พลิกวิกฤตอสังหาฯ ก่อนลามจากฐานรากสู่ระดับบน แนะธปท.ลดดอกเบี้ย -แก้หนี้

25 ส.ค. 2567 | 08:14 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ส.ค. 2567 | 08:54 น.

กูรู อสังหาฯ ห่วงปัญหาหนี้ครัวเรือนลุกลาม ฉุดธุรกิจอสังหาฯล้มทั้งระบบ  แนะธปท.-แบงก์พาณิชย์ ร่วมมือลดดอกเบี้ย หนุนรายย่อยเข้าถึงแหล่งเงินทุน กระตุ้นกำลังซื้อ “อิสระ บุญยัง”หวั่นลามจากระดับล่างถึงระดับบน วอนรัฐปรับโครงสร้างการเงินทั้งระบบ

 

ตลาดอสังหาริมทรัพย์ซบเซา มีผลมาจากปัจจับลบ เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว ปัญหาหนี้ครัวเรือนพุ่งสูงกว่า90% ฉุดกำลังซื้อหดหาย สถาบันการเงินปฎิเสธสินเชื่อ ระดับไม่เกิน3บ้านบาทและมีทีท่าลามถึงกลุ่มระดับบน ขณะทางออกผู้ประกอบการสนับสนุนให้ธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ลดดอกเบี้ยลงเพื่อช่วยเหลือคนผ่อนบ้านรวมถึงกลุ่มที่กำลังตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยใหม่ 

 

โอกาสเข้าถึงสินเชื่อต่ำมาตรการเข้ม

 ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการ ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า ในงานสัมมนาหัวข้อ “ดอกเบี้ยลด…ช่วยฟื้นเศรษฐกิจ - อสังหาฯ – ตลาดทุน…?”เมื่อไม่นานมานี้ว่า  อัตราดอกเบี้ย ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงการซื้อขายที่อยู่อาศัย

วิชัย วิรัตกพันธ์

ทำให้เกิดการเติบโตของภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์สัดส่วน  11%อาจจะส่งผลทางจิตวิทยาทำให้คนเดินเข้าไปดูบ้านมากขึ้นและจองมากขึ้น แต่สุดท้ายเมื่อซื้อแล้วก็โอนไม่ผ่าน ไม่เกิดการจอง

สิ่งนี้เป็นปัจจัยสำคัญสะท้อนไปถึงความมั่นใจในการหารายได้ จึงไม่ต้องการเพิ่มหนี้ในระยะยาว  นั่นจึงส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจที่เมื่อกำลังซื้อหายไปในตลาด ก็ลดการขยายโครงการ

“สิ่งที่สำคัญต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ อยู่ที่การเพิ่มรายได้ จึงสามารถเพิ่มกำลังซื้อ ภาคอสังหา ใน เหมือนผืนดินที่ขาดน้ำ จากที่เคยเป็นแหล่งชลประทาน ปล่อยน้ำ ไปตามชลประทานเพื่อหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจ ตอนนี้ ต้องการน้ำ มาเยียวยา เพราะใบไม้ร่วงหมดแล้ว ประชาชนคนไทยขาดน้ำ ขาดเงินในการไปทำอะไรหลายอย่าง สินเชื่อบ้านจากธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)  7หมื่นล้าน หมดภายในเวลารวดเร็ว รวมถึง สินเชื่อแฮปปี้ โฮม 2 หมื่นล้านบาท สะท้อนได้ว่า ตลาดต้องการกำลังซื้อ” ดร.วิชัย กล่าว

ลดดอกเบี้ย ลดการติดลบในตลาดอสังหาฯ

อัตราดอกเบี้ย ในปัจจุบันมีอัตราสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ค่อนข้างต่ำ บางสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่อัตราดอกเบี้ย ต่ำมากกว่า 50% ของMRR เฉลี่ยที่อยู่อาศัย 3 ปีที่ผ่านมาต่ำกว่า 3.5%

หากมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย MRR ทุก 0.25% จะเพิ่มมูลค่าสินเชื่อใหม่ได้ 4,400 ล้านบาท เพิ่มหน่วยการโอนได้ 5,000 หน่วย และมีมูลค่าการโอน 35,000 ล้านบาท

ดังนั้น หากมีมาตรการที่ 6 ธนาคารพาณิชย์ในชาติ ลดอัตราดอกเบี้ย 2.5% คาดว่าจะส่งผลทำให้ยอดโอนฯเพิ่มขึ้น 372,877 หน่วย หรือ เพิ่มขึ้น 1.6% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

มีมูลค่าโอนกรรมสิทธิ์ อยู่ที่  1,078,080 ล้านบาท หรือขยายตัว 2.6% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา มีการปล่อยสินเชื่อใหม่เพิ่มขึ้น  678,151 ล้านบาท หรือติดลบเหลือ 0.03% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

สถานการณ์ปัจจุบัน ดีมานด์ยังต้องการซื้อบ้าน แต่ยังเข้าไม่ถึงสินเชื่อ  เพราะมีเกณฑ์ต่างๆ เข้มข้น ทำให้กำลังซื้อหดตัว นี่คือสิ่งสำคัญที่ทำให้ตลาดหดตัวอย่างรวดเร็ว และมีโอกาสที่จะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่จากคนฐานล่างไปสู่ธุรกิจระดับบน

จากที่สินเชื่อในกลุ่มคอนโดฯหดตัว ลามไปสู่บ้านเดี่ยว  แตกต่างจากวิกฤติในปี 2540 ที่กระทบจากบนลงล่าง เมื่อภาคอสังหาริมทรัพย์ได้รับผลกระทบอย่างหนักจะส่งผลไปสู่กลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ กลุ่มคนที่ซื้อเพื่อการลงทุนและเป็นหลักทรัพย์ที่มีสัดส่วน 20-30% ในตลาดหรือประมาณ 2-3 แสนล้านบาทในตลาด ที่หายไป เพราะมาตรการกำกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย(LTV) ส่งผลทำให้ผลตอบแทนในการลงทุนลดลง

จึงหันไปลงทุนในภาคอื่นแทนอสังหาริมทรัพย์ ดังนั้นการเกิดขึ้นใหม่ของโครงการเมื่อตลาดลงทุนหายไปจึงมองไปที่การพัฒนาโครงการตอบโจทย์ด้านอื่น

หวั่นลามวิกฤติจากล่างสู่บน วอนลดดอกเบี้ย

 พร้อมปรับโครงสร้างแหล่งเงินทั้งระบบ

นายอิสระ บุญยัง ประธานกรรมการ สมาคมการค้ากลุ่มธุรกิจสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า วิกฤติเศรษฐกิจในช่วงนี้แตกต่างจากช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 มาก โดยในช่วงปี 2540 ปัญหาจะเริ่มต้นจากส่วนบนของเศรษฐกิจ

ในส่วนของผู้ประกอบการ เจ้าหนี้ล้มลงก่อนลูกหนี้ ดังนั้นจึงมีข้อมูลพื้นฐานของผู้มีปัญหาครบถ้วย และเข้าไปแก้ปัญหาได้ถูกทาง และผู้ที่ผ่านช่วยต้มยำกุ้งมาได้ก็มีภูมิคุ้มกัน เช่น กลุ่มอสังหาฯ ธนาคาร สามารถประคองธุรกิจจนผ่านหลายวิกฤติมาได้แทบทุกครั้ง

อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่ไม่ประสบปัญหาช่วงต้มยำกุ้งกลับเริ่มสะสมปัญหาพอกพูนมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น เอสเอ็มอี และถาคประชาชน ที่มีการก่อหนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และส่วนหนึ่งยังเป็นหนี้นอกระบบ ทำให้ภาครัฐมีข้อมูลของผู้ที่ประสบปัญหาหนี้สินมีน้อย

จึงทำให้หลังจากช่วงโควิด 19 การฟื้นตัวของประเทศไทยจะเป็นแบบ K เชฟ คือ ผู้ที่ได้รับผลประทบช่วงโควิด 19 น้อย และผู้ที่มีฐานะดีก็จะฟื้นตัวได้เร็ว ส่วนพวกเอสเอ็มอี และรายย่อยก็ค่อน ๆ ลดลง จนทำให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งยังมีภาวะสงครามเข้ามาซ้ำเติมอีก จึงทำให้ฟื้นตัวได้ยากขึ้น

 ดังนั้นแนวทางการแก้ไขปัญหาของกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ โดยการลดอัตราดอกเบี้ยจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น เพราะหากดอกเบี้ยสูงจะมีค่าใช้จ่ายในการโอนสูงขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาตั้งแต่ต้นปี 2567

ธนาคารของรัฐได้เข้ามานำร่องลดดอกเบี้ยในกลุ่มอสังหาฯ และกลุ่มเอสเอ็มอี ได้ผลสูงมาก วงเงินสินเชื่อในแต่ละครั้งก็หมดลงอย่างรวดเร็ว จึงทำให้มาตรการลดดอกเบี้ยสามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วมากกว่าแนวทางอื่น

 ดังนั้นภาครัฐจึงต้องเข้าไปแก้ไขปัญหาด้วยนโยบายดอกเบี้ยต่ำ ผ่านกลไกธนาคารของรัฐ เช่น ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารออมสิน ให้มีการปล่อยสินเชื่อด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำ ให้ภาคธุรกิจ ภาคประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุน ลดลดภาระหนี้ ให้กับลูกค้ารายย่อย เข้าถึงแหล่งทุน และแก้ไขปัญหาหนี้

 “การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อแก้ปัญหาทั้งระบบเป็นเรื่องที่ดีและจำเป็น แต่กว่าจะเป็นผลเป็นรูปธรรมต้องใช้เวลานานมาก ผู้ประกอบการอาจรอไม่ได้ แต่การลดดอกเบี้ยสามารถทำได้ทันทีและเห็นผลอย่างรวดเร็ว เช่น การลดดอกเบี้ยและค่าโอนในกลุ่มผู้ซื้อบ้านมือ 2 ส่งผลให้ยอดขายบ้านมือ 2 เพิ่มขึ้นเร็วมากจนมีสัดส่วนกว่า 55% รวมทั้งยังช่วยแก้ปัญหาหนี้ได้ในระยะยาว” นายอิสระ กล่าว

ปี 67 วิกฤติอสังหาฯ หนักกว่าโควิด

ผู้ประกอบการปรับตัวทำบ้านขายฝาก

นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า ในช่วงปี 2563 – 2564 ซึ่งอยู่ในช่วงโควิด 19 กลุ่มอสังหาฯ แทบจะไม่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะบ้านเดี่ยวขายดีมาก เพราะผู้คนหลบออกจากคอนโดฯที่แออันมาสู่บ้านเดี่ยว พอมาถึงในปี 2564 – 2565 กลุ่มอสังหาฯทะยานขึ้นมามียอดสูงสูงสุด

ผู้ที่ทำโครงการแนวราบจะขายได้ดี รองลงมาจะเป็นพวกคอนโดฯ เนื่องจากต่างชาติเริ่มกลับเข้ามาซื้ออสังหาฯของไทยมากขึ้น จึงทำให้ธุรกิจนี้ต้องพึ่งพายอดขายให้กับชาวต่างชาติสูงมาก  แต่ก็ประสบปัญหาการโอนเงินที่ยุ่งยาก

อย่างไรก็ตาม พอมาถึงปี 2566 กลุ่มอสังหาฯก็เริ่มขายได้ยากขึ้น แต่กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ 10 อันดับแรก ยังขายได้ดี แต่ยอดขายในกลุ่มภูมิภาคเริ่มแย่ลง แต่มาถึงปี 2567 สถานการณ์ก็ย่ำแย่มากขึ้น เพราะธนาคารเริ่มมีหนี้เสียสูงถึงระดับ 6%

ทำให้เริ่มปล่อยสินเชื่อยากขึ้น โดยเฉพาะในเมืองอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก เนื่องจากโรงงานปิดกิจการมากขึ้น จึงทำให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อน้อยลงเรื่อย ๆ ส่งผลให้ยอดขายอสังหาฯลดลงมาก

 “เมื่อก่อนช่วงที่โรงงงานเฟื้อฟู มียอดขายและการส่งออกสูง ธนาคารเพียงแต่ดูที่ชื่อเสียงของบริษัทที่ผู้ขอกู้ทำงานอยู่ หากมีชื่อเสียงดี ก็จะปล่อยกู้ทันที แต่ในขณะนี้ โรงงานจำนวนมากเริ่มลดโอที ลดเงินเดือน และลามไปจนถึงปิดกิจการ จึงทำให้ธนาคารแทบจะไม่ปล่อยกู้ให้กับผู้ขอสินเชื่อกลุ่มนี้” นายพรนริศ กล่าว

 จากปัญหาดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายต้องปรับตัวจากการขายบ้านไปสู่การทำธุรกิจขายฝาก จนทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเพิ่มขึ้นมาก แต่ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ก็แค่ประคองตัว เพราะธุรกิจขายฝาก หรือการให้เช่า มีต้นทุนการดำเนินงานสูง

และเป้าหมายหลักของผู้ประกอบการคือการสร้างบ้านออกมาขาย แต่ทั้งนี้ยังมีแรงซื้อจากชาวต่างชาติเข้ามาสูงมาก โดยเฉพาะชาวจีน แต่กฎหมายของไทยยังมีข้อจำกัดอยู่มาก จึงทำให้เกิดนอมินีแฝงเข้ามาเป็นจำนวนมาก

รายได้คนหด กำลังซื้อลดตาม

เสนาฯ ทบทวนโครงการ ลดไซส์ หยุดแข่งทำเลราคาถูก

ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SENA กล่าวว่า วิกฤติเศรษฐกิจในช่วงต้มยำกุ้ง เป็นเรื่องของรายบริษัท แต่ในครั้งนี้เป็นเรื่องรายบุคคล จึงทำให้กำลังซื้อลดลงไปมาก

แม้ว่ายังมีดีมานด์อีกเป็นจำนวนมากยังต้องการที่อยู่อาศัยเพราะเป็นปัจจัยสี่ แต่ก็ซื้อไม่ได้ ทั้งนี้สาเหตุของปัญหาเกิดที่คนจึงแก้ได้ยาก และมีข้อมูลอยู่น้อย

ดังนั้นแนวทางการแก้ปัญหานี้ที่ได้ผลมากที่สุด จะต้องเข้าไปหาทางเพิ่มรายได้ เพื่อให้มีแรงในกาจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นได้ ส่วนการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

จะเข้ามาช่วยลดดอกเบี้ย น่าจะทำให้อสังหาฯฟื้นตัวได้บ้าง แต่ถ้าจะแก้ให้ตรงจุด ธปท. จะต้องเข้าไปคุมธนาคารพาณิชย์ให้ลดดอกเบี้ยด้วย ซึ่งหาช่วยกันทั้ง 2 ส่วนก็จะช่วยลูกหนี้ได้มาก

“หาก ธปท. ลดดอกเบี้ยเพียงฝ่ายเดียว อาจจะช่วยกระตุ้นกลุ่มอสังหาฯได้บ้าง เพราะคนส่วนใหญ่ยังไม่กล้าซื้อ แต่หากทั้ง ธปท. และธนาคารพาณิชย์เข้ามาช่วยลดดอกเบี้ย ก็จะช่วยลดภาระให้กับผู้กู้ ซึ่งจะทำให้กล้าซื้ออสังหาฯ ที่ต้องผ่อนในระยะยาวมากขึ้น” ผศ.ดร.เกษรา กล่าวว

สำหรับทางออกของธุรกิจอสังหาฯนั้น ทาง เสนาฯ จะไม่ไปแข่งตัดราคา แต่จะพิจารณาตามศักยภาพของสินค้า หากสินค้าใดสู้ได้ และมีกำไร ก็จะเดินหน้าต่อ

หากโครงการใดอยู่ในทำเลที่ดี มีอนาคตที่ดี แต่ในช่วงนี้ตลาดไม่มีกำลังซื้อก็จะหยุดการขายไว้ก่อน เพราะทำเลทองหาได้ยาก หากขายในราคาถูกก็จะเสียโอกาส ส่วนสินค้าที่ดูแล้วสู้คู่แข่งได้ยาก ก็จะตัดขายออกไปเพื่อเก็บเงินสด

วิกฤติเริ่มต้นจากรายย่อยหนี้ท่วม

คนไทยย้ายลงทุนที่ดินและคอนโดฯ

นายสมศักดิ์ ศิริชัยนฤมิตร ประธานชมรมวานิชธนกิจ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (IB ClUB) กล่าวว่า ประเทศไทยมีปัญหาหลัก 2 เรื่อง คือ 1. ในช่วงโควิด 19 ผู้ประกอบการ และประชาชนจำนวนมากพยายามประคองชีวิต

โดยการก่อหนี้เพิ่มขึ้นมาก และมีหนี้นอกระบบสูงขึ้น จากในหลังโควิด 19 ก็ประสบปัญหาดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีก และยังมีปัญหาสงครามเข้ามาซ้ำเติม และ 2. การดิสรัปชันของเทคโนโลยี ทำให้ผู้ประกอบการใช้บุคลากรน้อยลง รวมทั้งโครงสร้างเศรษฐกิจไทยส่วนใหญ่ก็เพิ่มมูลค่าได้ยาก เช่น สินค้าเกษตรที่มีราคาต่ำ รวมทั้งยังมีปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

 จากสาเหตุดังกล่าว จึงทำให้ในปัจจุบันไทยมีปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงมาก สวนทางกับรายได้ที่ลดลงไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ประกอบกับยังมีคนจำนวนมากที่มีค่านิยมที่ฟุ่มเฟือย จึงซ้ำเติมภาวะหนี้มากขึ้น รวมทั้งคนไทยยังไม่สามารถสู้กับทุนต่างชาติได้ และยังต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติอีกเป็นจำนวนมาก จึงทำให้ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้มีความรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 “กำลังซื้อของคนไทยลดลงมาก จนทำให้ต้องเปลี่ยนจากการซื้อบ้านไปเป็นการเช่าบ้านแทน ส่วนกำลังซื้ออสังหาฯ กลับไปตกอยู่ในมือต่างชาติแทน เพราะว่ามีต่างชาติเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นมาก แต่รายได้ที่เกิดขึ้นกลับเข้าถึงมือคนไทยน้อย ซึ่งหากปัญหานี้ไม่ได้รับการแก้ไข คนไทยก็จะเข้าถึงอสังหาฯได้ยากขึ้น” นายสมศักดิ์ กล่าว

 นอกจากนี้ ค่านิยมในการลงทุนในที่ดินและอสังหาฯ เพื่อเก็งกำไรของคนไทยก็ลดลง ทำให้กำลังซื้อจากกลุ่มนี้ลดลงไปมาก เนื่องจากเทคโนโลยีใหม่ทำให้ลงทุนในด้านอื่นทำได้ง่ายขึ้น และมีผลตอบแทนที่ดีกว่า เช่น การเล่นหุ้นต่างประเทศ การลงทุนในตลาดทองคำ หรือเงินดิจิทัล

 “ในสภาวะที่เกิดขึ้นนี้ ทุกคนจะต้องปรับตัว ทุกวิกฤตย่อมมีจุดเปลี่ยนเกิดช่องทางใหม่ในการทำธุรกิจ"