energy
900

เปิดแผน "PDP2022" รายละเอียดเป็นอย่างไร เน้นด้านใด อ่านเลย

    เปิดแผน "PDP2022" รายละเอียดเป็นอย่างไร เน้นด้านใด อ่านเลยที่นี่มีคำตอบ หลังที่ประชุม กบง. มีมติเห็นชอบรับทราบร่างแผน PDP2022 กรณีฐานที่คำนึงถึงการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐาน

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ว่า กบง. มีมติเห็นชอบ ค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าระยะยาวสำหรับการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2565 – 2580 (PDP2022

 

และรับทราบร่างแผน PDP2022 กรณีฐาน (Base Case) ที่คำนึงถึงการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ในปัจจุบันให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งเป็นกรณีเริ่มต้นสำหรับนำไปใช้จัดทำร่างแผนกรณีอื่นๆ โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ ดำเนินการจัดทำร่างแผนกรณีต่างๆ ตามข้อเสนอแนะของ กบง. และคณะอนุกรรมการพยากรณ์และจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ

 

แล้วนำมาเสนอ กบง. พิจารณาอีกครั้ง โดยจะพิจารณาร่างแผนกรณีที่เหมาะสมกับประเทศไทยมากที่สุดมาเป็นร่างแผน PDP2022 สำหรับประกาศใช้จริงต่อไป

 

สำหรับแผน PDP2022 ฉบับดังกล่าวนี้ ได้ให้ความสำคัญในประเด็นต่างๆ ต่อไปนี้ 

  • เน้นความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศ (Security) เพื่อให้มีความมั่นคงครอบคลุมทั้งระบบผลิตไฟฟ้า ระบบส่งไฟฟ้า และความมั่นคงรายพื้นที่ คำนึงถึงผู้ใช้ไฟฟ้านอกระบบ (IPS) รวมถึง Disruptive Technology เพื่อให้ระบบผลิตไฟฟ้ามีความยืดหยุ่นเพียงพอต่อการรองรับ Energy Transition 

 

  • ต้นทุนค่าไฟฟ้าอยู่ในระดับที่เหมาะสม (Economy) อัตราค่าไฟฟ้ามีเสถียรภาพ สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงประชาชนไม่แบกรับภาระอย่างไม่เป็นธรรม และไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว  

 

กบง. ไฟเขียว ปรับร่างแผนพีดีพี 2022

 

  • ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (Ecology) จำกัดปริมาณการปลดปล่อย CO2 ให้สอดคล้องตามเป้าหมายแผนพลังงานชาติ และเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะยาวของประเทศ (LTS) ตามนโยบาย Carbon neutrality และ Net zero emission 

 

จากสถานการณ์การผลิตและการใช้ไฟฟ้าในปัจจุบันและอนาคตมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงไปจากในอดีต รวมถึงทิศทางของโลกและประเทศไทยที่มุ่งไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงาน และสนับสนุนการใช้พลังสะอาดมากขึ้น จึงควรต้องมีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต

ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของแผนปฏิรูปด้านพลังงานของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน รวมถึงสอดคล้องกับนโยบายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคพลังงานของกระทรวงพลังงานหรือของประเทศไทย (Carbon Neutrality) และกรอบแผนพลังงานชาติ 

 

นอกจากนี้ ที่ประชุม กบง. ได้มีมติเห็นชอบนิยามกรอบระยะเวลาของสัญญา LNG และหลักเกณฑ์ราคานำเข้า LNG ด้วยสัญญาระยะสั้น สำหรับกลุ่มที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (Regulated Market) ซึ่งจะมีการจัดหา LNG ด้วยสัญญาที่มีระยะเวลาต่ำกว่า 5 ปี 

 

โดยราคานำเข้า LNG จะต้องอ้างอิงกับราคา JKM adjusted by freight cost หรือราคาอ้างอิง Gas Link หรือ Oil Link หรือ Hybrid ขึ้นอยู่กับสภาวะตลาด ซึ่งประมาณการมูลค่านำเข้า LNG ด้วยราคาอ้างอิงที่เสนอโดยรวมตลอดอายุสัญญา จะต้องไม่เกินประมาณการมูลค่านำเข้าด้วยราคา JKM adjust by freight cost โดยมอบหมายให้ กกพ. เป็นผู้กำกับดูแลและพิจารณาความคุ้มค่าที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศในภาพรวมต่อไป

 

นอกจากนี้จากการติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและสถานการณ์ปาล์มน้ำมันอย่างใกล้ชิด ที่ประชุม กบง. มีมติเห็นชอบให้ยกเลิกมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2565 ที่เดิมกำหนดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลในน้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็วไม่ต่ำกว่า 5% ตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 

 

โดยที่ประชุม กบง. มีมติเห็นชอบการกำหนดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันในน้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็วให้เป็นไปตามสัดส่วนการผสม ดังนี้ น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 ไม่ต่ำกว่า 6.6% และไม่สูงกว่า 7% โดยปริมาตร น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา ไม่ต่ำกว่า 6.6% และไม่สูงกว่า 10% โดยปริมาตร 

 

และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 ไม่ต่ำกว่า 6.6% และไม่สูงกว่า 20% โดยปริมาตร ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 และได้มอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) ออกประกาศ ธพ. เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันดีเซล (ฉบับที่ ..) พ.ศ. 2565 ให้สอดคล้องกับการกำหนดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลใหม่ดังกล่าว