กฟผ. ลุยแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน ดันโซลาร์ลอยนํ้า 1 หมื่นเมกะวัตต์

07 ต.ค. 2565 | 15:51 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ต.ค. 2565 | 23:13 น.

กฟผ. เดินหน้าพัฒนาแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน ดันโซลาร์ลอยน้ำในเขื่อน 1 หมื่นเมกะวัตต์ บรรจุอยู่ในแผนพีดีพี พร้อมโรงไฟฟาสูบกลับ 2,493 เมกะวัตต์ และติดตั้งระบบกักเก็บพลังานในสถานีไฟฟ้าแรงสูง ชี้ช่วยเพิ่มสัดส่วนการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน และรักษาความผันผวนของระบบไฟฟ้า

นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ภายใต้แผนพลังงานชาติ ที่กำหนดเป้าหมายการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าใหม่ ต้องมีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 50% ร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน ของกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ ภายในปี 2580 ซึ่งจะช่วยให้ประเทศบรรลุสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปีพ.ศ. 2593 รวมถึงการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี พ.ศ.2608

ในส่วนของการดำเนินงานของกฟผ.นั้น ได้เสนอการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยนํ้า (Solar Floating) และโซลาร์แบบทุ่นลอยนํ้าร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังนํ้าและระบบกักเก็บพลังงานแบบแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage System : BESS) ในพื้นที่เขื่อนต่าง ๆ เข้าไปบรรจุอยู่ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าหรือพีดีพี ฉบับใหม่ที่จะเริ่มนำมาใช้ในปี 2566 รวมกำลังผลิตราว 1 หมื่นเมกะวัตต์ จากเดิมที่บรรจุไว้ราว 2,725 เมกะวัตต์

 

ทั้งนี้ นอกจากเป็นการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนแล้ว ยังสอดรับกับแผนการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสมาร์ทกริดของประเทศไทย ระยะปานกลาง พ.ศ. 2565-2574 ในการวางแผนด้านกำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ และช่วยบริหารจัดการพลังงานหมุนเวียนที่มีความผันผวน (VRE) เนื่องจากโซลาร์แบบทุ่นลอยนํ้าร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังนํ้าถือเป็นระบบกักเก็บพลังงานหรือแบตเตอรี่ชนิดหนึ่ง อีกทั้ง อ่างเก็บนํ้าตามเขื่อนต่าง ๆ ยังมีพื้นที่เหลืออยู่อีกมาก หากติดตั้งครบทั้ง 1 หมื่นเมกะวัตต์ คิดเป็นเพียง 1% ของพื้นที่อ่างเก็บนํ้าทั้งหมดเท่านั้น

กฟผ. ลุยแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน ดันโซลาร์ลอยนํ้า 1 หมื่นเมกะวัตต์

 

รวมถึงมีแผนที่จะพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังนํ้าแบบสูบกลับ เพื่อใช้เป็นระบบกักเก็บพลังงานด้วยพลังนํ้าขนาดใหญ่อีกราว 2,493 เมกะวัตต์ ใน 3 โครงการ ประกอบด้วยโครงการโรงไฟฟ้าพลังนํ้าแบบสูบกลับเขื่อนจุฬาภรณ์ กำลังผลิตติดตั้ง 801 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนราว 31,300 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา คาดว่าจะจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ในปี 2578 โครงการโรงไฟฟ้าพลังนํ้าแบบสูบกลับเขื่อนวชิราลงกรณ์ กำลังการผลิต 891 เมกะวัตต์ คาดจะใช้เงินลงทุนอีกประมาณ 32,100 ล้านบาท และโครงการโรงไฟฟ้าพลังนํ้าแบบสูบกลับเขื่อนศรีนครินทร์ มีขนาดกำลังผลิตโรงไฟฟ้ารวม 801 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนประมาณ 29,950 ล้านบาท

 

ปัจจุบัน กฟผ.มีโรงไฟฟ้าพลังนํ้าแบบสูบกลับทั้งสิ้น 3 แห่ง รวมกำลังผลิต 1,531 เมกะวัตต์ (MW) ได้แก่ โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา จ.นครราชสีมา กำลังผลิต 1,000 เมกะวัตต์ เขื่อนศรีนครินทร์  จ.กาญจนบุรี กำลังผลิต 360 เมกะวัตต์ และเขื่อนภูมิพล จ.ตาก กำลังผลิต 171 เมกะวัตต์

 

นายประเสริฐศักดิ์ กล่าวอีกว่า อีกทั้ง เร่งพัฒนาระบบกักเก็บพลังาน ที่เชื่อมต่อกับระบบส่งไฟฟ้า หรือ Grid Scale ที่อยู่ระหว่างการศึกษาอีก 2-3 โครงการ เช่น ในพื้นที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนหรือบริหารจัดการพลังงานหมุนเวียนช่วยลดความผันผวน ทำให้โครงข่ายระบบไฟฟ้ามีความทันสมัย ยืดหยุ่น (Grid Modernization) สามารถนำพลังงานหมุนเวียนมาปรับใช้ได้อย่างเหมาะสมสร้างความมั่นคงของระบบผลิตไฟฟ้าในภาพรวม

 

ปัจจุบันได้นำร่องดำเนินการไปแล้ว 2 โครงการ ติดตั้งสถานีไฟฟ้าแรงสูงบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ กำลังผลิตไฟฟ้า 16 เมกะวัตต์-ชั่วโมง MWh และสถานีไฟฟ้าแรงสูงชัยบาดาล จ.ลพบุรี กำลังผลิตไฟฟ้า 21 เมกะวัตต์-ชั่วโมง (MWh) แลรวมทั้งสิ้น 37 MWh ใช้เงินลงทุนราว 850 ล้านบาท นับว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

 

BESS จะทำหน้าที่กักเก็บพลังงานในช่วงที่ระบบมีความต้องการไฟฟ้าต่ำ (Off Peak) และจ่ายไฟฟ้าคืนสู่ระบบเพื่อชดเชยกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่มีความผันผวนในช่วงบ่าย ลดความต้องการไฟฟ้าสูงสุดในช่วงหัวค่ำ และลดความหนาแน่นของสายส่งกำลังไฟฟ้า โดยแบตเตอรี่ที่นำมาใช้ใน BESS เป็นแบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออน ซึ่งสามารถกักเก็บพลังงานไฟฟ้าได้มากในพื้นที่จำกัด อีกทั้งสามารถจ่ายไฟและชาร์จไฟได้เร็วโดยออกแบบให้มีอายุการใช้งานได้นานถึง 15 ปี”