเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมต่างหาก ที่รัฐจำเป็นต้องตระหนักและเร่งสื่อสาร ซึ่งน่าเสียดายที่ภาครัฐของไทยไม่มีมาตรการช่วยสร้างความเข้าใจดังกล่าว จึงน่ากังวลว่าเมื่อลงมือทำแล้วจะไม่ได้เป้าประสงค์ตามที่ต้องการทั้งหมด

ในฐานะที่คลุกคลีอยู่ในวงการอาหารสัตว์ซึ่งเป็นต้นน้ำของห่วงโซ่การผลิตอาหาร ได้สัมผัสถึงความเข้าใจในปัญหา Climate Change ที่แตกต่างกันมากในแต่ละข้อต่อของห่วงโซ่ ที่สำคัญหลายข้อต่อไม่ได้มีความเข้าใจเรื่องนี้เลย ยังคงมุ่งแต่ด้านเศรษฐกิจเฉพาะหน้าของตนเองเท่านั้น นอกเหนือจากขอให้รัฐเร่งสร้างความเข้าใจที่ตรงกันของทุก ๆ ข้อต่อในห่วงโซ่อุปทานแล้ว ขอเสนอแนวทางตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ ด้วยการบริหารจัดการใน 4 มิติ ดังนี้

 

นโยบาย : ในเมื่อรัฐประกาศนโยบายใหม่ใน COP 26 แล้ว ต้องติดตามการแก้กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง หรือ re-regulation ให้สอดคล้อง ซึ่งก็ได้เห็นรัฐทำแล้วในบางส่วน เช่น การส่งเสริมการลงทุนโดยสำนักงานส่งเสริมการลงทุน มาตรการทางการเงิน (ธนาคารแห่งประเทศไทย) และต่อไปอาจจะใช้มาตรการทางภาษีกับสินค้าทั้งที่ผลิตในประเทศและสินค้านำเข้า ในภาคเอกชนนั้น มีเพียงบางบริษัทที่ประกาศนโยบายเพื่อบรรเทาผลกระทบ Climate Change ขณะที่รัฐไม่มีแผนดำเนินการให้ครบถ้วนตลอดทั้งห่วงโซ่ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการปรับโครงสร้าง หากทำไม่สำเร็จ ผลการลดก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์และก๊าซเรือนกระจกก็ไม่มีทางเป็นไปได้ และจะเข้าข่าย “การฟอกเขียว” (Green Washing) ไปเสียอีก

 

ทุน : เอกชนขนาดใหญ่มีทุนและงบประมาณที่จะปรับโครงสร้างการผลิต แต่เนื่องจากตลอดห่วงโซ่มีผู้เกี่ยวข้องทั้งที่เป็นบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือแม้แต่เกษตรกรรายย่อยอยู่ในห่วงโซ่ด้วยเป็นจำนวนมาก ซึ่งจำเป็นต้องพัฒนาทั้งหมด  โดยให้เริ่มต้นวางแผนพัฒนาในบริษัทหรือผู้ผลิตที่ให้ความร่วมมือและเข้าใจปัญหา Climate Change ก่อน (ไม่ว่าจะอยู่ในข้อต่อที่เท่าไหร่ก็ตาม)

 

เทคโนโลยี : ประเทศไทยมีเทคโนโลยีพร้อมอยู่แล้วมากมาย ทั้งในสถาบันการศึกษา หรือในกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม เพียงแต่ต้องเข้าให้ถึง โดยหาวิธีให้กลุ่มธุรกิจและแหล่งเทคโนโลยีได้พบกัน และร่วมมือกันใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยลดโลกร้อนในทุกๆขั้นตอนการผลิต 

 

ตลาด : เป็นอีกประเด็นสำคัญ เพราะไม่มีตลาดก็ไม่มีการผลิตสินค้าสีเขียว จึงเป็นหน้าที่ของทั้งภาครัฐและเอกชนในการวางโครงการพัฒนาร่วมกัน สร้างตลาดที่เข้มแข็งให้กับสินค้าที่รักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น สนับสนุนการลดภาษี ดังกรณีรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่รัฐลดภาษีจนทำให้ผู้บริโภคเกิดการตัดสินใจซื้อ รวมถึงต้องสร้างการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งควรจำลองแบบเช่นนี้ในกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหารด้วยอย่างยิ่ง

 

ทั้ง 4 มิติจำเป็นต้องมี “ภาครัฐ” เป็นแกนนำในการสนับสนุนช่วยเหลือและลงมือปฏิบัติควบคู่ไปด้วยกันตลอดทุกข้อต่อของห่วงโซ่อุปทาน ยิ่งถ้าเป็น สินค้าเกษตรและอาหาร ที่มีผู้เกี่ยวข้องในห่วงโซ่หลายล้านคนยิ่งต้องพยายามทำให้ทั้ง 4 มิติเกิดขึ้นจริง กระทรวงที่เกี่ยวข้องต้องเรียนรู้แล้วว่าโลกต้องการอะไร แล้วหันมาพัฒนาสินค้าเกษตรและอาหารที่ช่วยลดโลกร้อนตลอดห่วงโซ่การผลิตให้ได้ เมื่อสินค้าไทยตอบโจทย์ Climate Change ได้ก็จะเอื้อให้ “เศรษฐกิจ” ของประเทศยั่งยืนด้วย ... ดังลำดับการพัฒนาที่ควรเรียงใหม่เป็น “สิ่งแวดล้อม-สังคม-เศรษฐกิจ” นั่นเอง

 

นอกจากนี้ การให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรกควรครอบคลุมไปถึงโมเดลเศรษฐกิจเพื่อความยั่งยืน BCG (Bio Economy, Circular Economy, Green Economy) ด้วย นั่นคือระบบเศรษฐกิจทั้งหมด ต้องมี G หรือ Green Economy เป็นแกนหลัก หมายความว่า เศรษฐกิจชีวภาพหรือเศรษฐกิจหมุนเวียนจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากขาดคุณสมบัติของความเป็นเศรษฐกิจสีเขียวก่อน แบบนี้จึงจะทำให้การแก้ปัญหา Climate Change ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน