28 องค์กรผู้บริโภคจี้”ชัชชาติ”ผู้ว่าฯกทม.ยุติร่างผังเมืองรวมกทม. ใน 30 วัน

22 ก.ค. 2567 | 12:01 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ก.ค. 2567 | 12:10 น.
1.0 k

28องค์กร ภาคประชาชนนำโดยสภาผู้บริโภค ยื่นหนังสือถึง “ ชัชชาติ” ผู้ว่าฯกทม. ยุติกระบวนการวางและจัดทำร่างผังเมืองรวม กทม. (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) เหตุขั้นตอนไม่เป็นไปตามกฎหมาย กระทบสิทธิและคุณภาพชีวิตคนกรุง เตรียมฟ้องหาก กทม. ไม่ยุติกระบวนการดังกล่าวภายใน 30 วัน

 

 

 

กรุงเทพมหานคร ประกาศขยายเวลาการรับฟังความเห็น การจัดทำและวางผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4)จนถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2567  จากเดิมต้องสิ้นสุดลง ในเดือนกุมภาพันธ์ แต่มีเสียงคัดค้านจากประชาชนจึงขยายเวลาดังกล่าว

ล่าสุด  28 องค์กร/ชุมชน ประกอบด้วยด้วยสภาผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายชุมชนปกป้องคุณภาพชีวิตคนเมือง สมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม (SCONTE) มูลนิธิดวงประทีป มูลนิธิพร้อมใจพัฒนา มูลนิธิ ศ.อัน นิมมานเหมินทร์ สภาองค์กรชุมชนคลองเตย เครือข่ายผู้บริโภค 5 เขต ฯลฯ ได้ร่วมกันยื่นหนังสือ ต่อนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

เพื่อให้ยุติกระบวนการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) เหตุขั้นตอนไม่เป็นไปตามกฎหมาย กระทบสิทธิและคุณภาพชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร เตรียมยื่นฟ้องร้องศาลปกครองหาก กทม. ไม่ยุติกระบวนการร่างผังเมืองดังกล่าวภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่19กรกฎาคม2567

นาง สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า   แม้ กทม. จะขยายระยะเวลารับฟังความคิดเห็นออกไปจนถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2567 แต่การขยายเวลาและเปิดรับฟังความคิดเห็นเพิ่มอาจไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา เพราะปัญหาเรื่อง จุดเริ่มต้นของการร่างผังเมืองที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ยังไม่ถูกจัดการ

สภาผู้บริโภคติดตามเรื่องการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างผังเมืองอย่างต่อเนื่อง และเห็นว่าร่างผังเมืองฉบับนี้ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาและไม่ตอบโจทย์เรื่องคุณภาพชีวิตของคนในกรุงเทพฯ ทั้งเรื่องการจราจร การจัดการน้ำ การลดความแออัดของชุมชน รวมถึงสิทธิของคนจนที่จะมีที่อยู่อาศัยในเมือง เป็นที่มาของการยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ กทม.

เพื่อแสดงเจตจำนงว่า ประชาชนต้องการให้ยุติการทำร่างผังเมืองฉบับนี้ และรอระยะเวลาอีก 2 ปีเพื่อเริ่มต้นทำผังเมืองใหม่และให้ประชาชนทั้ง 50 เขตใน กทม. ได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับการจัดทำผังเมืองอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ หากเพิกเฉย ไม่แก้ไขหรือยุติการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายดังกล่าว ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2567 สภาผู้บริโภค (วันสุดท้ายคือวันที่ 18 สิงหาคม 2567) และเครือข่ายประชาชนที่ได้รับผลกระทบ อาจมีความจำเป็นต้องดำเนินการทางกฎหมายต่อไป

ทางด้าน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่า ร่างผังเมืองฉบับที่กำลังเปิดรับฟังความคิดเห็นนั้น เป็นฉบับที่มีกระบวนการมาอย่างต่อเนื่องมายาวนาน ทั้งนี้ ไม่สามารถออกคำสั่งยุติการร่างผังเมืองได้ แต่จะรับความเห็นและเสียงสะท้อนในครั้งนี้ไปและนำเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมาย ซึ่งต้องมีขั้นตอนตามกฎหมายอีกหลายกระบวนการ เช่น การให้ความเห็นจากกรมโยธาธิการและผังเมือง รวมถึงหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

นายก้องศักดิ์ สหศักดิ์มนตรี อนุกรรมการด้านอสังหาริมทรัพย์ และที่อยู่อาศัย สภาผู้บริโภค กล่าวว่า การยื่นหนังสือในครั้งนี้เกิดจากการรวมตัวกันของประชาชนจากหลายชุมชนที่เริ่มเข้าใจและสนใจเรื่องผังเมืองมากขึ้น ทั้งนี้ ประเด็นที่หลักสภาผู้บริโภคได้ทำหนังสือมายื่นต่อผู้ว่าฯ กทม. ในวันนี้ คือขอให้ยุติกระบวนการจัดทำผังเมืองที่กระทำอยู่ในปัจจุบัน และเริ่มต้นร่างผังเมือง กทม. ฉบับใหม่ ที่รับฟังความเห็นของประชาชนอย่างแท้จริง