ภาคการเงิน การธนาคาร การลงทุนนอกประเทศจีนอาจจะได้รับผลกระทบไม่น้อย เพราะหุ้นกู้ของเอเวอร์แกรนด์ขายไปทั่วโลก และแน่นอนว่ามีปัญหาไม่สามารถจ่ายคืนได้อยู่แล้ว จึงอาจเป็นปัจจัยให้พวกเขายื่นมาตรา 15 ต่อศาลสหรัฐอเมริกา ไม่เพียงแต่เอวอร์แกรนด์ที่มีปัญหา ก่อนหน้านี้มีอีกหลายรายที่ผิดนัดชำระหุ้นกู้ เช่น เซ็นทรัล ไชน่า เรียลเอสเตต, บริษัท ลีดดิง โฮลดิ้งส์ กรุ๊ป, ซันชายน์ 100, แฟนตาเซีย โฮลดิ้งส์ กรุ๊ป, ไคซา กรุ๊ป, โมเดิร์น แลนด์, ซือเม่า กรุ๊ป, ซูแนค และล่าสุดที่อาจจะผิดนัดชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ และเป็นรายใหญ่ที่ต้องติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง คือ คันทรี การ์เด้น
โดยรายล่าสุด ส่งผลกระทบใหญ่ต่อระบบการเงิน การธนาคาร และตลาดอสังหาริมทรัพย์ รวมไปถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้อง อื่นๆ โดยเฉพาะในส่วนของกำลังซื้อคนจีนในประเทศจีนมากกว่าเอเวอร์แกรนด์ เพราะพวกเขามีโครงการในประเทศจีนที่มากกว่า คันทรี การ์เด้นยังมีการลงทุนโครงการอสังหาริมทรัพย์นอกประเทศจีน โดยใช้ชื่อว่า ริสแลนด์ แม้ว่าจะมีการออกมาบอกว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกันในเรื่องของเงินทุน แต่หุ้นกู้ที่ออกขายในนามริสแลนด์มีการคํ้าประกันโดยคันทรี
การ์เด้น ประเทศจีน ซึ่งแน่นอนว่าโดนปรับลดความน่าเชื่อถือลงไปแล้ว ปัญหาของคคันทรี การ์เด้นคงส่งผลกระทบต่อการลงทุนนอกประเทศบ้าง แต่คงไม่มากนัก เพราะการลงทุนนอกประเทศจีนในตอนแรกอาจจะใช้เงินลงทุนจากคันทรี การ์เด้นโดยตรง แต่เมื่อผ่านไปสักระยะ บริษัทเริ่มมีรายได้หมุนเวียนจากการขาย และโอนกรรมสิทธิ์ รวมไปถึงการขอสินเชื่อธนาคาร และขายหุ้นกู้ ริสแลนด์ในประเทศต่างๆ น่าจะเอาตัวรอดไปได้ รวมไปถึงในประเทศไทยด้วย
คนจีนที่ติดปัญหาจากผลกระทบของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ในประเทศจีน อาจทำให้พวกเขามีสภาพคล่องของเงินทุนที่ลดลง การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์คงลดลงหรือเลือกที่จะชะลอออกไปก่อน ซึ่งแน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อการเข้ามาซื้อคอนโดมิเนียมในประเทศไทยได้ด้วยเช่นกัน แต่ในทางกลับกัน การเข้ามาลงทุนในคอนโดมิเนียมหรืออสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยอาจจะมากขึ้นก็เป็นไปได้ เพราะถ้าพวกเขายังต้องการลงทุนอยู่ แต่ในสถานการณ์ในประเทศไม่เอื้อประโยชน์ก็ต้องมองหาประเทศอื่นๆ ในการลงทุนต่อไป ประเทศไทยเป็น 1 ในประเทศที่พวกเขาให้ความสนใจมาเสมอ
คนจีนส่วนหนึ่งเมื่อมองเห็นแล้วว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจีนมีปัญหา และรัฐบาลจีนควบคุมหลายๆ อย่าง ทำให้การถือครองอสังหาริมทรัพย์ในประเทศจีนไม่ง่ายหรือทำได้สะดวกแบบก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์แบบซื้อมาเพื่อเก็งกำไรและปล่อยเช่า แล้วยิ่งมาเจอปัญหานี้ที่เหมือนการตอกยํ้าว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศจีนมีปัญหาแน่นอน พวกเขาซึ่งมีเงิน และพยายามหาช่องทางในการขยายธุรกิจ รวมไปถึงการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ต่อเนื่อง เมื่อภายในประเทศจีนทำได้ไม่สะดวก
และมีปัญหาแบบนี้ การออกไปลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศจึงเป็นทางที่พวกเขาสนใจ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา แคนาดา ยุโรปบางประเทศ เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส รวมไปถึงในออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เป็นต้น จนหลายๆ เมืองในบางประเทศห้ามคนจีนเข้ามาซื้ออสังหา ริมทรัพย์แล้ว เพราะมีผลให้ราคาปรับเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากในเวลารวดเร็ว
การที่กลุ่มของคนจีนบางส่วนเข้ามาซื้อคอนโดมิเนียมในประเทศไทย เพราะแรงกดดันภายในประเทศจีนที่มีมานานแล้ว ประกอบกับทิศทางของผลตอบแทนของการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ในประเทศจีนเริ่มลดลง เมื่อมาเจอเรื่องนี้ตั้งแต่ตอนช่วงปีพ.ศ2564 เป็นต้นมา คนจีนที่ทำธุรกิจในประเทศไทยหรือต้องการเข้ามาซื้ออสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยจึงมีมากขึ้น จนตอนนี้การเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยของคนจีนบางส่วนเป็นไปเพื่อการขอใบอนุญาตทำงานเท่านั้น ไม่ได้สนใจในเรื่องของการดำเนินกิจการมากเท่าที่ควร ความเข้มงวดในการตรวจสอบคนจีนของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา เป็นแรงกดดันให้คนจีนที่มีเงิน หรือทำธุรกิจแบบไม่โปร่งใสออกนอกประเทศจีนมากขึ้น ซึ่งการตรวจสอบในช่วงหลังๆ
แผ่ขยายออกไปในหลายประเทศรอบๆ ประเทศไทย จนทำให้การลงทุนหลายโครงการโครงการของนักลงทุนจีนที่ได้เงินจากธุรกิจสีเทาหยุดการก่อสร้าง และเริ่มหาช่องทางในการลงทุนใหม่ๆ ในประเทศอื่นๆ มากขึ้น กลุ่มนี้เองก็มีการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สินที่ประเทศต่างๆ กำหนดเพื่อขอพาสปอร์ตประเทศอื่นๆ ตามที่กฎหมายในหลายประเทศในสหภาพยุโรปเปิดช่องให้สามารถทำได้ ทำให้การเข้ามาในประเทศไทยของคนจีนหรือชาวต่างชาติสัญชาติอื่นๆ ที่มีเงินจากธุรกิจอื่นๆ ซึ่งไม่ถูกกฎหมายในประเทศไทยแต่ถูกต้องตามกฎหมายในประเทศอื่นมีมากขึ้น จากรายงานของ Henley Private Wealth
Migration Report 2023 ซึ่งมีการสำรวจเศรษฐีที่มีการลงทุนมากกว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐทั่วโลก พบว่า ปีนี้จีนจะเป็นประเทศที่เหล่าเศรษฐีย้ายออกสุทธิมากที่สุด โดยคาดว่าจะมีประมาณ 13,500 ราย ซึ่งแน่นอน ว่าบางส่วนคงเลือกที่จะมาไทย