กำลังเป็นประเด็นร้อนสำหรับค่าไฟฟ้าในรอบเดือนมกราคม-เมษายน 2566 ที่จะปรับเพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 40 สตางค์ต่อหน่วย จากปัจจุบันอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย ซึ่งเป็นผลจากอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรหรือค่าเอฟที ที่สะท้อนจากต้นทุนเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้ามีราคาสูงขึ้น โดยเฉพาะราคา Spot LNG ที่เวลานี้ปรับตัวอยู่ประมาณ 28-29 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อล้านบีทียู และมีแนวโน้มจะปรับตัวสูงขึ้นอีกในเดือนธันวาคม 2565 จากความต้องการใช้ก๊าซฯทำความร้อนในปริมาณที่สูงขึ้นในช่วงฤดูหนาวของสหภาพยุโรป
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า จากการคำนวณต้นทุนค่าเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าในช่วงที่ผ่านมาปรับตัวสูงขึ้นมากอย่างต่อเนื่อง จากปริมาณการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวหรือแอลเอ็นจีในรูปแบบ Spot มีราคาแพง และมีปริมาณมากขึ้น เนื่องจากการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยลดลง จากแหล่งก๊าซเอราวัณ ที่ไม่สามารถผลิตขึ้นมาได้ตามสัญญาที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน (ปัจจุบันผลิตได้ราว 300 ล้านลูกบาศก์ต่อวัน) ทำให้ต้องนำเข้าแอลเอ็นจีช่วงมกราคม-สิงหาคม 2565 กว่า 3 ล้านตัน
โดยเฉพาะช่วงเดือนกันยายน 2565 ต้องนำเข้าแอลเอ็นจีมาเสริมอีก 7 ลำเรือ หรือราว 4.2 แสนตัน มีราคาเฉลี่ยกว่า 40 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู ส่งผลให้ราคาก๊าซพูล (เป็นราคาเฉลี่ยก๊าซจากอ่าวไทย + ก๊าซจากเมียนมา + ก๊าซแอลเอ็นจีสัญญาระยะยาว) ที่ใช้คำนวณในการคิดอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรหรือค่าเอฟที ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงมาอยู่ระดับ 600 บาทต่อล้านบีทียู จากช่วงสิงหา คม 2565 อยู่ที่ระดับกว่า 400-500 บาทต่อล้านบีทียู ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อค่าเอฟที ที่จะปรับเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ประกอบกับที่ผ่านมาการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ต้องรับภาระแบกค่าเอฟทีแทนประชาชนเป็นจำนวนมาก มาตั้งแต่ค่าไฟฟ้างวดกันยายน-ธันวาคม 2564 จนถึงงวดเดือน พ.ค.- ส.ค.2565 มีภาระหนี้สินเกิดขึ้นกับกฟผ.แล้วรวมทั้งสิ้น 87,849 ล้านบาท และเมื่อรวมงวดปัจจุบัน ก.ย. - ธ.ค.2565 นั้นทำให้ กฟผ.มีภาระหนี้สินสูงขึ้นถึงประมาณ 1.2 แสนล้านบาท
“ในช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม 2565 มีการปรับค่าเอฟทีขึ้นไปอีก 68.66 สตางค์ต่อหน่วย แต่เป็นเพียงเฉพาะต้นทุนค่าเชื้อเพลิงเท่านั้น ยังไม่ได้บวกค่าเอฟทีที่จะต้องทยอยคืนให้กับกฟผ. จนส่งให้กฟผ.ประสบปัญหาหนักจากการแบกรับภาระจากการบริหารค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (FT) ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งการประมาณการกระแสเงินสดของ กฟผ. พบว่าจะเจอกับภาวะขาดเงินสูงสุดในวันที่ 30 มีนาคม 2566 เป็นจำนวนเงินประมาณ 7.4 หมื่นล้านบาท จึงไม่มีทางเลือกนอกจากต้องขอ ครม.กู้เงินเสริมสภาพคล่อง 8.5 หมื่นล้านบาท จากที่ก่อนหน้านี้เดือนมีนาคม กฟผ. ขอกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง ภายใต้วงเงินไม่เกิน 25,000 ล้านบาทไปแล้ว”
อีกทั้ง แนวโน้มค่าเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าในปี 2566 จะยังปรับตัวสูงขึ้นอีก โดยมอร์แกนสแตนเลย์ คาดการณ์ก๊าซแอลเอ็นจีไตรมาสแรกปี 2566 จะอยู่ 39 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อล้านบีทียู และไตรมาส 2 จะปรับขึ้นไปแตะ 50 ดอลลาร์สหรัฐฯฯต่อล้านบีทียู ประกอบกับจากกำลังการผลิตก๊าซในอ่าวไทยและจากเมียนมาที่ลดลง จะส่งผลต่อปริมาณก๊าซฯหายไปอีกราว 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และต้องนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีในรูปแบบ Spot LNG ที่มีราคาสูงในปริมาณที่มากขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อการนำนวณค่าเอฟทียาวไปถึงปี 2567 ที่ค่าเอทีจะปรับสูงขึ้นตัวต่อเนื่อง
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ดังนั้นจากต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและการลดภาระกฟผ.กกพ.มีความจำเป็นต้องปรับค่าเอฟทีในงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2566 เพิ่มขึ้นอีกส่วนจะเป็นเท่าใดนั้น กำลังอยู่ระหว่างพิจารณา เนื่องจากความต้องการใช้ไฟฟ้าในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2565 มีแนวโน้มปรับตัวลงต่ำกว่าที่ประมาณการณ์ไว้ จากเดิมที่คาดว่าเดือนมกราคม-เมษายน 2566 หากต้องตรึงค่าไฟฟ้าไว้ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย จะส่งผลให้กฟผ.ต้องแบกรับภาระอีกราว 5 หมื่นล้านบาท รวมของเดิมเพิ่มเป็น 1.7 แสนล้านบาท แต่ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลงภาระที่แบกรับจะลดลงมาเหลือราว 3-4 หมื่นล้านบาท
“หากไม่ปรับค่าเอฟทีขึ้นไป โดยเฉพาะในส่วนที่ต้องทยอยคืนกฟผ.นั้น ในปีหน้า จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของกฟผ.อย่างหนัก จากสภาพคล่องของกระแสเงินสด ที่ต้องนำไปจ่ายค่าเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า รวมถึงจ่ายค่าไฟฟ้าที่ต้องซื้อมาจากภาคเอกชน ขณะที่การจะหากแหล่งกู้เงินมาเสริมสภาพคล่องก็ค่อนข้างลำบาก ซึ่งประเมินค่าเอฟทีที่จะปรับขึ้นครั้งนี้ จะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าในเดือนมกราคม 2566 ที่เรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าสูงกว่า 5 บาทต่อหน่วยอย่างแน่นอน”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง