ซื้อบ้าน-คอนโดฯ ขอทะเบียนบ้านใหม่ ทำอย่างไร ?

20 เม.ย. 2566 | 13:38 น.
อัปเดตล่าสุด :20 เม.ย. 2566 | 13:44 น.
4.6 k

ซื้อบ้าน-คอนโดฯ ขอทะเบียนบ้านใหม่ ทำอย่างไร ? หลังโอนกรรมสิทธิ์เรียบร้อยแล้ว สามารถใช้เอกสาร ยื่นขอได้ที่สำนักงานเขต /อำเภอ และ ช่องทางออนไลน์ผ่านแอปฯ DOPA

20 เมษายน 2566 - เชื่อว่า คนซื้อบ้าน และ คอนโดมิเนียม มือใหม่จำนวนไม่น้อย ยังสับสนในการขอทะเบียนบ้านใหม่ รวมถึงไม่รู้ถึงขั้นตอนการย้ายทะเบียนบ้าน เมื่อกลายเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยใหม่เสร็จสิ้นแล้ว แม้ว่ายังจำนองอยู่กับธนาคารก็ตาม ซึ่งปัจจุบันถือว่า มีความง่ายและสะดวก เพราะสามารถขอทะเบียนบ้านแบบออนไลน์ได้อีกด้วย 

หลังจากเมื่อเราซื้อบ้านหรือคอนโดใหม่จากโครงการ และทางโครงการมีการส่งมอบทะเบียนบ้านเล่มเปล่ามาให้เรา พร้อมกับหนังสือสัญญาซื้อขายและโฉนดหรือสัญญาจำนองกับธนาคาร เอกสารเรียบร้อยแล้ว ก็สามารถใช้เป็นหลักฐานในการขอทะเบียนบ้านใหม่ได้แล้ว 

โดยข้อมูลจาก Supalai Socity ระบุถึง ความรู้และขั้นตอนการขอทะเบียนบ้านใหม่ไว้ ดังนี้ 

ทะเบียนบ้าน มีกี่ประเภท

  1. ทะเบียนบ้าน ทร.14 (เล่มสีน้ำเงิน) : ทะเบียนบ้านสำหรับคนที่มีสัญชาติไทย และคนต่างด้าวที่มีใบสำคัญประจำตัวต่างด้าว
  2. ทะเบียนบ้าน ทร.13 (เล่มสีเหลือง) : ทะเบียนบ้านสำหรับคนต่างด้าว ไม่มีใบสำคัญประจำตัวต่างด้าว ที่เข้าเมืองแบบถูกกฎหมายโดยได้รับอนุญาตให้อยู่ชั่วคราว หรือเข้าเมืองโดยมิชอบด้วยกฎหมายตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง 
  3. ทะเบียนบ้านกลาง : ไม่ใช่ทะเบียนบ้าน แต่เป็นทะเบียนที่ออกโดยผู้อำนวยการทะเบียนกลาง ที่มีการกำหนดให้ทำขึ้นเพื่อลงรายการบุคคลที่ไม่อาจมีชื่อในทะเบียนบ้าน 
  4. ทะเบียนบ้านชั่วคราว : ทะเบียนบ้านที่ออกให้กับบ้านที่สร้างขึ้นในที่สาธารณะหรือบุกรุกป่าสงวนโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย สามารถใช้เป็นเอกสารราชการได้เหมือนทะเบียนบ้าน และผู้ที่มีชื่อในทะเบียนบ้านชั่วคราวมีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับบุคคลที่อยู่ในทะเบียนบ้าน 
  5. ทะเบียนบ้านชั่วคราวของสำนักทะเบียน : ทะเบียนบ้านที่ออกโดยสำนักทะเบียน ตามข้อกำหนดของผู้อำนวยการทะเบียนกลาง เพื่อใช้ลงรายการบุคคลที่แจ้งย้ายออกจากทะเบียนบ้าน ทร.14 เพื่อเดินทางไปต่างประเทศ และให้ทุกบ้านมีเลขประจำบ้าน หากบ้านใดยังไม่มีให้เจ้าบ้านแจ้งต่อนายทะเบียนภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่สร้างบ้านเสร็จ 

วิธีขอทะเบียนบ้าน 

กรณี ขอที่สำนักงานเขต/ที่ว่าการอำเภอ

  1. ไปยื่นเรื่องที่สำนักทะเบียนที่ปลูกสร้างบ้าน ในกรุงเทพฯ ยื่นเรื่องได้ที่ฝ่ายทะเบียนสำนักงานเขต ต่างจังหวัดยื่นเรื่องไปที่ฝ่ายทะเบียนที่ว่าการอำเภอ 
  2. นายทะเบียนตรวจสอบหลักฐานต่าง ๆ จากนั้นทำการออกเลขที่บ้านพร้อมกับจัดทำสมุดทะเบียนบ้านและสำเนาทะเบียนบ้าน 
  3. ส่งมอบทะเบียนบ้านให้กับผู้แจ้งเรื่อง 
  4. ทำเรื่องย้ายบุคคลเข้ามาอยู่ในทะเบียนบ้าน 

กรณีขอแบบออนไลน์

  1. ดาวน์โหลดแอปฯ  DOPA ผ่านทาง App Store สำหรับ iOS และ Play Store สำหรับ Android 
  2. นำบัตรประชาชนไปยื่นเรื่องกับนายทะเบียนด้วยตัวเอง ที่สำนักทะเบียนอำเภอ สำนักทะเบียนท้องถิ่น หรือตามที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด เพื่อยืนยันตัวตนผ่านลายนิ้วมือและใบหน้า และรับรหัสผ่าน (PIN) สำหรับใช้แอปฯ
  3. เจ้าหน้าที่ผู้รับลงทะเบียนทำการตรวจสอบหลักฐานและข้อมูล ก่อนเข้าสู่แอปฯ และเลือกใช้บริการตามที่ต้องการ

ซื้อบ้าน-คอนโดฯ ขอทะเบียนบ้านใหม่ ทำอย่างไร ?

เอกสารที่ต้องใช้ในการขอทะเบียนบ้าน 

  • บัตรประชาชนของผู้ขอทะเบียนบ้าน ทั้งนี้หากเจ้าบ้านไม่สามารถไปทำเรื่องเองได้ ต้องมีสำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านอย่างละ 1 ชุด พร้อมเซ็นสำเนาถูกต้อง แนบไปพร้อมใบมอบอำนาจและลงลายมือชื่อพยานจำนวน 2 คน
  • ใบ ท.ร.9 หรือ ใบรับแจ้งเกี่ยวกับบ้าน เอกสารที่ออกโดยหน่วยงานในท้องที่ที่บ้านปลูกสร้างเสร็จตั้งอยู่ 
  • หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน (ถ้ามี) เช่น โฉนดที่ดิน นส.3 ส.ป.ก.4-01 และ ส.ค.1 เป็นต้น ไม่รวม ภ.บ.ท.5 หรือใบภาษีบำรุงท้องที่ 
  • ใบอนุญาตก่อสร้างบ้าน (กรณีปลูกบ้านใหม่) หรือ หนังสือรับรองสิ่งปลูกบ้าน (กรณีสร้างบ้านนานแล้ว) หรือหนังสือสัญญาซื้อขายบ้าน (ถ้ามี) หากไม่มีเอกสารดังกล่าวให้ใช้หนังสือยินยอมจากเจ้าของที่ดินหรือสัญญาเช่าที่ดิน 
  • รูปถ่ายบ้านที่สร้างแล้วเสร็จทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ด้านหน้า ด้านหลัง ด้านซ้าย และด้านขวา เพื่อตรวจสอบสภาพความเป็นบ้าน (ขึ้นอยู่กับสถานที่แจ้ง ควรสอบถามกับเจ้าหน้าที่ก่อน)