การฆ่าตัวตาย ปัญหาในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19

12 มิ.ย. 2563 | 15:30 น.
999

โควิด 19 เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดความเครียด ความทุกข์ ความเศร้า ในทุกหย่อมหญ้า เป็นปัญหาไม่ใช่แค่ไทย แต่เป็นทั่วโลก ซึ่งปัญหานี้อาจนำไปสู่ การฆ่าตัวตาย ได้

 

การฆ่าตัวตาย

ในช่วงนี้ มี โควิด 19 เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดความเครียด ซึ่งเมื่อเครียด ก็ทำให้เกิดความเศร้า ความทุกข์ขึ้น แล้วความเศร้ากับความทุกข์นี่เอง ที่นำไปสู่ความรู้สึกไม่อยากอยู่ โดยเฉพาะในบางรายที่ป่วยเป็นโรคทางจิตเวช อย่าง โรคซึมเศร้า หรือเป็นโรควิตกกังวลอยู่แล้ว ความเครียดแม้เพียงนิดหน่อยที่เข้ามากระทบ ก็อาจทำให้เกิดความรู้สึกไม่มีคุณค่า ไร้ค่า มองหาทางออกไม่เจอ จนอาจมองว่า การฆ่าตัวตาย เป็นเพียงทางออกเดียวที่จะช่วยให้สามารถหลุดพ้นจากสิ่งเหล่านี้ไปได้

อาจารย์นายแพทย์ สมบูรณ์ หทัยอยู่สุข ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า ถ้าเปรียบเทียบจริงๆ แล้ว โควิด 19 ก็เหมือนกับปัญหาอื่นๆ ที่เข้ามา เพียงแต่ว่าด้วยขนาดของปัญหามันใหญ่และมันกว้าง มันไปในทุกๆ พื้นที่ เลยทำให้รู้สึกว่า เรื่องนี้มันจะทำให้คนฆ่าตัวตายเยอะขึ้นหรือเปล่า แต่จากการศึกษาตัวเลขที่ออกมาบางส่วน พบว่า อัตราการฆ่าตัวตายที่รายงานต่อปี ยังไม่มีตัวเลขที่มากขึ้นชัดเจนมากๆ

โดยทั่วไปการรายงานการฆ่าตัวตายในประเทศไทย จะรายงานเป็นอัตราต่อแสนประชากร สถิติการฆ่าตัวตายทั่วไปจะอยู่ที่ 6 คนต่อหนึ่งแสนคน แต่ถ้ามองทั่วโลกในแต่ละปีจะมีคนฆ่าตัวตายสำเร็จประมาณ 8 แสนคนต่อปี

ช่วงวัยที่คนไทยมีการฆ่าตัวตายสำเร็จมากที่สุดเป็น วัยผู้ใหญ่ อายุประมาณ 30-39 ปี และยังพบผู้ชายฆ่าตัวตายมากกว่าผู้หญิง

นายแพทย์ สมบูรณ์ ระบุว่า โควิด 19 กระตุ้นให้เกิดความเครียดซึ่งอาจจะมากกว่าปกติ ก็ต้องไปดูตัวเลขหลังจบสิ้นวิกฤต ว่าจะมากขึ้นกว่านี้มากน้อยขนาดไหน เวลาศึกษาข้อมูล ก็ต้องตัดปัจจัยอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องออกไป เช่น ตัดปัจจัยเรื่องโรคประจำตัวของคนๆ นั้น ตัดปัจจัยด้านอายุ ด้านเพศ แล้วเหลือเพียงเรื่องฆ่าตัวตายเพียงตัวแปรเดียว แล้วดูว่า ตกลงแล้วมันทำให้ตัวเลขฆ่าตัวตายในประชากรมากขึ้นจริงๆ หรือเปล่า

การฆ่าตัวตาย ปัญหาในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19

ปัจจัยหลักในการวัดเรื่องการฆ่าตัวตาย

หลักๆ จะดูเรื่องของเพศ อายุ ภูมิลำเนา ถิ่นที่อยู่ อาชีพ โรคประจำตัวเดิม มีประวัติพยายามฆ่าตัวตายมาก่อนหรือไม่ สิ่งเหล่านี้ ถ้ามีบางอย่างมากกว่าอย่างอื่น เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่าอีกกลุ่มหนึ่งได้

สาเหตุของการฆ่าตัวตายจริงๆ แล้วไม่เหมือนโรคโควิด 19 ที่เรารู้ว่า ติดเชื้อโคโรนาสายพันธุ์ใหม่แล้ว เป็นโควิด 19 แต่การฆ่าตัวตายไม่ได้ตรงไปตรงมาแบบนั้น ความเครียดในระดับเดียวกันสำหรับบางคนอาจไม่เป็นอะไรเลย แต่สำหรับบางคนแล้ว ความเครียดที่อาจจะน้อยกว่านี้ก็อาจทำให้มีความรู้สึกอยากตาย ไม่อยากอยู่ได้

นายแพทย์ สมบูรณ์ กล่าวว่า เรื่องการฆ่าตัวตาย มีความซับซ้อนมาก มีปัจจัยหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเรื่องของสมอง เช่น บางคนสมองบางส่วนอาจจะมีการหลั่งสารเคมี สารสื่อประสาทผิดปกติ ซึ่งสารสื่อประสาทผิดปกติก็มีความสัมพันธ์กับโรคซึมเศร้า บางสถานการณ์ยังพบว่า บางคนมีประวัติการฆ่าตัวตายในครอบครัวเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งจะสัมพันธ์กับการฆ่าตัวตายของญาติสายตรงมากขึ้น เมื่อเทียบกับประชากรโดยทั่วไป

รูปแบบบุคลิกภาพของคนบุคคลนั้น เช่น คนผู้นั้นเป็นคนค่อนข้างเก็บเนื้อเก็บตัว เป็นคนไม่ค่อยเข้าสังคม เป็นคนโสด เป็นคนหย่าร้าง เป็นคนที่มีโรคประจำตัวทางกายอื่นๆ สิ่งเหล่านี้ล้วนสัมพันธ์กับอัตราการฆ่าตัวตายที่จะมากขึ้นกว่าคนทั่วไป

กลุ่มที่คาดว่าเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย เป็นกลุ่มที่ต้องระวัง อาจจะมีการพยายามฆ่าตัวตายที่มากขึ้น เมื่อได้รับความเครียดในระดับที่เท่าๆ กัน เช่น

  • มีโรคทางจิตเวชอยู่แล้ว
  • มีโรคทางกายที่เป็นโรคเรื้อรังอยู่แล้ว
  • กลุ่มคนว่างงาน
  • กลุ่มที่ไม่มีญาติพี่น้อง
  • กลุ่มคนที่ไม่ได้แต่งงาน
  • กลุ่มที่เคยทำร้ายตนเองมาก่อน
  • กลุ่มคนที่เคยมีญาติพี่น้องฆ่าตัวตายสำเร็จมาก่อน

สัญญาณเตือนว่าเรากำลังเครียด

อย่างแรกที่สำคัญที่สุด คือ การรู้ตัวเอง ต้องรู้ก่อนว่าตอนนี้กำลังเครียดมากกว่าระดับปกติไหม ต้องจับสัญญาณของความเครียดให้ได้ สัญญาณนั้นมีดังนี้

  • รู้สึกไม่ค่อยมีความสุข
  • รู้สึกว่านอนไม่หลับ
  • รู้สึกว่าทำอะไรแล้วไม่สนุกเท่าเดิม
  • มีสัญญาณทางกายบางอย่างฟ้อง เช่น ปวดศีรษะ ปวดท้องโดยไม่ทราบสาเหตุ ปวดร่างกายตามที่ต่างๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ อาการนอนไม่หลับ ตื่นกลางดึก ฝันร้าย

สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสัญญาณของความเครียด ถ้ารู้สึกว่าเริ่มเป็นแล้ว รีบจัดการตัวเองตั้งแต่ยังไม่รุนแรง

วิธีการดูแลจัดการตัวเองแบบง่ายๆ 

อาจารย์ นายแพทย์ สมบูรณ์ แนะนำว่า หากรู้ตัวว่าชอบทำงานอดิเรกอะไร อาทิ ปลูกต้นไม้ เลี้ยงสัตว์ อ่านหนังสือ ฟังเพลง ดูซีรีส์ ให้รีบทำ อย่าเอาตัวไปจมกับความเครียดนานเกินไป การรับข่าวสารที่เครียดมากเกินในแต่ละวัน ก็อาจส่งผลกับความเครียดได้ รวมถึงไม่ควรรับข่าวสารที่ดูแล้วเครียด ถ้าเป็นไปได้ไม่ควรเสพเกิน 2 ครั้งต่อวัน การเล่นโซเชียลมีเดียก็มีผล เพราะเดี๋ยวนี้ข่าวมาในมือถือเปิดเลื่อนนิดเดียวก็เจอ ดังนั้นการเล่นต้องระวังด้วย แต่ถ้าจัดการด้วยตัวเองยังไม่ไหว บางคนอาจใช่วิธีคุยกับญาติพี่น้อง คุยกับเพื่อน ได้โทรไประบาย ก็ได้เช่นกัน

นอกจากลองพูดคุยระบายแล้ว การรับฟังคนอื่นก็ทำให้รู้ว่า เขาก็เครียดเหมือนกับเรา เผลอๆ บางคนเครียดยิ่งกว่าเราเสียอีก ซึ่งนี่อาจจะทำให้เราเครียดน้อยลงได้ แต่ถ้าจัดการหาคนอื่นช่วยแล้วยังรู้สึกไม่ไหว แนะนำว่าต้องหาผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วย อาจจะโทรสายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 มูลนิธิทางหน่วยงานวิชาการต่างๆ ที่ให้ความช่วยเหลือให้คำปรึกษา หรืออาจจะพบกับจิตแพทย์ตามโรงพยาบาลใกล้บ้าน ถ้าเราไปตั้งแต่ที่ยังเป็นไม่มาก ไม่เครียดถึงขั้น รู้สึกไร้คุณค่า รู้สึกไม่อยากมีชีวิตอยู่ นายแพทย์ สมบูรณ์ เชื่อว่า จะยังช่วยเหลือตนเองได้ ช่วยเหลือกันได้ จะทำให้กลับมาดำรงชีวิตได้อย่างปกติ

นายแพทย์ สมบูรณ์ กล่าวว่า การมาพบจิตแพทย์ไม่ใช่เรื่องน่าอับอาย เรารู้ว่าผู้ป่วยที่จะมาพบจิตแพทย์รู้สึกไม่โอเค รู้สึกอับอาย เดี๋ยวนี้หลายคนที่ เขาไม่ได้ใช้คำว่าคลินิกจิตเวช หรือว่า OPD จิตเวช บางที่ใช้ชื่อที่คนไปก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าไปพบจิตแพทย์

“เดี๋ยวนี้ภาพการไปพบจิตแพทย์ไม่เหมือนกับภาพอย่างที่หลายคนคิด หรือดูละครแล้วคิดว่า เมื่อไปถึงจะต้องได้เจอแต่ผู้ป่วยที่หลุดโลก เดินไปเดินมา พูดคนเดียว ตรงนี้มันไม่จริงนะ เมื่อลองไปถึงพบว่า เขาเหมือนเรานี่แหละที่นั่งพูดคุยแบบนี้ได้ปกติ เขานั่งรอตรวจเหมือนกับที่นั่งรอตรวจอายุรกรรม เหมือนกับที่ตรวจกับคุณหมอศัลยกรรม”

นอกจากนี้ นายแพทย์ สมบูรณ์ ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยที่เป็นมากก็จะไม่ได้มาอยู่ในหน่วยผู้ป่วยนอก ฉะนั้นหากจะมาพบจิตแพทย์แต่ยังคงกังวล อาจจะลองชักชวนเพื่อนหรือญาติที่สนิทไปด้วยกันด้วยได้ ซึ่งในรายที่มีญาติพี่น้องพามา ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้โรครักษาดีขึ้น โรคหายเร็วขึ้น ดังนั้น เชิญชวนให้คนที่คิดว่าเริ่มดูแลตนเองไม่ไหว ลองปรึกษาคุณหมอใกล้บ้านดู

นายแพทย์ สมบูรณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า โควิด 19 เป็นความเครียดที่ทุกคน ทุกๆ ที่ต้องเผชิญ ถ้าใครไม่เครียดสิแปลก ถ้าเครียดอยู่ อยากบอกว่ามันคือเรื่องปกติ เมื่อไหร่ที่มีความรู้สึกว่ามากเกิน รู้สึกว่าเราจัดการมันไม่ไหว ให้รีบหาตัวช่วย ให้รีบจัดการก่อนที่จะเป็นโรคทางจิตเวช แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามเป็นโรคทางจิตเวชก็รักษาได้เช่นกัน ในขณะเดียวกันโควิด 19 ไม่ได้อยู่ยืนยง แต่อาจจะอยู่นานหน่อย เรานี่สิที่ต้องดำรงชีวิตอยู่ในโลกใบนี้ ฉะนั้นเราจะอยู่กับมันอย่างไร หมอเชื่อว่าคนไทยมีความสามารถ เราเคยผ่านเรื่องราวแย่ๆ เรื่องราวที่ยากกว่านี้มาได้หลายรอบแล้ว รอบนี้ก็เป็นอีกรอบที่เราเผชิญ แล้วเราจะผ่านมันไปได้

การฆ่าตัวตาย ปัญหาในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19