รฟม.ปัดร่วมรับผิดชอบ "แอชตัน อโศก" โบ้ยให้ไปหาทางออกกับกทม.

28 ก.ค. 2566 | 17:07 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ก.ค. 2566 | 17:17 น.
1.9 k

รฟม. ปัดร่วมรับผิดชอบ แอชตัน อโศก หลังศาลปกครองสูงสุด สั่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง ยันใบอนุญาตใช้พื้นที่ผ่านทางของรฟม. ไม่สามารถนำไปประกอบการขออนุญาตก่อสร้างโครงการได้ โบ้ยให้ไปหาทางออกกับกทม.

จากกรณีศาลปกครองสูงสุด พิพากษาเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างโครงการคอนโดฯ แอชตัน อโศก และบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) จะขอให้ รฟม. และ กทม. ร่วมรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น

ล่าสุดนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับการประสานติดต่อจากทาง บริษัท อนันดาฯ และถึงแม้จะติดต่อมา ก็ไม่รู้ว่าจะช่วยได้อย่างไร เนื่องจากคำพิพากษาของศาลฯ ไม่ได้หมายรวมถึงการเพิกถอนใบอนุญาตให้ใช้พื้นที่ของ รฟม. เป็นทางผ่านเข้า-ออก โครงการ

แต่เป็นการเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ที่ทางผู้พัฒนาโครงการ คือบริษัท อนันดาฯ จะต้องไปดำเนินการหาทางออกร่วมกับผู้ให้ใบอนุญาต คือ กทม. ซึ่งไม่เกี่ยวกับ รฟม. 

เพราะใบอนุญาตใช้พื้นที่ผ่านทางของรฟม. ไม่สามารถนำไปประกอบการขออนุญาตก่อสร้างโครงการได้ เพราะถนนมีความกว้างเพียง 6.40 ม. และเป็นถนนของ รฟม. ไม่ใช่ถนนสาธารณะ จึงไม่นับเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ จะนำมาผูกพันในการก่อสร้างอาคารไม่ได้

รฟม.ปัดร่วมรับผิดชอบ \"แอชตัน อโศก\" โบ้ยให้ไปหาทางออกกับกทม.

นอกจากนี้ การที่ บริษัท อนันดาฯ อ้างว่ามีการจ่ายเงินให้กับ รฟม. เป็นค่าใช้พื้นที่เป็นทางผ่านเข้า-ออก โครงการ จำนวน 97 ล้านบาท ทาง รฟม. ยังไม่ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวแต่อย่างใด 

เนื่องจากโครงการมีปัญหา ส่วนจะรับเงินจำนวนนี้ได้หรือไม่ ต้องดูข้อกฎหมายอย่างละเอียดอีกครั้ง ทั้งนี้หากบริษัท อนันดาฯ จะยื่นฟ้องก็เป็นสิทธิ์ที่สามารถทำได้ ซึ่งต้องต่อสู้กันไปตามข้อกฎหมาย โดย รฟม. ยึดถือคำพิพากษาเป็นหลัก

ส่วนคำพิพากษาของศาลครั้งนี้ จะผูกพันไปถึงอีก 13 โครงการ ที่มีลักษณะเดียวกันนี้หรือไม่ เบื้องต้นมองว่า คำพิพากษาจะผูกพันเฉพาะคู่ความ แต่เป็นกรณีศึกษาให้กับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ต้องนำไปพิจารณาประกอบการตัดสินใจ เนื่องจากอาจเกิดปัญหาเช่นเดียวกันนี้ได้ในภายหลัง

ย้อนไปเมื่อ ปี  พ.ศ.2559 จุดเริ่มต้นของปมปัญหาจนนำไปสู่การฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลาง โดยชาวบ้านบริเวณสุขุมวิท 19 จำนวน 15 คน มอบอำนาจให้สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ที่มีนาย ศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ยื่นฟ้องที่ศาลปกครองกลาง 

ต่อ ผอ.เขตวัฒนากับพวกรวม 5 คน ฐานออกคำสั่งอนุญาตให้ บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด ก่อสร้างอาคารสูงขนาดใหญ่พิเศษ ตั้งอยู่บนถนนอโศก ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร 2522 เนื่องจากมีปัญหาที่ทางเข้าออกของคอนโด ไม่เป็นไปตามข้อบังคับของการก่อสร้างอาคารสูงที่ต้องมีความกว้างขนาด 12 เมตร

ข้อพิพาทสำคัญคือ ที่ดินบริเวณนั้น รฟม.หรือการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ได้ไปเวนคืนมาจากเจ้าของเดิม และรฟม.นำมาพัฒนาสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ในขณะที่บริษัท อนันดาได้ฃทำสัญญาสร้างอาคารจอดรถ และขอใช้ทางเข้าออกในพื้นที่นั้น แต่ขนาดความกว้างไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

การฟ้องร้องในคดีนี้ไม่ได้เป็นการฟ้องบริษัท อนันดาโดยตรง แต่ผู้ถูกฟ้อง คือ ผอ.สำนักงานเขตวัฒนา กับพวกรวม 5 คนคือ ผอ.สำนักการโยธา กทม. ,ผู้ว่าฯ กทม.,ผู้ว่าการฯ รฟม. และ คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านอาคาร การจัดสรรที่ดิน และบริการชุมชน ภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 

โดยบริษัท อนันดา ได้ต่อสู้คดีด้วยการชี้ถึงกระบวนการก่อสร้างโครงการนี้ว่าได้ผ่านกระบวนการพิจารณา ตรวจสอบทุกอย่างถูกต้องจากหน่วยงานรัฐมาโดยตลอด และขณะเดียวกันต้องแก้ปัญหากับผู้อยู่อาศัยที่เข้าไปอยู่ในโครงการแอชตัน อโศก ที่ได้รับผลกระทบเรื่อยมาด้วยเช่นกัน

ต่อมา ในปี พ.ศ.2564 ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งเพิกถอนการก่อสร้างโครงการ แอชตันอโศก เพราะการก่อสร้างไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 จากนั้นได้มีการยื่นอุทธรณ์ และมีการพิจารณาปมปัญหาหลายส่วนเรื่อยมา

กระทั่งมาถึงเมื่อวานนี้ 27 ก.ค.2566 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง เพิกถอนใบอนุญาตการก่อสร้างโครงการ คอนโด แอชตัน อโศก เพราะที่ดินดังกล่าวเป็นของรัฐ ที่เอกชนจะมาใช้ประโยชน์ไม่ได้ การอนุญาตให้ก่อสร้างจึงไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

โครงการแอชตัน อโศก มูลค่า 6,480 ล้านบาท เป็นคอนโดมิเนียมสูง 51 ชั้น มีห้องพัก 668 ยูนิต มีผู้อยู่อาศัยราว 580 ครัวเรือน เป็นคนไทย 438 ราย ต่างชาติจาก 20 ประเทศ 142 ราย