พื้นที่ OCA ความสัมพันธ์ทวิภาคีกับประเทศเพื่อนบ้าน

13 ต.ค. 2565 | 12:26 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ต.ค. 2565 | 19:40 น.

บทความโดย : คุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการ สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เรื่อง พื้นที่ OCA ความสัมพันธ์ทวิภาคีกับประเทศเพื่อนบ้าน

พื้นที่ OCA ความสัมพันธ์ทวิภาคีกับประเทศเพื่อนบ้าน

 

ในสมัยที่ผมเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อย ได้มีโอกาสทำงานและเป็นทีมสนับสนุนร่วมประชุมในเวทีทวิภาคีกับผู้ใหญ่ในกระทรวงการต่างประเทศหลาย ๆ ท่าน ซึ่งล้วนเป็นผู้มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์สูงในด้านการทูตและกฎหมายระหว่างประเทศ ได้มีส่วนร่วมศึกษาจัดทำข้อมูลทางเทคนิคเกี่ยวกับเส้นเขตแดนทางทะเล ทรัพยากร สัญญาสัมปทานปิโตรเลียม และร่วมสังเกตการณ์กำหนดท่าที กลยุทธ์ และการเจรจาเพื่อให้เกิดบรรลุเป็นความตกลงระหว่างประเทศที่ทั้งสองฝ่ายพอยอมรับกันได้ จากนั้นก็ยังมีขั้นตอนของการขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีและขอความเห็นชอบจากรัฐสภาด้วย

สิ่งหนึ่งที่ผมเรียนรู้จากนักการทูตของไทยหลาย ๆ ท่าน ก็คือ การเจรจาใด ๆ เราจะไปหวังให้ได้ผลเต็มตามเป้าหมายเริ่มต้นนั้นคงยาก แต่เราต้องทำการบ้าน รู้จักอ้างอิงข้อมูล หลักฐาน หรือหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่มาสนับสนุนท่าทีของฝ่ายเราให้ดีที่สุด โน้มน้าวให้คู่เจรจามองเราด้วยความเป็นมิตร มีความเคารพในท่าทีของแต่ละฝ่าย พยายามหาจุดร่วมและชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ที่จะเกิดมีร่วมกัน การเจรจาจะต้องใช้เวลาในการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ และคงไม่มีฝ่ายใดได้ตามที่ตนต้องการทั้งหมด และก็คงไม่มีฝ่ายใดจะยอมเสียประโยชน์หมดโดยไม่ได้อะไรเลย

 

พื้นที่ OCA ความสัมพันธ์ทวิภาคีกับประเทศเพื่อนบ้าน

ทางเลือกอื่นของการไม่เจรจา คือการไปหาคนกลางมาช่วยตัดสินหรือไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง เช่นฟ้องเป็นคดีสู่ศาลโลก หรือทำสงครามโดยใช้กำลังเข้าตัดสินซึ่งหมดสมัยที่จะคิดแบบนั้นไปแล้ว การเจรจาเขตพื้นที่ไหล่ทวีปคาบเกี่ยวไทย-กัมพูชา (Overlapping Claimed Area: OCA) ได้ชะงักขาดตอนมาเป็นเวลากว่า 16 ปีแล้ว ส่วนหนึ่งก็อาจเป็นเพราะความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างกันที่มีขึ้นมีลง พัวพันไปถึงปัญหาชายแดนบนบก การเมืองในประเทศของทั้งสองฝ่าย และบางครั้งก็มาจากอุปสรรคขั้นตอนตามกฎหมายรัฐธรรมนูญในอดีต ที่สร้างขั้นตอนและเงื่อนไขที่ทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้ยากขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสถานการณ์โลกได้เปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อสิบปีก่อนมาก ทั้งสองประเทศต่างก็ประสบปัญหาเศรษฐกิจและพลังงาน ความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างผู้นำมีมากขึ้น ผมจึงเห็นว่า ในการเจรจาแก้ปัญหาพื้นที่ OCA กับกัมพูชา รัฐบาลไทย ควรตั้งทีมเจรจาที่นำโดยข้าราชการกระทรวงต่างประเทศ และประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้กรอบอำนาจหน้าที่และชั้นความลับในการเจรจา โดยคำนึงถึงหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ความจำเป็นทางเศรษฐกิจ การมีสัมพันธ์ที่ดีและสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกับประเทศเพื่อนบ้าน และการได้ประโยชน์ร่วมกันจากแหล่งพลังงาน และพยายามหาทางออกมาเสนอต่อรัฐบาลทั้งสองที่จะเป็น Win Win Solution สำหรับทุกฝ่าย และยังจะช่วยสร้างเสริมความสัมพันธ์ ทวิภาคีระหว่างสองประเทศสมาชิกอาเซียนให้แน่นแฟ้นดีขึ้นด้วย