กรม Climate Change กับภารกิจ zero carbon เร็วๆนี้

09 ธ.ค. 2565 | 10:42 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ธ.ค. 2565 | 18:23 น.

กระทรวง ทส. ชงตั้งกรม Climate Change ขับเคลื่อนภารกิจ  ความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี ค.ศ. 2065 

เนื่องจากประเทศไทยได้วางเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี ค.ศ. 2065 ซึ่งนอกจากความร่วมมือจากภาคธุรกิจ และประชาชนแล้ว ส่วนราชการถือเป็นอีกส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน

 

ล่าสุด(7 ธันวาคม 2565) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เสนอจัดตั้งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (กรม Climate Change) ซึ่งอยู่ระหว่างการปรับปรุงการแบ่งส่วนราชการ เพื่อเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนการดำเนินงานไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี ค.ศ. 2065

 

โดยที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (กนภ.) ครั้งที่ 4/2565 มีพล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ได้มีมติรับทราบ การจัดตั้งกรมดังกล่าว

 

กรม Climate Change หรือ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม” หรือ   เป็นหน่วยงานในสังกัด กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การจัดตั้งกรมดังกล่าวขึ้นนั้น เพื่อแสดงให้นานาอารยประเทศได้เห็นถึงความตั้งใจ และความเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเป้าหมายดูแล ศึกษา และรับมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน และปกป้องสิ่งแวดล้อม

ภารกิจหลักและหน้าที่

  • จัดทำนโยบาย ยุทธศาสตร์ และมาตรการเกี่ยวกับการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ และลดก๊าซเรือนกระจก
  • ประเมินความเสี่ยง และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 
  • ดำเนินการ และเสนอแนวทางตามพันธกรณีของอนุสัญญา พิธีสาร และความตกลงระหว่างประเทศ และระดับภูมิภาคที่เกี่ยวข้อง กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • ประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชน รวมทั้งองค์กรในประเทศ และต่างประเทศ เพื่อดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ 
  • วิจัย พัฒนา ถ่ายทอด และส่งเสริมเทคโนโลยีการจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม

 

ปัจจุบัน “กรม Climate Change” มีการจัดตั้งใน 26 ประเทศทั่วโลกแล้ว แบ่งเป็น

  • ทวีปเอเชีย ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน เกาหลี ปากีสถาน บังคลาเทศ กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และจอร์แดน 
  • ทวีปยุโรป ได้แก่ ฝรั่งเศส เยอรมัน เดนมาร์ก สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ ไอแลนด์ ตุรกี 
  • ทวีปแอฟริกา ได้แก่ เคนยา และ ไนจีเรีย “ทวีปอเมริกา” สหรัฐอเมริกา และ ไมโครนีเซีย

 

นอกจากนั้น กระทรวง ทส. ยังได้ผลักดันร่างกฎหมายเพื่อดูแลสภาพภูมิอากาศ เป็นฉบับแนกของประเทศไทย คือ (ร่าง) พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเป็นการยกระดับจากภาคสมัครใจ (Voluntary) เป็นภาคบังคับ (Mandatory) และมีการเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการบริหารคาร์บอนเครดิต กลไกการเงิน การกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก คาดว่าจะสามารถนำกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาคณะรัฐมนตรี ภายในต้นปี 2566