โดย คุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย
รัฐบาลทั้งสองต่างก็ต้องการเข้าไปทำกิจกรรมสำรวจหาแหล่งทรัพยากรปิโตรเลียมในบริเวณดังกล่าว ซึ่งมีเนื้อที่ทางทะเลประมาณ 26,000 ตารางกิโลเมตร มีการให้สิทธิสัมปทานปิโตรเลียมแก่บริษัทเอกชนโดยทั้งสองฝ่ายไปแล้ว จึงเกิดเป็นพื้นที่สัมปทานทับซ้อนกันอีกด้วย
ทางวิชาการพื้นที่บริเวณนี้ตั้งอยู่บนแอ่งธรณีวิทยาที่เรียกกันว่า Pattani Basin มีศักยภาพที่จะพบแหล่งก๊าซธรรมชาติและแหล่งน้ำมันดิบในจำนวนและขนาดปริมาณสำรองที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าที่เคยสำรวจพบมาแล้วที่อยู่ในเขตทางทะเลของไทยกว่า 20 แหล่ง ได้แก่ แหล่งเอราวัณ สตูล ปลาทอง ทานตะวัน และเบญจมาศ เป็นต้น ตราบใดที่ทั้งสองประเทศยังไม่สามารถเจรจาหาข้อยุติได้ พื้นที่ OCA (ดังแสดงในรูปที่ 1) ก็มีสถานะเสมือนเป็น No Man’s Land ที่จะไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเข้าไปสำรวจได้ นับเป็นการสูญเสียโอกาสทางการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยิ่ง
ในเชิงยุทธศาสตร์ ประเทศจำเป็นต้องแสวงหาแหล่งพลังงานเป็นของตนเอง หากเราไม่ตัดสินใจหาแหล่งปิโตรเลียมเพื่อเพิ่มปริมาณสำรองก๊าซ ณ วันนี้ ไทยก็จะเป็นผู้นำเข้าก๊าซธรรมชาติ (โดยเฉพาะก๊าซ LNG) และก๊าซหุงต้ม LPG มากขึ้น ๆ โดยทุก ๆ ลูกบาศก์ฟุตหรือทุก ๆ ตันของก๊าซ LNG ที่เราต้องเสียเงินตราต่างประเทศออกไปซื้อมันมา ไทยเราย่อมไม่ได้เงินผลประโยชน์เข้ารัฐเป็นรายได้อะไรเลยสักบาทเดียว เพราะประเทศต้นทางที่ผลิตและขายก๊าซธรรมชาติต่างหาก คือผู้ได้รับส่วนแบ่งจากการขายก๊าซฯนั้น ในฐานะที่เป็นเจ้าของแหล่งก๊าซฯ
ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หากมีใครไปสำรวจข้อมูลธุรกิจการให้บริการสนับสนุนการขุดเจาะและผลิตก๊าซในอ่าวไทย ที่จังหวัดสงขลาและชลบุรี จะพบสถิติที่น่าตกใจว่าคนงานไทยที่มีฝีมือต้องถูกเลิกจ้างงานเป็นจำนวนนับพันคน เนื่องจากผู้รับสัมปทานมีแต่ทยอยถอนตัวหรือลดขนาดกิจการ ส่งผลให้การลงทุนชะลอหรือลดลง เมื่อเงินทุนหมุนเวียนน้อยลง ก็จำเป็นต้องลดคนงาน กระทบเศรษฐกิจต่อกันเป็นลูกโซ่
ในมุมมองนักวางแผน ราคาก๊าซฯที่ขุดพบในประเทศมีสูตรราคาระยะยาว ที่อ้างอิงกับราคาน้ำมันเตาและขยับราคาช้ากว่าการปรับตัวของราคาน้ำมัน จึงเป็นราคาที่เหมาะสมและยอมรับได้มากกว่าราคาตลาดจรของการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Spot Prices) ซึ่งปัจจุบันถีบตัวแพงขึ้นมาก หากไทยนำเข้า LNG จำนวน 10 ล้านตันในปี 2565 นี้โดยทั้งหมดเป็นราคาตลาดจร (Spot) มูลค่าส่วนต่างกับราคาก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยตลอดทั้งปีจะเป็นต้นทุนก๊าซฯที่สูงขึ้นเฉลี่ย 33.15 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู คิดเป็นค่าเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าที่จะสูงขึ้นถึง 595,129 ล้านบาทต่อปี เลยทีเดียว ประมาณว่าจะส่งผ่านเป็นค่าไฟฟ้า Ft แพงขึ้นจากเดิมอีกไม่ต่ำกว่า 8 บาทต่อหน่วย ซึ่งผู้บริโภคคงจะไม่สามารถรับค่าพลังงานสูงเช่นนั้นได้
ฉะนั้น พื้นที่ OCA จึงเป็นทั้งโอกาสและความจำเป็นที่ไทยควรเร่งเจรจาหาข้อยุติกับกัมพูชา เพื่อให้เกิดการแสวงหาและพัฒนาทรัพยากรก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้ต่อเนื่องไปอีกในราคาที่เหมาะสม มิให้เกิดการหยุดชะงัก (Disruption)ต่อการผลิตไฟฟ้าและ LPG ของประเทศ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง