โอ้โฮ! ทางด่วนใต้ดินสายแรกของไทย ลึกถึง 48.5 เมตร เท่ากับตึก 16 ชั้น

14 ก.ค. 2567 | 10:26 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ก.ค. 2567 | 10:36 น.
6.0 k

“ดร.สามารถ”เผยโครงการสร้างทางด่วนขั้นที่ 3 “ถนนงามวงศ์วาน-ถนนประเสริฐมนูกิจ” ระยะทาง 10.55 กม. มีทั้งทางด่วนใต้ดินสายแรกของไทย 8.06 กม. ลึกถึง 48.5 เมตร เท่ากับตึก 16 ชั้น และทางยกระดับ 2.49 กม. มูลค่าเฉียด 5 หมื่นล้าน เผย 4 ข้อห่วงใย

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (อดีตรองผู้ว่าฯ กทม.) โพสต์เฟซบุ๊ก “ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ - Dr.Samart Ratchapolsitte” ในหัวข้อ “โอ้โฮ ! ทางด่วนใต้ดินสายแรกของไทย ลึกถึง 48.5 เมตร เท่ากับตึก 16 ชั้น” ระบุว่า 

หลายคนที่ผ่านไปมาบนถนนประเสริฐมนูกิจ (หรือที่เรียกกันติดปากว่าถนนเกษตรฯ-นวมินทร์) คงไม่รู้ว่าตอม่อที่เกาะกลางถนนจำนวนมากถึง 281 ต้น ซึ่งถูกก่อสร้างมาเป็นเวลานานแล้วตั้งแต่ช่วงปี 2539-2541 โดยสร้างพร้อมๆ กับถนนประเสริฐมนูกิจนั้น เอาไว้รองรับทางด่วนขั้นที่ 3 ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ซึ่งอีกไม่นานจะมีการก่อสร้างทางด่วนขั้นที่ 3 ทั้งลอยฟ้าและใต้ดิน เป็นทางด่วนใต้ดินสายแรกของไทย ลึกถึง 48.5 เมตร หรือเท่ากับตึกสูง 16 ชั้น !

1. ทางด่วนใต้ดินสายแรกของไทย

น่าเห็นใจ กทพ.ที่ได้ศึกษาความเหมาะสมโครงการก่อสร้างทางด่วนขั้นที่ 3 มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 เพื่อรองรับการจราจรในแนวตะวันตก-ตะวันออก บนถนนรัตนาธิเบศร์-งามวงศ์วาน-ประเสริฐมนูกิจ โดยจะก่อสร้างเป็นทางด่วนยกระดับตลอดทั้งสาย 

แต่รัฐบาลหลายที่ผ่านมาจัดลำดับความสำคัญของทางด่วนสายนี้อยู่ในลำดับต่ำ ทั้งๆ ที่ กทพ.ได้ก่อสร้างตอม่อรองรับทางด่วนไว้ พร้อมกับการก่อสร้างถนนประเสริฐมนูกิจโดยกรมทางหลวง เพราะถ้าไม่ทำเช่นนั้น หลังจากกรมทางหลวงสร้างถนนประเสริฐมนูกิจเสร็จ กทพ.ก็ต้องขุดเจาะถนนเพื่อทำตอม่อ จะก่อให้รถติด สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ใช้รถใช้ถนน

ในปัจจุบันได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ในเวลานี้ จึงจำเป็นจะต้องสร้างเป็นทางด่วนใต้ดินในช่วงที่ผ่านด้านข้างของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อลดผลกระทบต่อมหาวิทยาลัยฯ ซึ่งทำให้ค่าก่อสร้าง และค่าซ่อมบำรุงรักษาซับซ้อนยุ่งยากและแพงกว่าการก่อสร้างทางด่วนยกระดับมาก

ทางด่วนขั้นที่ 3 ช่วงที่ 1 เริ่มจากทางขึ้น-ลงทางด่วนบนถนนงามวงศ์วานไปจนถึงแยกสุคนธสวัสดิ์ บนถนนประเสริฐมนูกิจ ระยะทาง 10.55 กม. ประกอบด้วยทางด่วนอยู่ในอุโมงค์ใต้ดิน 8.06 กม. ซึ่งถือเป็นทางด่วนใต้ดินสายแรกของไทย และทางด่วนยกระดับ 2.49 กม. มูลค่าโครงการเฉียด 5 หมื่นล้านบาท !

ทางด่วนใต้ดินวิ่งใต้ถนนงามวงศ์วานตั้งแต่ทางขึ้น-ลงทางด่วนบนถนนงามวงศ์วาน ลอดผ่านถนนประชาชื่น คลองประปา คลองเปรมประชากร รถไฟฟ้าสายสีแดง ดอนเมืองโทลล์เวย์ ถนนวิภาวดีรังสิต รถไฟฟ้าสายสีเขียว แยกเกษตร คลองบางบัว แยกลาดปลาเค้า ไปจนถึงระยะทางจากแยกลาดปลาเค้า ประมาณ 1 กม. แล้ววิ่งขึ้นบนระดับดินไปจนเกือบถึงแยกเสนานิคม จึงยกระดับไปจนถึงแยกสุคนธสวัสดิ์

2. ความท้าทายของทางด่วนใต้ดิน

ทางด่วนใต้ดินสายแรกของไทยมีข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้

(1) เป็นทางด่วน 2 ชั้นอยู่ในอุโมงค์ ชั้นละ 2 ช่องจราจร ชั้นบนวิ่งไปทางแยกสุคนธสวัสดิ์ ชั้นล่างวิ่งไปทางแคราย ใช้ได้เฉพาะรถยนต์ 4 ล้อเท่านั้น ไม่มีทางออกจากอุโมงค์ระหว่างทาง !

(2) อุโมงค์ทางด่วนมีเส้นผ่านศูนย์กลางภายใน 15 เมตร ภายนอก 16.3 เมตร ใหญ่กว่าอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินซึ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลางภายใน 5.7 เมตร ภายนอก 6.3 เมตร

(3) ศูนย์กลางของอุโมงค์ทางด่วนลึกกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง (MSL) 46.5 เมตร ในขณะที่ผิวถนนงามวงศ์วาน และถนนประเสริฐมนูกิจ สูงกว่า MSL 2 เมตร ดังนั้น อุโมงค์ทางด่วนจึงลึกกว่าผิวถนนงามวงศ์วาน และถนนประเสริฐมนูกิจเท่ากับ 48.5 เมตร (46.5+2) หรือเท่ากับตึกสูง 16 ชั้น 

อุโมงค์ทางด่วนที่อยู่ลึกในระดับนี้ เริ่มตั้งแต่ใต้คลองประปาไปจนถึงใต้คลองบางบัว ระยะทาง 5 กม. จากความยาวของอุโมงค์ทั้งหมด 8.06 กม. ทั้งนี้ ที่ระดับความลึก 48.5 เมตรนั้น จะเป็นระดับทางด่วนชั้นบนโดยประมาณ ส่วนระดับทางด่วนชั้นล่างจะลึกลงไปอีกประมาณ 5 เมตร

3. ข้อกังวลต่อทางด่วนใต้ดิน

แม้ว่าการก่อสร้างทางด่วนใต้ดินไม่เกินความสามารถของวิศวกรไทย และ กทพ. แต่ กทพ.ควรคำนึงถึงข้อห่วงใยที่สาธารณชนให้ความสนใจ เช่น อากาศเสียในอุโมงค์ ไฟไหม้ในอุโมงค์ เกิดอุบัติเหตุในอุโมงค์ หรือ น้ำท่วมอุโมงค์ เป็นต้น 

ผมเข้าใจดีว่า กทพ. ได้ออกแบบทางด่วนใต้ดินโดยให้ความสำคัญต่อข้อห่วงใยดังกล่าวไว้แล้ว แต่จะทำอย่างไรให้ทำสาธารณชนเกิดความมั่นใจ ? ข้อห่วงใยดังกล่าวมีดังนี้

(1) อากาศเสียในอุโมงค์

อากาศเสียในอุโมงค์ถูกปล่อยออกมาจากรถยนต์มีความเข้มข้นสูง เพราะถูกรวบรวมมาจากอุโมงค์เป็นระยะทางยาว จำเป็นต้องบำบัดให้อยู่ในระดับมาตรฐาน ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพก่อนปล่อยออกมาจากอุโมงค์ ที่อาคารระบายอากาศสู่บริเวณภายนอกต่อไป ซึ่งตลอดระยะทางมีอาคารระบายอากาศเพียง 4 อาคารเท่านั้น

(2) กรณีเกิดไฟไหม้ในอุโมงค์

หากเกิดไฟไหม้ในอุโมงค์ จะต้องอพยพผู้ใช้ทางด่วนออกจากอุโมงค์โดยเร่งด่วน อุโมงค์ซึ่งลึกถึง 48.5 เมตร หรือเท่ากับตึกสูง 16 ชั้น มีทางด่วน 2 ชั้นอยู่ในอุโมงค์ ไม่ง่ายที่จะอพยพเด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ คนพิการ และคนป่วยออกจากอุโมงค์ เพราะยากที่จะเดินขึ้นบันไดหนีไฟที่สูงเท่ากับตึก 16 ชั้น ซึ่งตลอดระยะทางมีเพียง 4 จุดเท่านั้น แม้จะมีการติดตั้งลิฟต์ไว้คู่กับบันไดหนีไฟก็ตาม แต่เมื่อเกิดไฟไหม้จะสามารถใช้งานได้หรือไม่? 

เจ้าหน้าที่กู้ภัยจะต้องผ่านการฝึกอบรมมาอย่างดี พร้อมที่จะช่วยเหลือผู้ใช้ทางด่วนด้วยความชำนาญอย่างรวดเร็ว และที่สำคัญ ผู้ใช้ทางด่วนในอุโมงค์จะต้องได้รับการเรียนรู้ที่จะช่วยเหลือตนเองเมื่อเกิดไฟไหม้หรืออุบัติเหตุอื่นๆ ขึ้นในอุโมงค์

(3) กรณีเกิดอุบัติเหตุในอุโมงค์

หากเกิดอุบัติเหตุ รถชน รถพลิกคว่ำ รถไฟไหม้ หรือรถเสียในอุโมงค์ จะกู้ภัยได้อย่างไร? ทางด่วนที่มีแค่ 2 ช่องจราจร และไหล่ทางกว้างแค่ 1.2-1.5 เมตร บางช่วงเหลือแค่ 0.5 เมตรเท่านั้น ยากที่รถกู้ภัยจะฝ่ารถติดไปถึงที่เกิดเหตุได้อย่างรวดเร็ว 
เพราะหน่วยกู้ภัยมีอยู่เพียง 2 จุดเท่านั้น คือที่ทางเข้า-ออกอุโมงค์ทั้ง 2 ด้าน เมื่อมีรถติดยาวเหยียดในอุโมงค์ อากาศเสียหรือมลพิษจะถูกปล่อยออกมามาก ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ทางด่วนได้

(4) การป้องกันน้ำท่วม

ผมเข้าใจดีว่า กทพ.ได้ออกแบบแนวทางการป้องกันน้ำท่วมอุโมงค์ไว้อย่างดี เช่นเดียวกับการออกแบบรถไฟฟ้าใต้ดิน แต่ก็อดห่วงไม่ได้ โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณทางขึ้น-ลงทางด่วนบนถนนงามวงศ์วาน ซึ่งจะเป็นทางเข้า-ออกอุโมงค์ทางด่วนใต้ดิน 

บริเวณนี้เคยมีน้ำท่วมขังเป็นประจำเมื่อมีฝนตกหนัก แต่ต่อมาได้รับการแก้ไข ทำให้น้ำท่วมขังลดน้อยลง เมื่อมีการก่อสร้างทางเข้า-ออกอุโมงค์บริเวณนี้ จะต้องป้องกันไม่ให้ส่งผลกระทบต่อระบบป้องกันน้ำท่วม

4. สรุป

การก่อสร้างทางด่วนทั้งลอยฟ้าและใต้ดิน ณ ถนนงามวงศ์วาน และ ถนนประเสริฐมนูกิจ คาดหวังว่าจะช่วยบรรเทารถติดในการสัญจรผ่านแนวตะวันตก-ตะวันออกของกรุงเทพฯ ตอนเหนือ ซึ่งเวลานี้มีรถติดอย่างหนัก 

ความคืบหน้าของโครงการก่อสร้างทางด่วนสายนี้ ในขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งเป็นงานสำคัญที่จะชี้ชะตาของโครงการ หากโครงการนี้ไม่ผ่าน EIA ก็จะไปไม่ถึงฝั่งฝัน

นอกจากทางด่วนดังกล่าวแล้ว ยังมีรถไฟฟ้ายกระดับบนถนนทั้ง 2 สายนี้ ซึ่งมีเส้นทางซ้อนทับกับทางด่วน รถไฟฟ้าสายนี้เรียกว่า รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล เชื่อมแครายกับลำสาลี ระยะทาง 22 กม. 
ผมเป็นผู้เสนอแนวความคิดรถไฟฟ้าสายนี้เมื่อปี 2556 และได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลในขณะนั้น

โดยได้บรรจุเส้นทางไว้ในแผนแม่บทรถไฟฟ้า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะยังคงดำเนินการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลตามแผนแม่บทอยู่หรือไม่ ? 

หาก รฟม. จะก่อสร้าง ก็ควรที่จะวางแผนการก่อสร้างให้ดี หาเวลาที่เหมาะสมให้สอดรับกับการก่อสร้างทางด่วน โดย กทพ. เพื่อลดปัญหารถติดในระหว่างการก่อสร้าง และลดปัญหาทางเทคนิคการก่อสร้าง

งหมดนี้ หวังว่าการก่อสร้างทางด่วนและรถไฟฟ้า ณ ถนนงามวงศ์วาน และถนนประเสริฐมนูกิจ จะช่วยทำให้การสัญจรระหว่างพื้นที่ตะวันตกและตะวันออกของกรุงเทพฯ ตอนเหนือมีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย 

ขอเป็นกำลังใจให้ผู้เกี่ยวข้องทุกคนครับ