กรมที่ดิน เปิดค่าใช้จ่าย "โอนที่ดินมรดก" ของคู่สมรส ไม่แพงอย่างที่คิด

09 ก.ย. 2566 | 19:44 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.ย. 2566 | 19:57 น.
1.4 k

กรมที่ดิน เปิดค่าใช้จ่าย ในการ "โอนที่ดินมรดก" ของคู่สมรส ไม่แพงอย่างที่คิด พร้อมพิกัดหน่วยงานที่ต้องติดต่อ เงื่อนไข เอกสารหลักฐานที่ต้องใช้ประกอบการขอจดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดิน

การโอนที่ดินมรดกของคู่สมรส ในกรณีที่คู่สมรสซึ่งจดทะเบียนสมรสกัน ได้เสียชีวิตลงนั้น หากเป็นที่ดินซึ่งมีเอกสารสิทธิ์เป็นโฉนดที่ดิน ,น.ส. 3 ข. สามารถดำเนินการขอจดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดิน ได้ที่สำนักงานที่ดินจังหวัด หรือสำนักงานที่ดินจังหวัดสาขา

ในกรณีมีเอกสารเป็น น.ส.3, น.ส.3 ก. ถ้าท้องที่ใดที่ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทยยกเลิกอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอเกี่ยวกับการปฏิบัติการตามกฎหมายที่ดินแล้ว จะต้องไปขอจดทะเบียนที่สำนักงานที่ดินจังหวัด หรือสำนักงานที่ดินจังหวัดสาขาที่ที่ดินตั้งอยู่

ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดิน

  • ค่าคำขอ 5 บาท/แปลง
  • ค่าประกาศมรดก  10 บาท/แปลง
  • ค่าจดทะเบียนผู้จัดการมรดก 50 บาท/แปลง
  • ค่าจดทะเบียนโอนมรดก ร้อยละ 0.5 ตามราคาประเมินทุนทรัพย์

หลักฐานที่ต้องนำไปประกอบการขอรับมรดก สำหรับคู่สมรส

  • โฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองทำประโยชน์
  • บัตรประจำตัวประชาชน
  • ทะเบียนบ้าน
  • หลักฐานการตายของเจ้ามรดก เช่น มรณบัตร
  • พินัยกรรม (ถ้ามี)
  • หลักฐานการสมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย
  • ถ้ามีกรณีพิพาทเกี่ยวกับมรดก ต้องนำสัญญาประนีประนอมยอมความหรือคำพิพากษาอันถึงที่สุดไปแสดง
  • ถ้ามีผู้มีสิทธิรับมรดกร่วมกันหลายคน บางคนได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว ต้องมีหลักฐานการตายของทายาทนั้น ๆ

ทั้งนี้ ที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์จะกลายเป็นทรัพย์มรดก เมื่อเจ้าของที่ดิน หรือผู้มีชื่อในเอกสารสิทธิ์เสียชีวิตลง โดยทรัพย์มรดกจะตกทอดแก่ทายาทโดยสิทธิตามกฎหมาย หรือโดยพินัยกรรมที่เจ้ามรดกทำไว้

ทายาทที่มีสิทธิตามกฎหมาย หรือทายาทโดยธรรมมี 6 ลำดับ แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลัง ดังต่อไปนี้

  1.  ผู้สืบสันดาน (บุตร, หลาน, เหลน, ลื้อ)
  2.  บิดา มารดา
  3.  พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
  4.  พี่น้องร่วมบิดา หรือร่วมมารดาเดียวกัน
  5.  ปู่ ย่า ตา ยาย
  6.  ลุง ป้า น้า อา

ซึ่งคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ถือเป็นทายาทโดยธรรม มีสิทธิรับมรดกร่วมกับทายาทโดยธรรมทั้ง 6 ลำดับ 

ที่มา : เพจกรมที่ดิน , เว็บไซต์กรมที่ดิน