นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ยังมีความยืดเยื้อ ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานปรับตัวสูงไปทั่วโลก ที่ผ่านมา ปตท.ได้ร่วมแบ่งบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชน ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน ได้ร่วมแบ่งเบาภาระต้นทุนค่าครองชีพด้านพลังงานไปแล้วกว่า 23,800 ล้านบาท อาทิ การให้ส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี) แก่ผู้มีรายได้น้อยที่เป็นร้านหาบเร่ แผงลอยอาหาร ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวนเงิน 100 บาทต่อคนต่อเดือน โดยได้ขยายระยะเวลามาอย่างต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565
การขยายระยะเวลาในการตรึงราคาขายปลีกก๊าซ NGV สำหรับกลุ่มรถแท็กซี่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลที่ได้รับสิทธิ์ (โครงการเอ็นจีวีเพื่อลมหายใจเดียวกัน) ที่ 13.62 บาทต่อกิโลกรัม จนถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2565 และได้ตรึงราคาก๊าซเอ็นจีวีที่ 15.59 บาทต่อกิโลกรัม สำหรับประชาชนทั่วไป ทั้ง 2 กลุ่มนี้ตั้งแต่พฤศจิกายน 2564 จนถึงกันยายน 2565 ไปแล้วกว่า 7,198 ล้านบาท
สนับสนุนเงินช่วยเหลือนำส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นการเฉพาะจำนวน 1,000 ล้านบาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน(ก.ย.-ธ.ค.65) รวมเป็นเงิน 3,000 ล้านบาท เพื่อใช้ดำาเนินการตามวัตถุประสงค์ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมในช่วงที่สถานการณ์ราคาพลังงานโลกยังคงผันผวน รวมทั้งบริษัท ปตท. นํ้ามัน และการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ ได้ตรึงราคาขายปลีกน้ำมัน ช่วงเดือนมกราคม 2564 ถึงกรกฎาคม 2565 เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชน คิดเป็นวงเงิน 6,723 ล้านบาท
อีกทั้งบรรเทาภาระต้นทุนผลิตไฟฟ้าให้กับประชาชน โดยการเลื่อนกำหนดชำระเงินค่าก๊าซฯ งวดเดือนพฤษภาคม 2565 มูลค่าประมาณ 13,000 ล้านบาทจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ออกไปเป็นระยะเวลา 4 เดือน พร้อมไม่เรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยมูลค่าประมาณ 340 ล้านบาทที่จะเกิดขึ้น เพื่อมีส่วนช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับ กฟผ. ในการแบกรับต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับประชาชน เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังดูแลสังคมโดยจัดตั้งโครงการลมหายใจเดียวกัน กลุ่ม ปตท. ให้บริการตรวจคัดกรองเชื้อโควิดรวมงบประมาณ 1,046 ล้านบาท โครงการลมหายใจเพื่อน้อง ช่วยเหลือเยาวชนกว่า 60,000 คน ที่เสี่ยงต่อการหลุดจากระบบการศึกษาและจัดตั้งกองทุน จำนวน 171 ล้านบาท และโครงการลมหายใจเพื่อเมือง สนับสนุนเป้าหมายของกรุงเทพมหานคร ในการปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียว
นายอรรถพล กล่าวอีกว่า สำหรับผลการดำเนินงานใน 9 เดือนแรกปี 2565 ของ ปตท. และบริษัทย่อย ทั้งในและต่างประเทศ กลุ่มปตท.มีรายได้ 2,570,029 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิจำนวน 73,303 ล้านบาท ลดลง 9% จากช่วงเดียวกันของปี 2564 เนื่องจากขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์ ภาษีเงินได้ และขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ กำไรสุทธิของกลุ่มปตท. มาจากผลการดำเนินงานของ ปตท. คิดเป็น 13% ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผลการดำเนินงานของธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ที่ต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติปรับสูงขึ้นมาก และอีก 87% มาจากผลการดำเนินงานของบริษัทในเครือ ปตท. ซึ่งประกอบด้วยธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม 49% ธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐานและบริษัทย่อยอื่นๆ 24% ธุรกิจน้ำมันและค้าปลีก 11%
สำหรับ ธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น มีสัดส่วนเพียง 3% โดยผลการดำเนินงานได้รับผลกระทบจากขาดทุนสต๊อกน้ำมันที่เพิ่มขึ้นมากตามทิศทางราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงตามความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา คณะกรรมการ ปตท. มีมติอนุมัติการจ่ายปันผลระหว่างกาลส่งผลให้กระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่และกองทุนวายุภักษ์จะได้รับเงินปันผลรวมประมาณ 23,494 ล้านบาท และเมื่อรวมกับภาษีเงินได้นิติบุคคลของ ปตท. และบริษัทในเครือ ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 อีกประมาณ 40,967 ล้านบาท รวมกลุ่ม ปตท. นำส่งรายได้เข้ารัฐปี 2565 แล้ว 64,461 ล้านบาท
สำหรับกำไรของ ปตท. ภายหลังการจ่ายเงินปันผลให้แก่รัฐและผู้ถือหุ้น จะนำไปลงทุนเพิ่มเติมในโครงการต่างๆ ที่สำคัญ รวมถึงสนับสนุนการดำเนินงานด้านกิจการเพื่อสังคม โดย ปตท. ได้ประกาศเจตนารมณ์มุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ในปี ค.ศ. 2040 และเป้าหมาย Net Zero Emissions ในปี ค.ศ. 2050 โดยกลุ่ม ปตท. มีแผนปลูกป่าเพิ่มเติมรวม 2 ล้านไร่ ภายในปี ค.ศ. 2030 แบ่งเป็นการดำเนินการโดย ปตท. 1 ล้านไร่ และความร่วมมือบริษัทในกลุ่ม ปตท. อีก 1 ล้านไร่ สร้างคุณค่าด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจชุมชน นำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทยอย่างต่อเนื่อง
หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3836 วันที่ 17 - 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565
ข่าวที่เกี่ยวข้อง