นายสมเกียรติ เมสันธสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ WHAUP เปิดเผยว่า จากที่กลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA Group มีเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี พ.ศ.2593 (Net Zero Greenhouse Gas Emissions by 2050) ตามแนวทาง SBTi (Science Based Targets Initiative)
สอดคล้องกับทิศทางของโลกและประเทศไทยในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้น โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ บริษัทได้เดินหน้าขยายพอร์ทการลงทุนในการพัฒนาโซลูชันด้านพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์อย่างต่อเนื่อง
ในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมาบริษัทฯ สามารถเซ็นสัญญาโครงการโซลาร์รูฟท็อปเพิ่มจำนวน 10 สัญญา โดยแบ่งเป็นโครงการ Private PPA จำนวน 8 สัญญา กำลังการผลิตรวมประมาณ 5 เมกะวัตต์ และโครงการ EPC service จำนวน 2 สัญญา กำลังการผลิตรวมประมาณ 6 เมกะวัตต์ ทำให้บริษัทฯ มีจำนวนเซ็นสัญญาโครงการ Private PPA สะสมจำนวน 131 เมกะวัตต์ และคาดว่าสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ที่ลงนามทั้งหมดของโครงการโซลาร์รูฟท็อปของบริษัทฯ จะสูงถึง 150 เมกะวัตต์ภายในสิ้นปีนี้
นอกจากนี้ บริษัทฯสามารถเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) เพื่อผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับลูกค้าเพิ่มเติมอีก 7 เมกะวัตต์ ส่งผลให้ปัจจุบันบริษัทฯ มีกำลังการผลิตโครงการโซลาร์ที่เปิดดำเนินเชิงพาณิชย์แล้วรวม 69 เมกะวัตต์ และมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมตามสัดส่วนการถือหุ้นทั้งหมด 619 เมกะวัตต์
อีกทั้ง บริษัทฯมุ่งมั่นพัฒนาโซลูชันดิจิทัลที่เป็นนวัตกรรมสมัยใหม่ อาทิ การพัฒนาแพลตฟอร์มพลังงานอัจฉริยะโดยร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ กับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัทเซอร์ทิส จำกัด “Sertis” พัฒนาระบบ Peer-to-Peer Energy Trading Platform ภายใต้ชื่อว่า Renewable Energy Exchange (RENEX) ที่ได้เข้าร่วมโครงการ ERC Sandbox ของคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการพลังงาน (ERC) เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถประมูลซื้อหรือขายไฟฟ้าจากระบบพลังงานแสงอาทิตย์ระหว่างกันเองได้อย่างเสรีผ่านระบบสายส่งของการไฟฟ้า
ทั้งนี้ แพลตฟอร์มดังกล่าวได้นำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการทำธุรกรรม และอำนวยความสะดวกในการซื้อขายพลังงานระหว่างผู้ใช้อุตสาหกรรม โดยขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการเตรียม การสุดท้ายสำหรับการดำเนินการเชิงพาณิชย์ ซึ่งเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ แพลตฟอร์ม RENEX จะมีบทบาทสำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรมพลังงานของประเทศ ไทยด้วยการลดต้นทุนด้านพลังงานสำหรับภาคอุตสาหกรรมและส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดให้มากขึ้นอีกด้วย
“โครงการนี้มีผู้ประกอบการชั้นนำในนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอเข้าร่วมเป็นผู้ซื้อขายพลังงานจำนวนมากถึง 23 บริษัท ทั้งนี้อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมขั้นสุดท้ายในการให้บริการซื้อขายเชิงพาณิชย์ คาดว่าจะเริ่มขึ้นได้ในเร็ว ๆ นี้”
สำหรับผลการดำเนินงานของธุรกิจไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ในไตรมาส 3 และ 9 เดือนแรกของปี 2565 บริษัทฯ รับรู้รายได้เท่ากับ 75 ล้านบาท และ 178 ล้านบาทตามลำดับ ถ้านับเฉพาะรายได้จากธุรกิจ Private PPA ใน 9 เดือนแรกของปี 2565 มีการเติบโตถึง 46% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
แหล่งข่าวจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. เปิดเผยว่า เมื่อช่วงเดือนสิงหาคม 2565 โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 68,174.43 กิโลวัตต์ จำนวน 31 โครงการ มูลค่าลงทุน 1, 612 ล้านบาท ของบริษัท WHAUP ที่ได้ลงทุนติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาหรือโซลาร์รูฟท็อป ให้กับลูกทั้งในและนอกนิคมอุตสาหกรรม ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ได้รับการขึ้นทะเบียนหรือรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจก ภายใต้โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย ( T-VER)
ทั้งนี้มีปรมาณไฟฟ้าที่คาดว่าจะผลิตได้ 101,837,040 กิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อปี มีปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลดได้ในระยะเวลาคิดคาร์บอนเครดิต ของโครงการจากการคำนวณเท่ากับ 48,543 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และมีปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลดได้ตลอดระยะเวลาคิดคาร์บอนเครดิตของโครงการเท่ากับ 339,803 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยระยะเวลาคิดเครดิตของโครงการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566-31 ธันวาคม 2572
ข่าวที่เกี่ยวข้อง